Vibrant Gujarat Summit 2015 ไม่ไปไม่ได้แล้ว
แม้ประเทศไทยจะพลาด ไม่ได้ร่วมเป็น Partner Country ของงาน Vibrant Gujarat Summit 2015 ซึ่งเป็นงานประชุมธุรกิจขนาดยักษ์ ที่มีชื่อเรียกเล่น ๆ ว่า Davos of the East แต่ก็ยังมีอีกหลายเหตุผลที่ไทยยังควรมีผู้แทนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมงาน Vibrant Gujarat Summit ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 มกราคม 2558
เมื่อพูดถึงรัฐคุชราต ผู้อ่านคงพอรู้จักกันบ้าง ในฐานะรัฐบ้านเกิดเมืองนอนของท่านผู้นำอินเดียคนปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีนเรนทร โมดี แต่เหตุที่รัฐนี้มีความสำคัญมากสำหรับอินเดีย ไม่ใช่เพียงเพราะมีนายกรัฐมนตรีมาจากรัฐนี้เท่านั้น แต่เป็นเพราะรัฐนี้เป็นรัฐต้นแบบของความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ประชาชนอินเดียมีความหวังให้เกิดขึ้นกับอินเดียทั้งประเทศ
หากจะเท้าความถึงที่มาหรือแรงผลักดันให้รัฐคุชราตต้องถีบตัวเองให้ก้าวหน้าขึ้น ก็คงจะหนีไม้พ้นต้องกล่าวถึงจุดเปลี่ยนเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2001 ที่ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนในรัฐคุชราตไปถึง 20,000 คน สร้างความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่ให้กับโครงสร้างพื้นฐานและระบบเศรษฐกิจของรัฐ นายนเรนทร โมดี ซึ่งได้เข้ารับตำแห่งมุขมนตรี (Chief Minister) ของรัฐในเดือนตุลาคมปีเดียวกันก็ได้ตั้งเป้าที่จะฟื้นคืนชีพให้กับเศรษฐกิจของรัฐคุชราตที่ถูกทำลายด้วยแผ่นดินไหว ด้วยการทำให้รัฐคุชราตกลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนและอุตสาหกรรมของอินเดีย
และนั่นเองจึงเป็นที่มาของการริเริ่มจัดงาน Vibrant Gujarat Summit โดยนายโมดีขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2003 โดยวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของงานคือการดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติหันไปลงทุนในรัฐคุชราต แต่เมื่อเวลาผ่านไป เศรษฐกิจอินเดียและรัฐคุชราตเติบโตมากขึ้น มีเอกชนต่างชาติเริ่มไปลงทุนในคุชราตมากขึ้น งานดังกล่าวจึงได้รับความสนใจจากนักลงทุนและนักธุรกิจจากทั่วโลก จนทำให้งานกลายเป็นที่ชุมนุมของนักธุรกิจที่นอกจากจะสนใจมาเจรจาธุรกิจแล้ว ยังได้มีโอกาสหารือพูดคุยถึงเหตุการณ์ความเป็นไปของเศรษฐกิโลก จนหลายคนได้ให้สมญากับงานนี้ว่า Davos of the East
งาน Vibrant Gujarat Summit มีมาแล้ว 6 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อปี 2013 ถือว่าเป็นงานครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา มีการจัดงานพบปะ B2B งานสัมมนาธุรกิจ งานแสดงสินค้า ที่ดึงดูดนักลงทุนและนักธุรกิจจากทั่วโลกมาร่วมงานได้นับหมื่นราย ไม่รวมกับนักธุรกิจอินเดียจากทั่วทุกมุมอีกกว่าครึ่งแสน มีประเทศญี่ปุ่นและแคนาดาเป็น Partner Countries ซึ่งทำให้ทั้งสองประเทศนี้ได้รับโอกาสในการโปรโมทธุรกิจของประเทศตัวเองต่อนักธุรกิจทั้งโลก ประเทศญี่ปุ่นมีเอกชนมาร่วมมากกว่า 300 ราย ขณะที่แคนาดาก็ไม่น้อยหน้ามีมากว่า 200 ราย
สำหรับงานครั้งนี้ มีประเทศที่ตอบรับเป็น Partner Country ถึง 8 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่นและแคนาดาเจ้าเก่า สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย อังกฤษ ฮอลแลนด์และสหรัฐอเมริกา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญมหาศาลของงาน Vibrant Gujarat เพราะจะเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในขณะที่นายโมดี ผู้ก่อร่างสร้างงานนี้ขึ้นมาด้วยมือตนเอง กำลังนั่งกุมบังเหงียนในฐานะนายกรัฐมนตรีอินเดีย ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมจึงมีจำนวน Partner Country มากเป็นพิเศษ จนฝ่ายจัดงานต้องประกาศว่าไม่สามารถรับได้อีกแล้ว เพราะประเทศเหล่านี้ล้วนมองการณ์ไกล รู้ว่าการได้เข้าร่วมในฐานะ Partner Country นอกจากจะทำให้ได้ประโยชน์ด้านการประชาสัมพันธ์แล้ว ย่อมหมายถึงโอกาสการได้เข้าถึงนายกรัฐมนตรีอินเดียแบบใกล้ชิด ซึ่งหมายความว่า ถ้ามีอะไรที่ต้องการผลักดันกับรัฐบาลอินเดียเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ก็จะทำได้ง่ายกว่ามาก
สิ่งที่น่าเสียดายเป็นที่สุดก็คือ ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ และเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ได้รับเชิญเข้าร่วมงาน Vibrant Gujarat Summit 2015 ในฐานะ Partner Country หลังจากสถานทูตไทยได้ปูทางไว้ตั้งแต่ปี 2013 สมัยนายโมดียังเป็นมุขมนตรี โดยได้นำคณะเอกชนเข้าเยี่ยมคารวะนายโมดีถึงถิ่น และผลักดันจนไทยสมายล์เริ่มบินตรงกรุงเทพฯ-อาห์เมดาบัด (เมืองหลวงรัฐคุชราต) ได้สำเร็จตามที่นายโมดีขอไว้ (แม้จะหยุดบินไปในที่สุดก็ตาม) แต่ความไม่พร้อมของหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเอกชนไทยด้วย ที่พูดตรงๆ ว่ายังไม่เห็นความสำคัญของอินเดีย ยังสนใจค้าขายทำธุรกิจอยู่กับจีน ญี่ปุ่น ยุโรป หรืออเมริกามากกว่า ทำให้เราต้องปฏิเสธการเป็น Partner Country ไปโดยปริยาย พลาดโอกาสที่จะใช้งานดังกล่าวในการประกาศตัวให้ทั่วโลกรู้ว่า ประเทศไทยกลับสู่ภาวะปกติแล้ว หลังจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา
แต่การที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมงานในฐานะ Partner Country ก็ไม่ได้แสดงว่างาน Vibrant Gujarat Summit 2015 จะหมดความหมายสำหรับไทย ในที่สุดแล้ว งานดังกล่าวก็ยังเป็นโอกาสที่ไทยจะได้มาพบปะสร้างเครือข่ายธุรกิจกับอินเดียและประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งต้องการเข้าไปทำธุรกิจในอินเดีย สามารถเข้ามาแสดงศักยภาพสินค้าและธุรกิจเพื่อหาผู้ซื้อจากทั่วโลกที่จะมารวมตัวกันในงานเดียวที่งาน Vibrant Gujarat Global Trade Show 2015 ที่เป็นงานคู่ขนานกัน ทำให้ไม่ต้องเปลืองเงินบินไปโรดโชว์ตามที่ต่างๆ งานนี้ สถานทูตและทีมงานก็ไม่พลาดที่จะไปร่วมงาน เพื่อจะนำข้อมูลมาฝากเอกชนไทยว่าเหตุใดไทยจึงควรเข้าร่วมงาน Vibrant Gujarat Summit 2017 ในฐานะ Partner Country
เอกชนไทยรายใดที่สนใจเข้าร่วมงานสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.vibrantgujarat.com ท่านยังสามารถลงทะเบียนมาเข้าร่วมงานครั้งนี้ได้ ต้องขอบอกไว้ก่อนว่า งานนี้คนมาร่วมคับคั่งจริงๆ ตั๋วเครื่องบินและโรงแรมเริ่มหายากแล้ว ต้องรีบขยับตัวกันนิดเพื่อพิชิตคุชราตนะครับ
ประพันธ์ สามพายวรกิจ