รายงานพิเศษ: ความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของอินเดียในภาพรวม
ผลพวงจากยุคโลกาภิวัฒน์ทำให้ธุรกิจการค้าของอินเดียในสาขาต่างๆ เติบโตอย่างกว้างขวาง ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ สืบเนื่องจากนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ของอินเดียมีส่วนสำคัญส่งเสริมให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของอินเดียเติบโตอย่างต่อเนื่อง อินเดียได้ก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโลก ตลาดรถยนต์ของอินเดียเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการที่ประชากรชนชั้นกลางของอินเดียมีรายได้มากขึ้น ประกอบกับการมีต้นทุนด้านค่าแรงที่ต่ำ และมีวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องในการผลิตรถยนต์มากมาย ปัจจัยเหล่านี้ ก็มีส่วนในการผลักดันให้อุตสาหกรรมการลงทุนในสาขานี้ของอินเดียมีความเข้มแข็งมากขึ้นเป็นลำดับ
ตลาดรถเติบโตแต่ระเบียบไม่เอื้อ จึงเกิดการลงทุน
ภูมิหลังการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของอินเดียเริ่มตั้งแต่ปี 2547 – 2548 เป็นต้นมา โดยสาขาดังกล่าวเป็นตัวจักรสำคัญในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจของ อินเดียด้วย โดยมีสัดส่วน 4.7% ของ GDP
ในช่วงเวลาดังกล่าวมีบริษัทผลิตรถยนต์ของเอกชนอินเดีย ได้แก่ Hindustan Motors , Mahindra& Mahindra, Tata Motors, Ashok Leyland เป็นค่ายผลิตรถยนต์ที่สำคัญที่ป้อนตลาดภายในประเทศเป็นหลัก จวบจนปี 2533 อินเดียก็ได้ประกาศใช้นโยบายเสรีมากขึ้นในการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศ มีผลทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายจากต่างประเทศ ได้แก่ Ford, Toyota, Nissan, Hyundai, BMW, Volkswagen, Fiat, Peugeot, Audi , Chrysler ฯลฯ ต่างทยอยเข้าไปเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในอินเดีย และเพื่อการส่งออก
ค่ายรถยนต์ต่างชาติเหล่านี้ต้องการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากต่างประเทศเข้ามาป้อนการผลิตรถยนต์ของตน แต่เนื่องจากรัฐบาลอินเดียตั้งกำแพงภาษีสูงในการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ ทำให้ผู้ประกอบการผลิตรถยนต์จำเป็นต้องเชิญชวนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เข้ามาลงทุนเปิดโรงงานในอินเดียเอง เพื่อป้อนอุตสาหกรรมรถยนต์ให้ครบวงจร
จากรายงานความสามารถในด้านการประกอบการของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของอินเดีย จัดทำโดยสมาคมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของอินเดีย (The Automotive Component Manufactures Association of India : ACMA) ปรากฏว่า ในช่วงเดือน เม.ย. 2544 - มี.ค. 2555 อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของอินเดียสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศจำนวน 2,104,000 ล้านรูปี หรือเท่ากับ 43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเติบโตขึ้นถึง 15.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเมื่อคำนวณอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (Compound annual growth rate: CAGR) จะพบว่ามีอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมในสาขานี้ 19% ภายในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สถิติต่างๆ เหล่านี้ ได้มาจากบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ครบวงจรที่ป้อนสินค้าให้แก่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหลาย (component supplier) ในตลาดของอินเดีย และต่างประเทศ และยังรวมถึงชิ้นส่วนยานยนต์ที่ป้อนให้แก่บริษัทที่รับจ้างผลิตสินค้า (Original Equipment Manufacture: OEM) และผู้ผลิตรายย่อยอื่นๆ ทั้งหมด
2556 ตลาดผันผวน แต่ตลาดชิ้นส่วนยานยนต์จะยังเติบโต
นาย Surinder Kanwar ประธานสมาคม ACMA เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2554 – 2555 ยอดการขายรถยนต์ในอินเดียทรงตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผลิตของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ถึงแม้ว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศอินเดียยังคงมีความผันผวน แต่นาย Surinder Kanwar เชื่อมั่นว่า อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของอินเดียในระยะกลาง และระยะยาวยังไม่ได้รับความเสียหายเท่าใดนัก และยังมีทิศทางที่จะดีขึ้น คาดว่าในปี 2555 – 2556 อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของอินเดียจะมีอัตราเติบโต 8 -10 %
นาย Kanwar ได้ให้ความเห็นต่อไปในส่วนของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ว่า แม้ตัวเลขรายได้ของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของอินเดียในช่วงปี 2554 – 2555 จะมีมูลค่า 43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังกล่าวก็ตาม แต่ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบ ได้แก่ ก.) ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ข.) มูลค่าการลงทุนที่สูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่สูง ค.) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศชะลอตัวลง ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ของอินเดีย ดังนั้น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของอินเดียในปัจจุบันจึงมีความจำเป็นที่จะหาพันธมิตรในการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในสาขาเดียวกัน ทั้งนี้ นาย Surinder Kanwar แสดงความมั่นใจว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของอินเดียจะยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไป เป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ ในปี 2563 อุตสาหกรรมในสาขานี้จะสามารถสร้างรายได้ถึง 115 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
รัฐบาลควรสนับสนุน ภาคธุรกิจควรร่วมมือกัน
นาย Kanwar ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกด้วย ว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ว่าจะมียอดรายได้จากการผลิตถึง 115 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563 นั้น สมาคม ACMA ได้เรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียมีนโยบายต่อเนื่องระยะยาว และการให้แรงจูงใจด้านการส่งออกเพื่อทำให้อุตสาหกรรมในสาขานี้เติบโตอย่างยั่งยืน ในภาวะการณ์ชะลอตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลกในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการต่อเนื่องในการผลักดันการทำความตกลงด้านการค้า ความตกลงด้านการค้าเสรีในระดับทวิภาค และพหุภาคี เพื่อลดอุปสรรคของการกีดกันทางการค้าในรูปแบบของภาษีนำเข้า รวมทั้งการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อเอื้ออำนวยต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์
ในส่วนของการทำให้อินเดียกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญที่ดึงดูด บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เข้ามาผลิตเพื่อป้อนตลาดภายใน และส่งออกไปยังตลาดโลกนั้น สมาคม ACMA เห็นว่า ประเทศอินเดียคงต้องใช้เวลาและฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ อีกมากเพื่อเดินทางไปสู่เป้าหมายดังกล่าว อย่างไรก็ดี อินเดียได้กลายเป็นฐานสำคัญแห่งหนึ่งของโลกในการผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก และรถบรรทุก ดังนั้น ควรจะมีการลงทุนด้าน R&D ให้มากขึ้น และการพัฒนาให้รวมอุตสาหกรรมเหล่านี้เข้าด้วยกันอย่างครบวงจร และเพิ่มความร่วมมือกันระหว่าง OEM และ Suppliers ต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจร่วมกัน
ขัอสังเกตและข้อมูลเพิ่มเติม
1. โครงสร้างของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์อินเดียแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
(1) บริษัทอินเดียที่ไม่มีความร่วมมือใดๆ กับบริษัทต่างชาติ หรือมีความร่วมมือแต่ไม่มาก เช่น Sundram Brake Lining, Sundram Fastners
(2) บริษัทอินเดียที่มีการลงทุนร่วมกันกับบริษัทต่างชาติ เช่น Indian Nippon Electricals, Hinoday และ
(3) บริษัทต่างชาติระดับข้ามชาติ (Multinational Company) เข้ามาลงทุนเอง หรือลงทุนในบางหน่วยของการผลิตที่ควบคุมโดยบริษัทต่างชาติเอง เช่น Delphi, Visteon, Denso, MICO
2. จากการใช้ทฤษฎี SWOT ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ และข้อจำกัด และอุปสรรคของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของอินเดีย ดังนี้
2.1 จุดแข็ง ของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของอินเดีย ได้แก่ ความได้เปรียบในด้านราคา (Cost competitiveness) ของค่าจ้างแรงงานและวัตถุดิบ การเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมในสาขานี้ คุณภาพแรงงานที่ดี การเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ตอบสนองความต้องการบริโภคภายในประเทศ ความสามารถในการผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานสากล และกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ
2.2 จุดอ่อน ได้แก่ การลงทุนในด้าน R&D น้อย มีความรู้จำกัดในด้านความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย (Limited knowledge of product liability) และการประกันการขนส่งสินค้าไปต่างประเทศ การจำกัดประเภทของชิ้นส่วนยานยนต์ในตลาดภายในประเทศ จึงขาดแรงจูงใจในการคิดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โครงสร้างพื้นฐานรองรับอุตสาหกรรมในสาขานี้อยู่ในสภาพไม่ดีในด้านของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) และการส่งออก รวมถึงการขาดประสบการณ์ด้านการออกแบบระบบและการรวมระบบ (System integrations)
2.3 โอกาส ได้แก่ ความต้องการในการ outsource ของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์มากขึ้น, แรงกดดันมาจากผู้ประกอบการ OEM ในตลาดโลกอย่างต่อเนื่องเพื่อการลดต้นทุนการผลิต และการนำเข้าชิ้นส่วนจากบริษัทต่างชาติที่มีต้นทุนต่ำ, การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง, โอกาสในการทำตลาดในต่างประเทศ, โอกาสในการสร้างวิศวกรที่เชี่ยวชาญในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ และส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ และการเสาะหาตลาดต่างประเทศ
2.4 ภัยคุกคาม ได้แก่ การแข่งขันจากปท.ที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ได้ในราคาถูก เช่น จีนไต้หวัน ประเทศไทย เป็นต้น , ผลกระทบจากการบังคับใช้ ความตกลงการค้าเสรี/ข้อตกลงด้านการยกเว้นภาษี, การขยายสมาชิกภาพของประเทศในสหภาพยุโรป ที่รวมฮังการี สาธารณรัฐเชค และโปแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศส่งออกสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์เข้าสหภาพยุโรป, การแข็งตัวของค่าเงินรูปี, การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า พลังไฮโดรเจน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และการที่ผู้ประกอบการ OEM เข้ามาลงทุนในอินเดียจำนวนมากราย อาจส่งผลให้คนที่มีความสามารถจากส่วนของ Supply ย้ายไปทำงานกับผู้ประกอบการ OEM
3. โดยที่ไทยก็เป็นฐานสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์รายใหญ่ของโลก จะเห็นได้ว่าค่ายรถยนต์ต่างประเทศจะมีการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนยานยนต์จากไทยและอินเดีย โดยแต่ละประเทศมีความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่แตกต่างกัน (ส่วนใหญ่อินเดียจะนำเข้าจากไทย) การแลกเปลี่ยนการฝึกอบรม และดูงานของบุคลากรของ ทั้ง 2 ประเทศ อนึ่ง มีบริษัทไทยที่ผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนยานยนต์ และจักรยานยนต์ที่เข้ามาลงทุนดำเนินธุรกิจในอินเดียแล้ว ได้แก่ Thai Summit Neel Auto Private Limited, Summit Auto Seats Industry Company Private Limited , Stanley Electric Engineering India Private Limited เพื่อป้อนอุตสาหกรรมรถยนต์ให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ นอกจากนั้น ความตกลง FTA ไทย – อินเดีย ก็มีรายการชิ้นส่วนยานยนต์หลายประเภทที่อยู่ในข่ายได้รับยกเว้นภาษี ซึ่งทำให้มีการแลกเปลี่ยนการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ของทั้ง 2 ประเทศ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยรายใหม่ๆ ก็ให้ความสนใจที่เข้ามาลงทุนในอินเดีย และอยู่ในระหว่างการศึกษาการตลาด เช่น Somboon Group
4. เอกชนไทยในสาขานี้มีลู่ทางที่ดีที่จะเข้ามาลงทุนในอินเดีย จากการที่อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในอินเดียยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่การเข้ามาลงทุนในอินเดียก็ควรใช้ความระมัดระวังในการหาพันธมิตรท้องถิ่นที่ดีและน่าเชื่อถือ เพราะเกิดกรณีที่เอกชนไทยถูกบริษัทคู่สัญญาชาวอินเดียไม่ยอมชำระเงินเป็นจำนวนหลายล้านบาท ทำให้ต้องทวงถามมากว่า 1 ปี ซึ่งหน่วยงานไทยโดยสำนักงานการค้าระหว่างประเทศที่เจนไน ก็กำลังตามทวงเงินคืนอยู่
5. ปัญหาการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ คือการหาซื้อที่ดินใกล้ในทำเลที่อยู่ใกล้กับกลุ่ม Cluster ของค่ายผู้ผลิตรถยนต์ เพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง และปัญหาการเก็บภาษีซ้ำซ้อนจากการส่งสินค้าข้ามแต่ละรัฐ อย่างไรก็ดี เอกชนไทยรายย่อยต่างๆ ควรหมั่นเข้าร่วมในงานนิทรรศการรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ที่จัดขึ้นในอินเดียในรัฐต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเจรจาหาพันธมิตรทางธุรกิจในลักษณะ B to B และเป็นโอกาสดีที่จะพบพันธมิตรทางธุรกิจของอินเดียที่มีศักยภาพที่สามารถร่วมมือดำเนินธุรกิจร่วมกัน
ธัชไท ถมังรักษ์สัตว์
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน
รายงานจากเมืองเจนไน
3 มกราคม 2556