นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มอบหมายสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงนิวเดลีพร้อมหน่วยงานราชการ ร่วมประสานความร่วมมือตั้งคณะทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจระหว่างไทย-อินเดีย
ในการมาเยือนประเทศอินเดียอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 24-26 มกราคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีพร้อมภาคเอกชนอันประกอบไปด้วยตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรม หอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย ได้มีโอกาสรับฟังปัญหาและอุปสรรคในการทำธุรกิจในอินเดีย
จากการรับฟังปัญหาของภาคเอกชนที่ทำธุรกิจในประเทศอินเดีย สาระสำคัญใหญ่ๆ ประกอบไปด้วย
1. การขอวีซ่าการทำงาน
บริษัทไทยหลายแห่งประสบปัญหาเดียวกันคือเงื่อนไขการออกวีซ่าให้กับชาวต่างชาติมาทำงานในอินเดีย ประกอบไปด้วยการกำหนดเงินเดือนขั้นต่ำของพนักงานดังกล่าวไว้ที่ 25,000 เหรียญต่อปี อันเป็นกำแพงซึ่งทางการอินเดียตั้งไว้เพื่อปกป้องแรงงานท้องถิ่ง อย่างไรก็ตามสำหรับทักษะฝีมือแรงงานบางประเภท ชาวอินเดียไม่สามารถทดแทนทักษะฝีมือของคนไทยได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ลูกจ้างชาวไทย แต่เงื่อนไขเงินเดือนขั้นต่ำดังกล่าวยังคงเป็นอุปสรรคอยู่
บางบริษัทประสบปัญหาความล่าช้าในการออกวีซ่าให้แม้ว่าจะมีเอกสารและคุณสมบัติครบตามที่ทางการอินเดียประกาศ อุปสรรคนี้ส่งผลให้การดำเนินงานล่าช้ากว่าแผน
2. กฎระเบียบเรื่องการสมทบเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
การสบทบเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากฝ่ายนายจ้าง 12% และลูกจ้าง 12% โดยลูกจ้างจะสามารถได้รับเงินคืนได้ต่อเมื่ออายุ 58 ปี ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ส่งผลให้มีต้นทุนการบริหารงานที่สูงขึ้น ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง
3. อัตราภาษีการนำเข้าวัตถุดิบซึ่งไม่อยู่ในกรอบเจรจาการค้าไทย-อินเดีย เอฟทีเอ 82 รายการ
บริษัทไทยบางรายต้องมีการนำเข้าวัตถุดิบซึ่งไม่สามารถผลิตได้ในท้องถิ่น โดยวัตถุดิบดังกล่าวไม่อยู่ในรายการยกเว้นภาษี 82 รายการในข้อตกลงเอฟทีเอไทย-อินเดีย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2004 หรือการจัดประเภทวัตถุดิบในกรอบเจรจาการค้ายังไม่ครอบคลุม ทำให้บริษัทไทยยังคงเสียภาษีนำเข้าในสินค้าบางประเภทในอัตราสูง จึงทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง
4. ความไม่แน่นอนของกฎระเบียบ การตีความของกฏหมาย และการปฏิบัติต่อธุรกิจต่างชาติต่างกับธุรกิจท้องถิ่น
5. การได้มาซึ่งที่ดินในการประกอบธุรกิจ
การได้มาซึ่งที่ดินในการประกอบธุรกิจเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ประกอบการ นอกจากกฎระเบียบเข้มงวดในการซื้อหาแล้ว การถูกรบกวนจากอิทธิพลทางการเมือง หรือคู่แข่งทางธุรกิจ ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แผนการดำเนินงานล่าช้าออกไป
6. การเจรจาเรื่องสิทธิการบินระหว่างไทย-อินเดีย
นอกจากการนำเสนอปัญหาให้ทางรัฐบาลไทยทราบ ภาคเอกชนได้ร่วมกันเสนอทางออกในการดำเนินธุรกิจในอินเดีย เช่น การเข้ามาทำธุรกิจของคนไทยในอินเดียในลักษณะครอบคลุมอุตสาหกรรม โดยร่วมกันมาหลายบริษัทแทนที่จะมาเพียงบริษัทเดียว เพื่ออำนาจในการต่อรองเรื่องการซื้อหาที่ดิน และการดำเนินธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็สามารถนำเสนอความก้าวหน้าที่ไทยจะเสนอให้ได้ในลักษณะที่มีน้ำหนักมากขึ้น
นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนยังได้นำคณะนักธุรกิจเดินทางมาพบปะกับนักธุรกิจอินเดียเพื่อสำรวจโอกาสในการทำการค้า การลงทุนร่วมกันในอนาคต โดยในเบื้องต้นของการพบกันระหว่างนักธุรกิจทั้งสองฝ่าย สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจในการไปทำธุรกิจของชาวอินเดียในประเทศไทยเช่นกัน มีการสอบถามถึงอัตราดอกเบี้ย ต้นทุนเงินกู้ การซื้อหาที่ดิน อันเป็นสัญญาณที่ดี ที่สะท้อนให้เห็นว่า ชาวอินเดียยังรู้จักประเทศไทยน้อยมาก นอกเหนือไปจากในแง่มุมของการมาเที่ยวพักผ่อนที่พัทยา หรือภูเก็ต เท่านั้น
ปิยรัตน์ เศรษฐศิริไพบูลย์