แปรขยะเป็นสินค้า สร้างฐานะให้ชาวอินเดียมีหัวคิด
ความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมและศิลปะของอินเดีย สามารถนำมาแปรเป็นธุรกิจที่ใหญ่โตและได้รับความนิยมจากต่างชาติจนต้องนำส่งออกปีละเป็นพันๆ ล้านเหรียญสหรัฐ เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านเก่าๆ ที่ไร้ค่า เมื่อเจ้าของกิจการที่มีวิสัยทัศน์รู้จักพลิกแพลง บวกกับแรงงานมีฝีมือ ก็ทำให้ขยะมีค่าและมีชื่อเสียงระดับโลกได้
Thaiindia.net ติดตามทูตไทยไปเรียนรู้รัฐราชาสถาน เปิดประตูโอกาสอีกบานในรัฐใกล้ๆ เดลีรัฐนี้ ที่คนไทยมักจะคุ้นหูถึงดินแดนของมหาราชา มหารานี ช้าง อูฐ และพระราชวังกลางทะเลทราย แต่ที่เมืองโยธปุระหรือออกเสียงตามต้นแบบเจ้าของภาษาว่า “จ๊อดท์ปูร์” (Jodhpur) เมืองนี้ มีของดีซ่อนอยู่ที่คนไทยน้อยคนจะรู้
โยธปุระเป็นเมืองหนึ่งที่มีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางอุตสาหกรรมส่งออกหัตถกรรมของอินเดีย โดยความหมายของหัตถกรรมหรือ Handicraft คนมักจะพาลไปนึกถึงของตกแต่งบ้านกระจุกกระจิกที่ขายเทกระจาดตามงานแสดงสินค้าต่างๆ แต่หาไม่เป็นเช่นนั้น สินค้า Handicraft ของที่นี่คือเครื่องเรือน ของประดับตกแต่งบ้าน มีฝีมือและมีคุณภาพ เป็นที่นิยมใช้ตกแต่งตามโรงแรมหรู บ้านหรือสถานที่ที่มีระดับ
โชว์รูมของเครื่องเรือนเก่าฝีมือเนี้ยบนาย Bhandari กลางเมือง Jodhpur
ที่เมืองนี้ มีสมาคมผู้ส่งออกหัตถกรรมของโยธปุระ (Jodhpur Handicrafts Exporters’ Association) ตั้งอยู่ นาย Nirmal Bhandari ประธานคนปัจจุบัน ที่รู้จักประเทศไทยเป็นอย่างดี มีเครือข่ายนักธุรกิจในด้านหัตถกรรมในเมืองหลายสิบราย
นาย Bhandari เป็นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือน ส่งออกไปต่างประเทศหลายประเทศ โดยมีโชว์รูมและโกดังเก็บสินค้าของตัวเอง เฟอร์นิเจอร์ของบริษัทนี้ มีทั้งที่เป็นแบบคลาสสิคทำเลียนแบบของเก่าจนเหมือน และแบบที่นำวัสดุเหลือทิ้ง ที่เรียกง่ายๆ ว่าขยะ มาดัดแปลงเป็นเฟอร์นิเจอร์เก๋ๆ ให้ใช้ตกแต่งบ้านสร้างบรรยากาศที่แตกต่าง
ส่วนอีกบริษัทหนึ่งที่ชื่อ Prince Art Exporter ของนาย Mahaveer Jain ที่เติบโตมาจากร้านขายของฝากเล็กๆ ของรุ่นพ่อ ตั้งอยู่หน้าแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมืองคือ Mehranga Fort ใจกลางโยธปุระ ใช้เวลา 35 ปี จนบัดนี้กลายเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่ มีโกดังและโรงงานเก็บของเก่าและแปรรูปของกว่า 8 หลัง รวบรวมศิลปะหลายแขนงของอินเดีย ทั้งงานไม้ งานหินอ่อน งานโลหะ งานแกะสลัก แม้กระทั่งเครื่องใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ไฟสปอตไลท์ขนาดใหญ่ที่ใช้ส่องบนเรือสินค้า หรือเครื่องใช้ไม้สอยกระจุกกระจิกภายในบ้าน จากลูกบิดประตูหน้าต่างจนถึงกระต่ายขูดมะพร้าว
หน้าสำนักงานของ Prince Art Exporter (PAE)
นาย Mahaveer Jain เจ้าของ PAE (นั่งซ้ายมือ) กับลูกน้องคนสนิท
ในพื้นที่ลานเก็บของเก่ากว้างกว่าหลายร้อยเอเคอร์ที่บริษัทของนาย Jain รวบรวมชิ้นส่วนต่างๆ ของบ้านเอาไว้ แยกประเภท วางเรียงรายอย่างเป็นระเบียบ เก็บเป็นหมวดหมู่ไม่ปะปนกัน เรียงเป็นแถวไกลสุดลูกหูลูกตา เรียกได้ว่าเดินดูแทบไม่ได้ ต้องนั่งรถกอล์ฟนั่งชมลานขยะอันกว้างใหญ่นี้
แถวบานประตูเก่า รอการนำไปปรับปรุง หรือดัดแปลง ตามไอเดียที่หลากหลาย
ชิ้นส่วนไม้เศษซากของบ้าน ถูกนำมากองรวมไว้ อย่างเป็นระเบียบ
ของที่ถูกดัดแปลง ตกแต่ง แปรสภาพให้ดีขึ้น จะถูกนำมาไว้ในโกดังเก็บของ ซึ่งมีตั้งแต่อ่างหินอ่อนหรูหรา โต๊ะตู้แกะสลักที่ละเอียดปราณีต ไปจนถึงปิ่นโตรุ่นโบราณสภาพดีที่มีต้นกำเนิดจากสวีเดน เป็นสวรรค์ของนักตกแต่งบ้าน นักล่าของเก่า และผู้นิยมเครื่องเรือนโบราณงานเนี้ยบ
ของตกแต่งบ้านฝีมือปราณีตที่ถูกทำเลียนแบบจากของเก่า แต่ฝีมือปราณีตจนแทบจะแยกไม่ออก
โคมไฟที่ใช้ส่องบนเรือขนส่งสินค้าก็ยังนำมาวางไว้ ให้คนมีไอเดียดีๆ ไปใช้ต่อ
โต๊ะงานไม้ฝีมือละเอียด
ของตกแต่งบ้านชิ้นเล็กๆ กระจุกกระจิกที่นี่ก็มี
นาย Jain เล่าให้ฟังถึงปรัชญาการทำงานที่ต้องประกอบด้วย การทำงานหนัก ความขยัน ความมุ่งมั่น และความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า นาย Jain เป็นคนชอบทำงาน เลือกที่จะใช้ชีวิตในที่ทำงานมากกว่าที่บ้าน ที่สำคัญคือลูกน้องที่จะทำงานด้วย ต้องมีความซื่อสัตย์และจงรักภักดี พนักงานบริษัทของนาย Jain จึงอยู่ร่วมกันมามากกว่า 20-30 ปีแล้ว แม้วันที่เราไปเยี่ยมชมโรงงานจะเป็นวันอาทิตย์ ยังพบพนักงานทำงานกันขยันขันแข็ง ตกแต่งเครื่องเรือนและบรรจุหีบห่อส่งไปต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาอย่างขมีขมัน
ภาพถ่ายกับลูกน้องข้างโต๊ะทำงานของนาย Jain
คนงานทำงานกันขยันขันแข็งในวันอาทิตย์
อินเดียในสายตาของนาย Jain ยังไม่เป็นที่รู้จักของโลกเท่าไหร่ จึงยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก อาณาจักรของนาย Jain เป็นเครื่องยืนยันสิ่งนี้ได้ ซึ่งถ้าหากเราไม่เดินทางมาเห็นเองให้ประจักษ์ด้วยสายตา ก็คงจะไม่รู้ว่ามีขุมทองซ่อนอยู่ในอินเดีย และคงไม่รู้ว่าเช่นกันว่าอินเดียมีช่างที่ฝีมือเป็นเลิศและนักธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์และสายตาเฉียบคม
ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมงานฝีมืออินเดีย (Handicrafts)
โยธปุระเป็นเมืองหนึ่งใน 4 เมืองหลังกที่มีอุตสาหกรรมส่งออกเครื่องเรือนงานฝีมือ อีกสามเมืองคือ Moradabad ชัยปุระ และ Saharanpur สภาผู้ส่งเสริมการส่งออกงานฝีมืออินเดีย (Export Promotion Council for Handicrafts หรือ EPCH) กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกสินค้าในปีที่ผ่านมาล่าสุดก่อนจบปีงบประมาณอยู่ที่ 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งน่าจะเกินเป้าที่สภาฯ ตั้งไว้ที่ 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับปีงบประมาณที่ผ่านมา สวนกระแสเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาโดยเฉพาะในตลาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ครองสัดส่วนการส่งออกจากอินเดียถึง 60 เปอร์เซ็นต์ โดยตลาดใหม่ที่นำเข้าสินค้าเหล่านี้จากอินเดียคือจีน ละตินอเมริกา และแอฟริกา สินค้าที่เติบโตมากที่สุดได้แก่ผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องประดับ ผ้าคลุมไหล่ และผ้าพิมพ์มือ
คณิน บุญญะโสภัต
รายงานจากกรุงนิวเดลี
5 มีนาคม 2556