รัฐบาลอินเดียประกาศปรับอัตราอากรขาเข้าและภาษีสรรพสามิตสำหรับทองคำและเงิน
รัฐบาลอินเดียประกาศปรับอัตราอากรขาเข้าและภาษีสรรพสามิตสำหรับทองคำและเงินเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2555 เพื่อสกัดไม่ให้มีการนำเข้าโลหะมีค่าดังกล่าวมากเกินไป โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะลดการไหลออกของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ต้องชำระเป็นค่านำเข้าทองคำและเงินมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี
การตัดสินใจของรัฐบาลอินเดียในวันนี้ทำให้อัตราอากรอากรขาเข้าของทองคำได้ปรับเปลี่ยนเป็นร้อยละ 2 ของมูลค่าและภาษีสรรพสามิตสำหรับทองคำเป็นร้อยละ 1.5 ของมูลค่า จากที่เคยเรียกเก็บอากรขาเข้าทองคำในอัตรา 300 รูปีต่อ 10 กรัมและภาษีสรรพสามิตสำหรับทองคำในอัตรา 200 รูปีต่อ 10 กรัม ส่วนโลหะเงินปรับอัตราอากรขาเข้าเป็นร้อยละ 6 ของมูลค่าและภาษีสรรพสามิตเป็นร้อยละ 4 ของมูลค่า จากที่เคยเรียกเก็บอากรขาเข้าในอัตรา 1,500 รูปีต่อกิโลกรัมและภาษีสรรพสามิตในอัตรา 1,000 รูปีต่อกิโลกรัม เมื่อคำนวณจากราคาทองคำและเงิน ณ ปัจจุบัน พบว่าอัตราอากรขาเข้าดังกล่าวอยู่ในอัตราที่สูงขึ้น คือ อัตราอากรขาเข้าของทองคำจะกลายเป็น 540 รูปีต่อ 10 กรัม จากราคาทองคำในวันนี้ซึ่งอยู่ที่ 27,000 รูปีต่อ 10 กรัม ส่วนอัตราอากรขาเข้าของเงินก็เพิ่มขึ้นเช่นกันเป็น 3,120 รูปีต่อกิโลกรัม จากราคาเงินในวันนี้กิโลกรัมละ 52,000 รูปี นอกจากอากรขาเข้าแล้วอัตราภาษีสรรพสามิตที่ปรับใหม่ก็ทำให้ผู้นำเข้าต้องชำระค่าภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว โดยภาษีสรรพสามิตสำหรับทองคำคำนวณจากราคาทองคำในวันนี้ซึ่งอยู่ที่ 27,000 รูปีต่อ 10 กรัม จะอยู่ที่ 405 รูปีต่อ 10 กรัม จากที่เคยอยู่ในอัตรา 200 รูปีต่อ 10 กรัม ส่วนโลหะเงินภาษีสรรพสามิตจะอยู่ที่ 2,080 รูปี จากที่เคยอยู่ในอัตรา 1,000 รูปีต่อกิโลกรัม
โดยสรุปถ้ามีผู้นำเข้าทองคำในวันนี้ จะต้องชำระอากรขาเข้า 540 รูปีต่อ 10 กรัมและภาษีสรรพสามิต 405 รูปีต่อ 10 กรัม รวม 945 รูปีต่อ 10 กรัม จากที่เคยชำระค่าอากรขาเข้าทองคำ 300 รูปีต่อ 10 กรัมและภาษีสรรพสามิต 200 รูปีต่อ 10 กรัม รวม 500 รูปีต่อ 10 กรัม ส่วนการนำเข้าโลหะเงินในวันนี้จะต้องชำระอากรขาเข้า 3,120 รูปีต่อกิโลกรัมและภาษีสรรพสามิต 2,080 รูปีต่อกิโลกรัม รวม 5,200 รูปีต่อกิโลกรัม จากที่เคยชำระอากรขาเข้า 1,500 รูปีต่อกิโลกรัมและภาษีสรรพสามิต 1,000 รูปีต่อกิโลกรัม รวม 2,500 รูปีต่อกิโลกรัม ซึ่งอัตราอากรขาเข้าและอัตราภาษีสรรพสามิตที่ปรับใหม่นี้ ทำให้ผู้นำเข้าทองคำและโลหะเงินมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
สำหรับการปรับอัตราอากรขาเข้าของทองคำและเงินนั้น รัฐบาลอินเดียได้เคยประกาศปรับเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด โดยในช่วงปีงบประมาณ 2552-2553 รัฐบาลอินเดียโดยกระทรวงการคลังได้ประกาศปรับอากรขาเข้าทองคำแท่งจาก 100 รูปีต่อ 10 กรัม เป็น 200 รูปีต่อ 10 กรัม ส่วนทองคำในรูปแบบอื่น (ไม่รวมเครื่องประดับ) ได้ปรับเพิ่มจาก 250 รูปีต่อ 10 กรัม เป็น 500 รูปีต่อ 10 กรัม ส่วนอัตราอากรขาเข้าของเงินได้ปรับเพิ่มจาก 500 รูปีต่อกิโลกรัม เป็น 1,000 รูปีต่อกิโลกรัม
หลังจากนั้นในช่วงปี 2553 รัฐบาลอินเดียก็ได้ประกาศปรับอัตราอากรขาเข้าสำหรับทองคำและเงินอีกครั้งหนึ่ง โดยปรับอัตราอากรขาเข้าทองคำจาก 200 รูปีต่อ 10 กรัม เป็น 300 รูปีต่อ 10 กรัม และปรับอากรขาเข้าเงินจากกิโลกรัมละ 1,000 รูปีเป็นกิโลกรัมละ 1,500 รูปี และได้มาปรับครั้งล่าสุดในวันนี้อีกครั้งหนึ่งตามอัตราที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
จากสถิติของสภาทองคำโลก (World Gold Council: WGC) พบว่าอินเดียเป็นตลาดที่มีความต้องการบริโภคทองคำสูงที่สุดในโลก โดยในปี 2553 อินเดียมีความต้องการบริโภคทองคำคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของความต้องการบริโภคทองคำรวมทั้งโลก คิดเป็นน้ำหนักรวม 963.1 ตัน แบ่งเป็นเครื่องประดับทองคำ 745.7 ตัน และทองคำล้วนๆ (ทองคำแท่ง, เหรียญทองคำ ฯลฯ) อีก 217.4 ตัน นอกจากทองคำแล้วอินเดียยังเป็นตลาดที่มีความต้องการบริโภคเพชรมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก สำหรับเงิน (Silver) อินเดียมีความต้องการบริโภคเงินปีละ 4,000 ตัน ทั้งนี้ สาเหตุที่อินเดียมีความต้องการบริโภคทองคำ โลหะมีค่าอื่นๆ เพชรและอัญมณีอื่นๆ จำนวนมหาศาลเป็นเพราะอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียเติบโตต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลัก คือ วิถีชีวิตของผู้บริโภคชาวอินเดีย (Lifestyle) ที่เปลี่ยนไป จำนวนคนรวยและคนชั้นสูงที่เพิ่มขึ้น จำนวนสตรีทำงานและมีรายได้ของตนเองที่เพิ่มขึ้น และรสนิยมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคที่เริ่มเลือกซื้อสินค้าเครื่องประดับที่มียี่ห้อ
การบริโภคทองคำของผู้บริโภคอินเดียปี 2553 |
|||
|
ความต้องการ |
%Δ |
|
ปริมาณ (ตัน) |
มูลค่า (พันล้านรูปี) |
||
เครื่องประดับทองคำ (Gold Jewelry) |
745.7 |
1,342.1 |
+69.0 |
ทองคำแท่ง, เหรียญทองคำ ฯลฯ |
217.4 |
391.3 |
+60.0 |
รวม |
963.1 |
1,733.3 |
+66.0 |
ที่มา: World Gold Council, 2011
การประกาศปรับอัตราอากรขาเข้าทองคำและเงินดังกล่าวของรัฐบาลอินเดียในครั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะสามารถสกัดการนำเข้าโลหะมีค่าทั้งสองชนิดเพื่อลดการไหลออกของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องระลึกถึงด้วยก็คือ การนำเข้าทองคำและเงินของผู้นำเข้า นอกจากจะนำเข้ามาเพื่อบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังมีการนำเข้าโดยอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียเพื่อนำโลหะมีค่าดังกล่าวมาประกอบในการผลิตและแปรรูปเป็นเครื่องประดับเพื่อการส่งออก (Re-Export) โดยการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดจากมูลค่าการส่งออก 29 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปี 2552-2553 เพิ่มขึ้นเป็น 43 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปี 2553-2554 หรือมีอัตราการเจริญเติบโตถึงร้อยละ 47 ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างมากในการนำรายได้เงินตราต่างประเทศเข้าประเทศโดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 16.67 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าของอินเดีย การประกาศปรับอัตราอากรขาเข้าทองคำและเงินดังกล่าวของรัฐบาลอินเดียก็ย่อมจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของเครื่องประดับอินเดียในตลาดโลกลดลง ซี่งรัฐบาลอินเดียก็ต้องวิเคราะห์ถึงผลได้-ผลเสียของนโยบายดังกล่าวด้วย
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ