ผู้ค้าไทยนำสินค้า OTOP ขึ้นหิ้งในงานหัตถกรรมใหญ่ของอินเดีย
อินเดียให้การสนับสนุนหัตถกรรมและอุตสาหกรรมพื้นบ้าน (Crafts and Cottage Industries) เนื่องจากเป็นการส่งเสริมรายได้ให้ประชาชนในระดับล่างและระดับรากหญ้า รวมถึงกลุ่มวัฒนธรรมที่แตกต่างและหลากหลาย นอกจากนี้ ตลาดในประเทศอินเดียก็มีนิยมหัตถกรรมเหล่านี้ โดยมักจะซื้อหานำไปเป็นของตกแต่งบ้าน หรือของขวัญให้แก่ญาติมิตรในโอกาสหรือเทศกาลสำคัญต่างๆ
ไม่ไกลจากกรุงนิวเดลี เพียง 8 กิโลเมตร เมือง Surajkund ที่ตั้งอยู่ในรัฐหรยาณะ (Haryana) มีการจัดงาน Surajkund Crafts Mela ขึ้นเป็นประจำทุกปี งานดังกล่าวเป็นการแสดงและออกร้านขายสินค้าหัตถกรรมที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่งของอินเดีย ปีนี้ก็เช่นกัน เวลาที่จัดก็คือช่วงเดิม คือ ระหว่างวันที่ 1-15 กุมภาพันธ์
ซุ้มประตูต้อนรับผู้เข้าร่วมงานสีสันสดใส
ประตูทางเข้างานที่มีผู้มาร่วมล้นหลาม
สินค้าหัตถกรรมที่มาวางขายตามซุ้มที่ตกแต่งตามลักษณะเด่นของแต่ละรัฐในอินเดีย
งานครั้งที่ 27 ในปีนี้ มีผู้มาออกร้านจากรัฐต่างๆ ทั่วอินเดียกว่า 300 ราย บนพื้นที่จัดงาน 40 เอเคอร์ ซึ่งน่าจะทำลายสถิติผู้เข้าร่วมงานทั้งหมดที่ปีที่แล้วมีเกือบ 1 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันหยุดสุดสัปดาห์ จะคับคั่งและหนาแน่นเป็นพิเศษ เรียกได้ว่าแทบไม่มีที่ยืนและฝูงชนจะพาท่านลอยไปในงานเรื่อยๆ เอง เทียบกับปีก่อน ความคับคั่งก็เรียกได้ว่าแทบจะไม่แตกต่างกัน
แสดงให้เห็นว่าความนิยมสินค้าเหล่านี้ของอินเดียยังคงมีสูงเช่นเคย ทั้งสินค้าในประเทศของเขาเอง และสินค้าหัตถกรรมจากต่างประเทศรวมถึงไทย
ปีนี้ ไทยมีผู้ประกอบการ 5 รายเข้าร่วมงาน ต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่ไทยได้รับเลือกเป็น Partner Country เพราะเป็นปีพิเศษอินเดียเชิญนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้มาเป็นแขกเกียรติยศในงานฉลองวันสาธารณรัฐ (Republic Day) ซึ่งในงาน Surajkund Mela ครั้งนั้น มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 8 ราย มีการสาธิตศิลปะหัตถกรรมไทย อย่างการทำหัวโขน การวาดร่ม และการวาดลายผ้าบาติก และไทยนำคณะนักแสดงจากกรมศิลปากรมาขึ้นเวทีให้ชาวอินเดียชมด้วย
สองในห้าบูทไทยที่มาจำหน่ายสินค้า
ในปีนี้ ประเทศที่ได้รับเลือกเป็น Partner Country ก็คือศรีลังกา ซึ่งได้พื้นที่ศาลาขนาดใหญ่แสดงสินค้าและหัตถกรรมให้ชาวอินเดียที่สนใจมาร่วมงานได้ชม นอกจากนี้ ยังมีประเทศต่างๆ ทั้งภูฏาน ปากีสถาน อียิปต์ และประเทศต่างๆ ในแอฟริกา มาร่วมออกร้านแสดงหัตถกรรมด้วย
สินค้าหัตถกรรมจากศรีลังกา Country Partner ของปีนี้
ส่วนรัฐที่ได้พื้นที่จัดแสดงหลักในงาน หรือเป็น Theme State ในปีนี้คือรัฐกรณาฏกะ (Karnataka) ที่มีการแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับหัตถกรรมและการท่องเที่ยวในรัฐ และมีการประชาสัมพันธ์เส้นทางรถไฟ The Golden Chariot ที่การท่องเที่ยวของรัฐได้ริเริ่มเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้สะดวกสบายและคึกคักมากขึ้น โดยรถไฟหรูหราเส้นทางนี้จะเชื่อมต่อเมืองสำคัญในรัฐกรณาฏกะและรัฐกัวที่อยู่ใกล้เคียงและเป็นรัฐขึ้นชื่อด้านการท่องเที่ยวอีกรัฐหนึ่งของอินเดีย
ตัวอย่างสินค้าไทยที่คนอินเดียสนใจสอบถาม
สินค้าไทยที่ทำมาขายในงานนี้คือหัตถกรรมและสินค้าเครื่องประดับกระจุกกระจิก ที่มีทั้งงานสาน งานปั้น งานกระดาษดอกไม้ประดิษฐ์ งานเย็บปักถักร้อย และของตกแต่งบ้านชิ้นเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งคนอินเดียนิยมซื้อไปตกแต่งกัน โดยมีผู้ประกอบการนำดอกกล้วยไม้ที่ปั้นจากดินประดับบนขอนไม้มาวางจำหน่าย ก็ได้รับความนิยมจากคนอินเดียมาเลือกซื้อไปไม่น้อย
ป้าแหม่มกับสินค้าหัตถกรรมจากจังหวัดสุรินทร์
ผู้ประกอบการที่ชำนาญตลาดอินเดีย และมาออกร้านขายสินค้าตามงานแสดงสินค้าต่างๆ เป็นประจำอย่างคุณปาริชาติ ช่วยวัฒนะ หรือ ป้าแหม่ม หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.พี.พี.เนเจอร์กรีน บอกกับ Thaiindia.net ว่า ปีนี้นำสินค้า OTOP ของจังหวัดสุรินทร์มาร่วมงาน รวมทั้งมีผู้แทนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์มาร่วมด้วย เพื่อส่งเสริมกิจกรรมของกลุ่มช่างฝีมือในจังหวัด บรรยากาศการซื้อขายใน Booth ไทยก็คึกคัก มีชาวอินเดียมาสอบถาม ให้ความสนใจสินค้าไทย ไม่แพ้สินค้าของอินเดียเอง หรือสินค้าจากประเทศอื่นๆ
คณิน บุญญะโสภัต
รายงานจากกรุงนิวเดลี
15 กุมภาพันธ์ 2556