การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างโดดเด่นของรัฐคุชราต
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของรัฐคุชราตได้มีการเติบโตอย่างโดดเด่น จนได้รับการยกย่องจากนักธุรกิจอินเดียและนักลงทุนต่างชาติว่าเป็นรูปแบบการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการส่งเสริมการลงทุนที่มีความก้าวหน้าที่สุดรัฐหนึ่งของอินเดีย และเป็นตัวแบบให้แก่การพัฒนาของรัฐอื่นๆ ด้วย
ความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากวิสัยทัศน์และความสามารถในเชิงบริหารของนาย Narendra Modi มุขมนตรีคนปัจจุบัน โดยประจักษ์พยานแห่งความก้าวหน้าของรัฐฯ ปรากฏอยู่ทั่วไป ทั้งการเติบโตอย่างรวดเร็วของโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค อาคารสำนักงานและชุมชนที่พักอาศัยที่ทันสมัย รวมทั้งความคึกคักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการเข้าไปลงทุนของนักลงทุนอินเดียและบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จากหลายประเทศ
เศรษฐกิจของรัฐคุชราตขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 10.5 ต่อปี ตลอดช่วง 10
ปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของอินเดีย และขณะนี้รัฐคุชราตได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จำนวนสูงที่สุดในบรรดารัฐต่างๆ ของอินเดียแซงหน้ารัฐมหาราษฏระ โดยในปี ค.ศ 2011 รัฐคุชราตได้รับ FDI ประมาณ 322,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่รัฐมหาราษฏระได้รับประมาณ 280,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่เข้าไปการลงทุนในรัฐคุชราตแล้ว อาทิ Siemens AG, JSW Wagon, Sandvik Asia, FAG Bearings, Ingersoll Rand, ABB, Ford, Peugeot, Hitachi เป็นต้น
ปัจจัยที่สนับสนุนให้รัฐคุชราตมีความโดดเด่นในการพัฒนาและการดึงดูดการลงทุนมี ดังนี้
- ให้ความสำคัญและสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการ โดยส่วนที่เหลือได้ขายให้แก่รัฐอื่น ความสำเร็จดังกล่าวก็เนื่องจากรัฐฯ ได้อนุญาตให้บริษัทเอกชนสามารถลงทุนตั้งโรงงานไฟฟ้าได้ นอกจากนั้น ยังได้ให้ความสำคัญต่อการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในสัดส่วนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
- ให้ความสำคัญกับการปฏิรูประบบราชการให้ทันสมัย ด้วยการนำเทคโนโลยีด้านสารสนเทศมาใช้ในระบบราชการ และมีการกระจายอำนาจและแบ่งสรรงานออกจากส่วนกลาง ทำให้เกิดการลดขั้นตอนของการติดต่อและลดงานด้านเอกสาร มีผลให้การอนุมัติโครงการอุตสาหกรรมและธุรกิจเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
- มีการดำเนินการส่งเสริมการลงทุนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดงาน Vibrant Gujarat Investment Summit ทุกๆ 2 ปี เพื่อดึงดูดการลงทุนจากทั้งในประเทศและ FDI ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยในการจัดงานแต่ละครั้งสามารถลงนาม MoUs เพื่อการลงทุนได้เป็นจำนวนมหาศาล
- ให้ความสำคัญต่อการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้เพียงพอ เช่น ถนน ท่าเรือและระบบราง อาทิ การที่รัฐฯ มีชายฝั่งทะเลยาวถึง 1,600 กม. และมีท่าเรือขนาดใหญ่และเล็กจำนวน 41 แห่ง รัฐฯ ได้ก่อสร้างโครงข่ายถนนและระบบรางเชื่อมโยงระหว่างเมืองและเขตอุตสาหกรรมกับท่าเรือต่างๆ ดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการป้อนวัตถุดิบและการส่งออก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการดึงดูดการลงทุน
- มีการจัดตั้งเขตการลงทุนพิเศษ (Special Investment Region - SIR) เป็นแห่งแรกในประเทศอินเดีย ที่เขต Dholera เมือง Ahmedabad ซึ่ง SIR แตกต่างจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ที่เน้นการส่งออก โดย SIR จะมีทั้งการตั้งนิคมอุตสาหกรรม ชุมชนที่พักอาศัย และมีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ได้มาตรฐานระดับโลก โดยนำระบบดิจิตอลมาใช้สำหรับควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งนี้ มีแผนงานสร้าง SIR จำนวน 24 แห่ง ครอบคลุมระยะทางประมาณ 900 กม. ตามแนวระเบียง Delhi - Mumbai Industrial Corridor (DMIC) โดยเป็นโครงการระยะยาว ซึ่งเมื่อดำเนินการเสร็จคาดว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่กว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษ Shenzhen ของจีน
นอกจากรัฐคุชราตจะมีความเจริญอย่างรวดเร็วของภาคอุตสาหกรรมแล้ว ด้านเกษตรกรรมของรัฐฯ ก็ได้มีการเติบโตที่ดีด้วย โดยระหว่างปี 2545 – 2554 ภาคการเกษตรมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปีละร้อยละ 10.7 ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเติบโตเฉลี่ยปีละร้อยละ 10.3 ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราเฉลี่ยของประเทศ (อัตราร้อยละ 2.5 - 3.5) ทั้งนี้ ความก้าวหน้าด้านการเกษตรของรัฐฯ เกิดจากการให้ความสำคัญต่อการสร้างระบบชลประทานที่ดี เช่น การทำฝายกั้นน้ำและการเพิ่มน้ำบาดาล เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตร รวมทั้งสนับสนุนให้มีการปลูกพืชที่ให้ผลผลิตราคาสูงเช่น เครื่องเทศ ผักและผลไม้ ตลอดจนให้การสนับสนุนด้านการเงินต่อการสร้างเรือนกระจกสำหรับเพาะปลูกพืช ทั้งนี้ รัฐฯ ได้มีการก่อสร้างโครงข่ายคลองส่งน้ำเพื่อการชลประทานความยาวรวมกันทั้งสิ้น 74,626 กม. ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จ ในปี ค.ศ 2013/2014 ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่การชลประทานของรัฐฯ จากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 45
แม้ขณะนี้ขนาดเศรษฐกิจของรัฐคุชราตต่อ GDP ของประเทศ ยังอยู่ในอัตราร้อยละ 7.17 แต่ขนาดเศรษฐกิจของรัฐฯ ก็ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างโดดเด่น โดยสะท้อนจากอัตราการเติบโต ทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศเป็นระยะเวลายาวนานและการได้รับ FDI สูงที่สุดในประเทศ ทั้งนี้ ล่าสุดรัฐบาลรัฐฯ ได้มีเป้าหมายที่จะทำให้รัฐฯ เป็นศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) อีกด้วย โดยได้จัดตั้ง Gujarat International Finance Tec-City Company Limited (GIFTCL) ที่เมือง Gandhinagar ดังนั้น รัฐคุชราตจึงเป็นรัฐที่ภาคราชการและภาคธุรกิจของไทยต้องให้ความสำคัญจับตามอง เพื่อสำรวจลู่ทางในการขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาอัญมณี สิ่งทอ เวชภัณฑ์ ยานยนต์ การเกษตรและการแปรรูปอาหาร ซึ่งรัฐฯ มีความโดดเด่น รวมทั้ง แสวงหาโอกาสในการรับงานก่อสร้างสาธารณูปโภค อาคารสำนักงานและที่พักอาศัย เป็นต้น
หากต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับรัฐมหาราษฏระ รัฐคุชราต รัฐกัวและรัฐมัธยประเทศ ท่านสามารถเข้าดูได้ที่เว็บไซต์ www.thaiembassy.org/mumbai
ธีระพงษ์ วนิชชานนท์
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ