อินเดียได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกรอบความร่วมมือแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย (IOR-ARC หรือชื่อเต็มว่า Indian Ocean Rim Association for Regional Cooperation) ครั้งที่ 12 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดไป ระหว่าง 31 ต.ค. – 2 พ.ย. 55 ที่เมืองกูร์กาวน์ รัฐหรยาณะ ใกล้กับกรุงนิวเดลี
ไทยส่งผู้แทนระดับเลขานุการรัฐมนตรีต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมกรอบความร่วมมือนี้ ซึ่งมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 19 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน เคนย่า มาดากัสการ์ มาเลเซีย มอริเชียส โมซัมบิค โอมาน เซเชลส์ สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ ศรีลังกา แทนซาเนีย ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยเมน และสมาชิกใหม่ คือ โคโมโรส
ผลการประชุมสำคัญที่เกี่ยวข้องและจะเป็นประโยชน์ให้ภาคเอกชนได้เก็บเกี่ยวจากกรอบความร่วมมือนี้ ได้แก่
1. การปราบปรามโจรสลัด ที่ภาครัฐของประเทศสมาชิกจะร่วมมือกันรักษาเสรีภาพในการเดินเรือ และความปลอดภัยในเส้นทางเดินเรือในมหาสมุทรอินเดีย โดยเฉพาะการค้นหาและกู้ภัย และจะมีเวทีสำหรับสัมมนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ติดตามสถานการณ์ปัญหาโจรสลัดอย่างต่อเนื่อง
2. การประมง ภาครัฐของประเทศสมาชิกจะร่วมมือกันสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และเห็นว่าอุตสาหกรรมประมงจะช่วยส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค
3. การค้าและการลงทุน นักธุรกิจและนักลงทุนในภูมิภาครอบๆ มหาสมุทรอินเดียอาจจะได้รับข่าวดีเร็วๆ นี้ เพราะกำลังมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำ IOR-ARC Business Travel Card มาใช้อำนวยความสะดวกให้แก่นักธุรกิจ นอกจากนี้ ยังจะมีการศึกษาเรื่องการให้สิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิกด้วย
4. การเชื่อมโยงคมนาคม จะมีการศึกษาการพัฒนาท่าเรือ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาค เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจและลดต้นทุนทางธุรกิจ
ที่สำคัญของการประชุมครั้งนี้ คือการจัดประชุม Business Forum ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งไทยก็มีสมาชิกคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน ได้แก่ สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาธนาคารแห่งประเทศไทย มาเข้าร่วมการประชุม เพราะความร่วมมือในภูมิภาคนี้ยังมีศักยภาพในการขยายเครือข่ายธุรกิจ ทั้งอุตสาหกรรมอัญมณี ประมง และการท่องเที่ยว
จากการประชุม IOR-ARC ในครั้งนี้ จะเห็นว่ามีความคืบหน้าที่จะเอื้อต่อการเชื่อมโยงภาคธุรกิจในประเทศแถบมหาสมุทรอินเดียให้มากขึ้น แม้จะยังไม่แข็งขันและเป็นรูปธรรมเหมือนกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC
กรอบความร่วมมือ IOR-ARC จะสามารถสร้างโอกาสให้แก่ภาคธุรกิจได้ เนื่องจากภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียนี้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง และเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ประชากรในภูมิภาคนี้มีกว่า 2,000 ล้านคน มูลค่าการค้าระหว่างกันในปี 2554 คิดเป็นกว่า 770 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ
อินเดียซึ่งปีนี้รับตำแหน่งเป็นประธานกรอบความร่วมมือ ได้ใช้ประโยชน์อย่างแข็งขัน โดยเฉพาะการเผยแพร่ศักยภาพของตนเอง ที่เชิญชวนให้ประเทศสมาชิกต่างๆ ส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมอบรมในสาขาที่หลากหลาย
สำหรับนักธุรกิจไทยควรจับตาดูกรอบความร่วมมือภูมิภาคต่างๆ ไว้ เนื่องจากแนวโน้มในยุคหลัง ภาครัฐต้องการจะให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นและกำหนดนโยบายมากขึ้น ทำให้โอกาสในการขยายเครือข่ายธุรกิจไปยังต่างประเทศมีมากขึ้นตามช่องทางที่ภาครัฐได้กรุยทางไว้
คณิน บุญญะโสภัต
รายงานจากกรุงนิวเดลี
21 พฤศจิกายน 2555
*ขอบคุณข้อมูลจากกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ