เบอร์เกอร์คิง ผู้ผลิตเบอร์เกอร์รายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากแมคโดนัลด์ เตรียมเจาะตลาดอินเดียอีกครั้ง หลังล้มเหลวในการจับคู่กับหุ้นส่วนท้องถิ่นก่อนหน้านี้
ครั้งนี้เป็นความพยายามครั้งที่สาม ที่บริษัทเบอร์เกอร์ยอดนิยมจากฟลอริด้าจะรุกเข้าตลาดอินเดีย หลังจากมีข่าวออกมาเมื่อ 5 ปีที่แล้วว่า เบอร์เกอร์คิงวางแผนจะเข้าสู่ตลาดอินเดียโดยกลุ่มทุนท้องถิ่น คือ Kishor Biyani และต่อมาโดยกลุ่ม DLF
ครั้งนี้ AmRest Holdings ผู้ถือกรรมสิทธิ์แบรนด์ชั้นนำในยุโรปที่รวมถึงเบอร์เกอร์คิง เคเอฟซี พิซซ่าฮัท และสตาร์บัคส์ จะเป็นผู้นำเบอร์เกอร์คิงเข้ามาใหม่ เพิ่มเติมจากแผนเปิดสาขาร้านอาหารอิตาเลี่ยน La Taliatella ที่คาดว่าจะเข้าสู่ตลาดอินเดียกลางปีนี้
สื่อท้องถิ่นรายงานว่า AmRest Holdings ที่บริษัทแม่ตั้งอยู่ในโปแลนด์ ให้บริการด้านอาหารในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก จะนำแบรนด์ที่ตนเป็นตัวแทนบุกอินเดียเป็นที่แรกของเอเชีย ก่อนจะเดินทางบุกจีนต่อไป
มูลค่าของธุรกิจร้านอาหารแบบบริการด่วนหรือ quick service ในอินเดียมีสูงถึง 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐและเติบโต 25-30 เปอร์เซ็นต์ต่อปี นับเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจร้านอาหารทั้งหมดของอินเดียที่มีมูลค่า 6.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ
เจ้าตลาดธุรกิจร้านอาหารแบบบริการด่วนจากต่างประเทศในอินเดียคือ McDonald ที่ทำยอดขายในปี 2553 ได้ 206 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ KFC และ Subway ตามหลังมาด้วยยอดขาย 98 และ 38 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ McDonald ประกาศว่าตั้งเป้าจะเพิ่มยอดขายในอินเดียปีละ 25 เปอร์เซ็นต์
นักวิเคราะห์มองว่า ธุรกิจร้านอาหารแบบบริการด่วนในอินเดียอาจจะเติบโตแซงหน้าจีนได้ภายในปี 2014 หรืออีกเพียงไม่เกินสามปีต่อจากนี้ นอกจากปัจจัยรายได้ของคนอินเดียส่วนใหญ่ที่เพิ่มสูงแล้ว จำนวนประชากรวัยรุ่นของอินเดียก็เป็นส่วนสำคัญที่ดึงดูดแบรนด์อาหารยอดนิยมต่างชาติให้มาดูดเงินในกระเป๋า
นักวิเคราะห์มองว่าในปี 2015 ผู้บริโภคชาวอินเดียอาจจะเพิ่มยอดขายให้แบรนด์ต่างชาติหลักๆ ในอินเดียได้อย่างมหาศาล สำหรับ McDonald อาจสูงถึง 800 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ Starbucks อาจจะได้ยอดขายประมาณ 80 ล้านเหรียญสหรัฐ นั่นคงเป็นเหตุผลที่ Burger King ต้องพยายามเข้ามาในตลาดนี้ให้ได้ ก่อนที่คู่แข่งจะได้ส่วนแบ่งมูลค่าการบริโภคขนาดมหึมาไป
คนอินเดียอาจจะยังไม่เคยดู Super Size Me ภาพยนตร์แฉผลกระทบต่อสุขภาพจากอาหารฟาสต์ฟู้ดที่เคยฮือฮาเมื่อปี 2547 หรือคงเพราะยังฝังใจกับค่านิยมความอวบอ้วนที่หมายถึงความมั่งคั่งและอยู่ดีกินดี ตลาดอาหารฟาสต์ฟู้ดจึงยังคงเติบโตยั่วยวนนักลงทุนต่างชาติได้ต่อไป อาจจะเป็นโอกาสให้อาหารไทยซึ่งมีประโยชน์และมีคุณค่าอาหารสูง เหมาะสำหรับสุขภาพ เข้ามาในอินเดียเพื่อเพิ่มความแตกต่างให้ตลาด
คณิน บุญญะโสภัต
รายงานจากกรุงนิวเดลี
วันที่ 27 ก.พ. 55