การลงทุนในอินเดียไม่ยากอย่างที่คิด
ขอบคุณภาพจาก https://www.bizjournals.com/bizjournals/how-to/marketing/2017/09/how-to-get-someone-interested-in-doing-business.html
Invest India ก่อตั้งขึ้นในปี 2009 ในฐานะองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรภายใต้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและการค้าภายใน (Department for Promotion Industry and Internal Trade) กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมอินเดีย หน่วยงานดังกล่าวคือตัวแสดงสำคัญระดับชาติที่ยกระดับให้อินเดียกลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายที่น่าลงทุนของนักธุรกิจทั่วโลก อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นว่าการค้าขายลงทุนกับอินเดียนั้น “ทันสมัย โปร่งใส และมีพลวัต” โดยในปี 2019 - 2020 นี้ Invest India ได้ออกคู่มือเพื่อช่วยให้นักลงทุนและนักธุรกิจต่างชาติเข้าใจระบบการลงทุนในอินเดีย โดยมีรายละเอียดขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้
ตัดสินใจก้าวเข้าสู่อินเดีย
ในขั้นนี้ นักธุรกิจต้องประเมินสถานการณ์ของตนเองว่า รูปแบบของบริษัทที่ต้องการจะจัดตั้งขึ้นจะเป็นในลักษณะใด เช่น บริษัทเอกชน (Private Company) บริษัทมหาชน (Public Company) นิติบุคคลเดียว (One Person Company) ห้างหุ้นส่วนจำกัด (Limited Liability Partnership) ซึ่งการจัดตั้งรูปแบบทางธุรกิจแต่ละประเภทนั้นมีเงื่อนไขและคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป
เลือกภาคส่วนและโอกาสทางลงทุนที่สนใจ
โดยอินเดียเปิดโอกาสให้นักธุรกิจหลากหลายสาขา อาทิ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ หนังสัตว์ เหมืองแร่ สาธารณสุข เทคโนโลยีสารสนเทศ เครื่องมือทางการแพทย์ การแปรรูปอาหาร ระบบอิเล็กทรอนิกส์ โรงงานผลิตชิ้นส่วนทหาร เทคโนโลยีชีวภาพ ก่อสร้าง เครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์เคมี ชิ้นส่วนรถยนต์ การบิน เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียได้ให้การรับรองว่าการลงทุนจากต่างชาตินั้นจะได้รับอนุญาตอย่างแน่นอน อนึ่ง สิ่งที่ผู้ลงทุนควรรู้คือการติดต่อกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากหน่วยงานของรัฐมีบทบาทสำคัญในการอนุญาตการลงทุนจากต่างชาติ โดยแต่ละกรม/กระทรวงมีขอบข่ายความรับผิดชอบที่ต่างกันอาทิ
- กระทรวงเหมืองแร่ รับผิดชอบ การทำเหมือง
- กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบ การลงทุนจากต่างชาติในธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจการดูแลรักษาความปลอดภัยส่วนตัว และการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง
- กระทรวงข้อมูลและสื่อ รับผิดชอบ การลงทุนด้านสื่อ การพิมพ์ และวิทยุโทรทัศน์กระจายเสียง
- กระทรวงการบินพลเรือน รับผิดชอบ ธุรกิจการบ้าน
- กรมอวกาศ รับผิดชอบ ธุรกิจด้านดาวเทียม
- กรมโทรคมนาคม รับผิดชอบ ธุรกิจด้านโทรคมนาคม
- กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและการค้าภายใน รับผิดชอบ การค้าปลีกผลิตภัณฑ์ การขอใบอนุญาตลงทุนโดยชาวอินเดียโพ้นทะเล การลงทะเบียนว่าด้วยการนำเข้าส่งออกสินค้าและเครื่องมือต่าง ๆ
- กรมการเศรษฐกิจ รับผิดชอบ กิจกรรมบริการด้านการเงินซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านการเงิน รวมถึงการลงทะเบียนเพื่อลงทุนร่วมกับบริษัทของอินเดีย
- กรมบริการการเงิน รับผิดชอบ ธุรกิจธนาคาร ทั้งภาครัฐและเอกชน
- และกรมยา รับผิดชอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยาและเภสัชศาสตร์
เลือกรัฐที่อยากลงทุน
ด้วยสาธารณรัฐอินเดียเป็นประเทศที่มีความกว้างใหญ่ไพศาล ประกอบด้วยหลายรัฐที่มีความแตกต่างทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และประชากร การพัฒนาที่ต่างระดับ รวมไปถึงความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลจากหน่วยงานระดับรัฐที่สามารถให้ข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่ดำเนินการในลักษณะเชื่อมโยงข้อมูลของทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ (Single Window) และหน่วยงานที่ส่งเสริมการลงทุน (Investment Promotion Agencies) เช่น ในรัฐอัสสัม สามารถหาข้อมูลได้ที่ Invest Assam Foundation หรือ Ease of Doing Business in Assam ในรัฐมหาราชฏระ สามารถขอข้อมูลจาก Maharashtra Industry, Trade and Investment Facilitation Cell เป็นต้น ซี่งรายละเอียดหน่วยงานของแต่ละรัฐสามารถศึกษาได้ที่ https://www.investindia.gov.in/state-single-window
เริ่มกระบวนการจดทะเบียนบริษัท
ในฐานะนักลงทุนต่างชาติ สามารถทำธุรกิจได้ 2 กรณีใหญ่ ๆ กล่าวคือ หากต้องการทำธุรกิจนำเข้าส่งออก ทำวิจัย หรือปฏิบัติการต่าง ๆ ในโครงการ นักลงทุนสามารถตั้งเป็นบริษัทต่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นในรูปแบบผู้แทนบริษัทแม่ในอินเดีย หรือสำนักงานสาขาที่ทำกิจกรรมทางการค้าต่าง ๆ หรือ สำนักงานโครงการซึ่งปฏิบัติการตามสัญญาจ้าง แต่หากนักลงทุนต้องการที่จะดำเนินการในลักษณะของการผลิต โรงงาน หรือการให้บริการต่าง ๆ ในเชิงธุรกิจ สามารถทำได้ 2 ลักษณะคือ การเปิดบริษัทให้เป็นบริษัทอินเดียโดยหาผู้ร่วมทุน หรือการจดเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ ทั้งนี้ รูปการจดทะเบียนบริษัทในแต่ละรูปแบบจะมีรายละเอียดที่ผู้ลงทุนต้องปฏิบัติแตกต่างกัน
กระบวนการและการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ
ขั้นตอนและกฎระเบียบที่สำคัญของการทำธุรกิจในอินเดียนั้น ได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้นักธุรกิจสามารถมองเห็นลู่ทางในการทำธุรกิจในอินเดียได้อย่างขัดเจน โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 กระบวนการใหญ่ ๆ คือ กระบวนการที่ 1 การตั้งบริษัทตามกฎหมาย ประกอบไปด้วยการขอรับเลขประจำตัวผู้อำนวยการบริษัท (Director Identification Number-DIN) จากนั้นขอรับลายมือชื่อดิจิตัล (Digital Signature Certificate-DSC) การขออนุญาตใช้ชื่อ การส่งเอกสารเพื่อสนับสนุนเพิ่มเติม การกรอกเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ การตรวจเอกสาร การให้ความยินยอมในการจัดตั้งบริษัท การขอรับหมายเลขประจำตัวถาวร การลงทะเบียนเพื่อเสียภาษี และการลงทะเบียน GST
กระบวนการที่ 2 การลงทะเบียนบริษัท ประกอบไปด้วย การลงทะเบียนและระบุขนาดของธุรกิจและประเภทของธุรกิจในรัฐที่บริษัทนั้นจะเข้าไปลงทุน การขอรับความช่วยเหลือจากรัฐ (กรณีที่ต้องการ) การลงนามในข้อตกลงผู้ประกอบการอุตสาหกรรม รวมไปถึงการลงทะเบียนหากบริษัทที่จัดตั้งเป็นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (MSME)
กระบวนการที่ 3 กระบวนการก่อนเข้าสู่คณะกรรมาธิการ ประกอบไปด้วยการขออนุญาตมีและใช้พื้นที่ การพิสูจน์ให้เห็นว่าการดำเนินงานของบริษัทไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ป่า และสัตว์ป่า รวมไปถึงการผ่านคณะกรรมการมลพิษ การขอใบอนุญาตอุตสาหกรรม การยินยอมให้ดำเนินงาน การขออนุญาตก่อสร้างแบบแปลนโรงงาน การลงทะเบียนโรงงาน การลงทะเบียนเครื่องทำความร้อน การขออนุญาตสร้างอาคาร การลงทะเบียนภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน การลงทะเบียนผู้ใช้แรงงานในอาคารและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ การประสานงานเพื่อขอใช้พลังงาน ระบบป้องกันอัคคีภัย และการขออนุญาตใช้ลิฟต์ภายในอาคาร
และกระบวนการสุดท้าย กระบวนการหลังเข้าสู่กรรมาธิการ ประกอบไปด้วย การขออนุญาตดำเนินการ การขอรับใบรับรองการสร้างอาคารที่สมบูรณ์ การรับรองการป้องกันอัคคีภัย การเชื่อมต่อระบบประปา การขอรับพลังงานไฟฟ้า การขออนุญาตสำหรับขยะอันตราย การลงทะเบียนการเสียภาษีสำหรับผู้ประกอบการ ลงทะเบียนภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยห้างร้านและการปลูกสร้าง การลงทะเบียนประกันภัยพนักงาน การลงทะเบียนกองทุนสำหรับพนักงาน การลงทะเบียนสัญลักษณ์ทางการค้า การขอรับรหัสส่งออกและนำเข้าสินค้า การขอรับใบอนุญาตจากสำนักงานควบคุมมาตรฐาน
ขั้นตอนการเสียภาษีในอินเดีย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ รัฐบาลอินเดียและรัฐบาลในระดับท้องถิ่น ได้พยายามปรับรูปแบบการเสียภาษีของนักลงทุนต่างชาติให้เรียบง่ายมากยิ่งขึ้น โดยนำเรื่องกระบวนการอัตโนมัติและความโปร่งใสเป็นมาตรการที่สำคัญ อีกทั้งยังเก็บภาษีบริษัทต่างชาติรายได้ที่เกิดขึ้นในอินเดียเท่านั้น จึงทำให้ในปี 2017 อินเดียติดอันดับและเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นมิตรกับนักลงทุน
จากการดำเนินงานข้างต้น ทำให้เกิดความสะดวกสบายและส่งผลให้เกิดความน่าเชื่อแก่นักลงทุนทั่วโลก ดังจะเห็นได้จากลำดับความสะดวกในการทำธุรกิจของอินเดียเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา อินเดียติดหนึ่งในสิบประเทศที่พัฒนาระบบเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศ BRICS ที่ติดอันดับดังกล่าว อีกทั้งยังครองลำดับที่ 1 ประเทศที่สะดวกในการทำธุรกิจในภูมิภาคเอเชียใต้ และมีพัฒนาการสูงสุด โดยก้าวกระโดดถึง 53 อันดับนับจากปี 2011 อีกด้วย ด้วยเหตุนี้การลงทุนและค้าขายกับอินเดียในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิดอีกต่อไป
โดย ปิยณัฐ สร้อยคำ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
12 มีนาคม 2563
รายการอ้างอิง