เอกชนไทยบุกมุมไบ เซ็น MOU ส่งเสริมความร่วมมือ รับฟังเกร็ดธุรกิจอินเดีย
คณะผู้แทนสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและผู้ประกอบการ SMEs นำโดย น.ส. วิมลกานต์ โกสุมาศ รอง ผ.อ. สสว. เยือนมุมไบระหว่างวันที่ 20 – 21 พ.ย. 2555 เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือภาคเอกชนไทย-อินเดียในเมืองมุมไบ โดยในช่วงเช้าของวันที่ 21 พ.ย. 2555 ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนไทย-อินเดีย 2 ฉบับ ได้แก่ 1) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยว่าความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกับ All India Association of Industries (AIAI) และ 2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกับ World Trade Centre เมืองมุมไบ ที่อาคาร World Trade Centre เมืองมุมไบ บันทึกความเข้าใจทั้งสองฉบับมีเนื้อหาสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาคเอกชนไทย-อินเดีย โดยอาจกระทำโดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการค้าการลงทุนที่สำคัญระหว่างกัน รวมทั้งจะผลักดันให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนของภาคเอกชนของทั้งสองประเทศมากยิ่งขึ้น
นายอโศก อุปัทยา กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, นาย Vijay Kalantri ประธาน AIAI และนาย Y. R. Warerkar, Executive Director ของ World Trade Centre Mumbai เป็นผู้ลงนามของแต่ละหน่วยงานตามลำดับ และมีกงสุลใหญ่ฯ, ผอ. อาวุโส สคร. ณ เมืองมุมไบ เข้าร่วมเป็นสักขีพยานด้วย
นอกจากนี้ คณะฯ ได้เดินทางไปยังบริษัท Reliance เมืองมุมไบเพื่อรับฟังการบรรยายสรุปใน 4 หัวข้อที่น่าสนใจจากคุณกวิน สัณฑกุล ผอ. บริษัท Reliance Retail จำกัด
1. บริษัท Reliance Industries Limited เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของอินเดีย ก่อตั้งโดยนาย Dhirubhai H. Ambani ปัจจุบันมีนาย Mukesh Ambani ซึ่งเป็นบุตรชายเป็นประธานบริษัทฯ บริษัทฯ ประกอบกิจการหลายด้าน อาทิ ด้านปิโตรเคมี การกลั่นน้ำมัน ธุรกิจสิ่งทอ การค้าปลีก โทรคมนาคมและการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone-SEZ) เป็นบริษัทอันดับที่ 99 ของ Fortune Global 500 มีผลการดำเนินกิจการดีเยี่ยมโดยมีรายได้ประมาณ 7.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2555 และมีสินทรัพย์รวมประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในส่วนของธุรกิจขายปลีก บริษัทฯ มีร้านขายปลีกมากกว่า 1,400 ร้านใน 18 รัฐของอินเดีย และเป็นหุ้นส่วนทางการค้ากับหลายตราสินค้าชื่อดัง อาทิ Apple, Marks & Spencer, Diesel, Hamleys, Office Depot และ Timberland อีกทั้ง บริษัทฯ กำลังพัฒนาสินค้าและบริการเกี่ยวกับระบบ 4G
2. ภาพรวมเศรษฐกิจของอินเดีย อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรรุ่นหนุ่มสาวที่อยู่ในวัยทำงานจำนวนมาก (ร้อยละ 64.9) จึงอาจเปรียบได้กับยุค baby boom ของสหรัฐฯ เมื่อช่วงปี 2503 – 2513 และถึงแม้ว่าจะมีประชากรที่พำนักในตัวเมืองเพียงร้อยละ 30 แต่ร้อยละ 70 ของการบริโภคการค้าปลีกในตัวเมืองมีขึ้นในเมืองขนาดใหญ่ลำดับต้น ๆ 200 เมืองของอินเดีย อาทิ กรุงนิวเดลี มุมไบ เจนไน กัลกัตตา โดยสินค้าประเภทอาหารและของชำมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 65 ของตลาดค้าปลีกอินเดีย นอกจากนี้ หากสังเกต macroeconomic parameters ของอินเดีย อาทิ รายได้ประชากรต่อหัว, รายจ่ายในการรักษาพยาบาลต่อหัวและค่าใช้จ่ายในการบริโภคต่อหัว จะเห็นได้ว่าตัวเลขของ parameters ดังกล่าวของอินเดียในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับจีนเมื่อประมาณ 6 – 7 ปีที่แล้ว ยกเว้นจำนวนผู้สมัครใช้บริการโทรศัพท์มือถือซึ่งมีจำนวนใกล้เคียงกันมากแล้วในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี อินเดียเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่และมีความแตกต่างกันมากในแต่ละรัฐ ดังนั้น ควรจะต้องศึกษาลักษณะพิเศษของแต่ละรัฐเพื่อสามารถทำความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้
3. ผู้บริโภคชาวอินเดีย ปัจจุบันอินเดียมี 240 ล้านครัวเรือน ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ผู้มีฐานะดี (ร้อยละ 6), ชนชั้นกลางที่มีฐานะ (ร้อยละ 14), ชนชั้นทำงาน (ร้อยละ 30) และผู้ด้อยโอกาสในสังคม (ร้อยละ 50) โดยสัดส่วนของการบริโภคของผู้มีฐานะดีชาวอินเดียจะคิดเป็นร้อยละ 26 ของค่าใช้จ่ายในการบริโภคทั้งหมดของอินเดียในปี 2563 ดังนั้น หากประสงค์เจาะตลาดอินเดียก็จะต้องเข้าใจรสนิยมและความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของตน โดยผู้มีฐานะดีรุ่นใหม่จะนิยมใช้สินค้า brand name ต่างประเทศ และชนชั้นกลางที่มีฐานะซึ่งพำนักอาศัยอยู่ในเมืองจะนิยมใช้สินค้าที่มียี่ห้อของอินเดียเอง นิยมรับประทานอาหารนอกบ้านและเป็นกลุ่มที่เดินทางไปเที่ยวประเทศไทยมากที่สุด และผู้บริโภคอินเดียมักจะจับจ่ายมากเป็นพิเศษในช่วงเทศกาลต่าง ๆ อาทิ diwali หรือโอกาสพิเศษต่าง ๆ อาทิ งานแต่งงานและงานฉลองวันเกิด และอาจพิจารณาการลงทุนทำธุรกิจที่อินเดียแทนการส่งออก-นำเข้าสินค้าเพื่อให้สินค้ามีราคาที่สามารถแข่งขันกับสินค้ายี่ห้ออื่น ๆ ที่เป็นที่รู้จักของชาวอินเดียอยู่แล้วได้ และควรที่จะหาหุ้นส่วนชาวอินเดียในการทำธุรกิจ โดยเลือกจังหวะการ promotion ให้เข้ากับเทศกาล/วิถีชีวิต/ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นด้วย
4. การประกอบธุรกิจกับชาวอินเดีย อินเดียเป็นประเทศที่มีศักยภาพและโอกาสในการประกอบธุรกิจได้โดยประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง แต่ยังมีข้อพึงระวังบางประการโดยเฉพาะ 1) กฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ มีความผันแปรสูง โดยแต่ละรัฐก็สามารถออกกฎหมายที่แตกต่างกันได้ในหลายประเด็น 2) ระบบโครงสร้างพื้นฐานยังไม่ได้มาตรฐานสากลโดยเฉพาะเรื่อง supply chain 3) การศึกษาของอินเดียยังไม่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึง เป็นผลให้แรงงานบางส่วนยังขาดความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพเฉพาะทางโดยเฉพาะสายอาชีวศึกษา
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องเข้าใจถึง mind set ของคนอินเดียโดยทั่วไปด้วย อาทิ 1) การรู้จักคุณค่าของเงิน คนอินเดียเป็นชาติที่มีเงินออมสูงที่สุดในโลก (ร้อยละ 27) และมักจะไม่ทิ้งของที่ใช้แล้วเป็นผลให้มีอัตราการ recycle สูงที่สุดอีกด้วย 2) คนอินเดียมักจะไม่ปฏิเสธ (never say no) โดยไม่ได้มีเหตุผลมาจากการเกรงการเสียหน้าเหมือนคนไทยแต่มาจากการเกรงที่จะปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไป มีลักษณะเป็น opportunist และยังเป็นคนที่ถือว่าสัญญาเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ที่จะต้องปฏิบัติตาม ดังนั้น หากเจรจาทำสัญญากับคนอินเดียก็จะต้องใช้ความละเอียดเป็นพิเศษและจะต้องหารือกันให้เข้าใจถ่องแท้ถึงความหมายของแต่ละประโยค/เงื่อนไขในสัญญาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างกันในภายหลัง 3) เป็นคนที่อยากประสบความสำเร็จและมักจะเร่งรีบในการตักตวงโอกาสโดยในบางครั้งอาจจะยังไม่ได้ศึกษาอย่างถ่องแท้เสียก่อน 4) เป็นคน self-centered แต่ก็มีค่านิยมทางศาสนาที่ช่วยผลักดันให้ช่วยเหลือผู้อื่นในยามจำเป็น ดังนั้น จึงมักจะไม่ทำงานเป็นทีม และนายจ้างมักจะต้องหา incentives ในการทำงานให้ลูกจ้างชาวอินเดียอยู่เสมอ
กนกภรณ์ คุณวัฒน์
รายงานจากเมืองมุมไบ