ไทย-อินเดีย กับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ระดับโลก
การที่อินเดียผลิตรถยนต์มากเป็นอันดับ 6 ของโลก ขณะที่ไทยเป็นอันดับ 9 ของโลก เมื่อรวมกันมีปริมาณการผลิตสูงกว่าเยอรมนี เป็นรองแค่จีน สหรัฐ และญี่ปุ่น แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และโอกาสในการร่วมมือกันของทั้งสองประเทศ
เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ทุกคนก็คงจะทราบกันดีว่า เป็นอุตสาหกรรมที่เชิดหน้าชูตา สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมากมายมหาศาลในแต่ละปี ในปี 2555 ปีเดียว ไทยผลิตรถยนต์ได้มากกว่า 2.4 ล้านคัน
อุตสาหกรรมผลิตและประกอบรถยนต์นี่เอง ก็ได้สร้างอานิสงส์ส่งต่อไปยังอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย ที่ก็ไม่น้อยหน้าประเทศไหน เพราะรถยนต์ก็เกิดมาจากการนำชิ้นส่วนมาประกอบกันจนเป็นรถขึ้นมานั่นเอง
ประเทศไทยมีบริษัทผลิตชิ้นส่วน ทั้ง tier 1 และ tier 2 เป็นต้นไปรวมกันไม่ต่ำกว่า 2,300 บริษัท เรียกว่าเป็นการแข่งขันที่ดุดันพอสมควร แต่นั่นก็หมายถึงความลึกซึ้งในธุรกิจ ความเชี่ยวชาญของเอกชนไทยในสาขานี้
เหตุนี้เองที่ทำให้แม้แต่ประเทศอินเดีย ที่มีประชากรมากว่า 1,200 ล้านคน ในปี 2555 ผลิตยานยนต์ได้มากกว่า 4 ล้านคัน มากเป็นอันดับ 6 ของโลก มากกว่าไทยเกือบ 2 เท่า หันมามองและต้องการร่วมมือกับประเทศไทยในสาขาดังกล่าว
เห็นได้ชัดจากการสัมมนาโอกาสการลงทุนในอินเดีย จัดโดย Invest India (BOI ของอินเดีย) ที่กรุงเทพฯ เมื่อ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ถูกเลือกให้เป็นสาขาเป้าหมายที่อินเดียต้องการได้รับการลงทุนจากประเทศไทย
นางสุภาค นาควี รองผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อินเดีย (ACMA) กล่าวระหว่างการสัมมนากลุ่มย่อยด้านชิ้นส่วนยานยนต์ว่า อินเดียต้องการให้เอกชนไทยไปลงทุนในด้านดังกล่าว พร้อมนำ know-how เข้ามาในอินเดีย และร่วมมือกับอินเดียในการวิจัยและพัฒนา สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้ครบวงจรจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ เพื่อเพิ่ม value ให้แก่อุตสาหกรรมดังกล่าวในอินเดีย
นางนาควียังได้กล่าวอีกว่า ข้อได้เปรียบของการเข้ามาลงทุนในอินเดียในสาขาดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบกับสาขาอื่นๆ ก็คือ เป็นสาขาที่มีความคล่องตัวในการทำธุรกิจมาก เริ่มจากการเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีขั้นตอนการขออนุญาตที่ซับซ้อน ไม่มีปัญหาการนำเข้าวัตถุดิบแถมยังได้ลดภาษี นักลงทุนต่างชาติลงทุนได้ 100%
เพื่อแก้ข้อสงสัยของเอกชนไทย ที่ยังคงเก้ๆ กังๆ เมื่อพูดถึงการเข้าไปทำธุรกิจในอินเดีย Invest India ยังได้เชิญให้บริษัทไทยอย่างกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของไทย ที่เข้าไปทำธุรกิจนี้จนประสบความสำเร็จในอินเดีย มาแบ่งปันประสบการณ์ในวงสัมมนา
คุณประมวล แก้วใส หัวหน้าโครงการอินเดียของไทยซัมมิทเล่าให้ผู้ร่วมสัมมนาทั้งไทยและอินเดียฟังว่า ไทยซัมมิทเข้าไปทำธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในอินเดียมาตั้งแต่ปี 2546 เพราะเห็นศักยภาพของจำนวนประชากรและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดีย ที่หมายถึงจำนวนรถยนต์บนท้องถนนที่มากขึ้น
การเข้าไปทำธุรกิจในอินเดียของไทยซัมมิทนั้น ก็คงเหมือนเอกชนต่างชาติส่วนใหญ่ ที่ต้องเริ่มด้วยการหาหุ้นส่วนท้องถิ่นที่จะคอยช่วยเหลือในการติดต่อประสานงานตามขั้นตอนกระบวนการขอทำธุรกิจในอินเดียที่ค่อนข้างซับซ้อน โดยไทยซัมมิทจับมือกับ JBM Group ของอินเดีย ซึ่งเป็น supplier ขาประจำให้ Maruti Suzuki
ด้วยแบรนด์และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่น่าเชื่อถือ ถูกใจบริษัทรถยักษ์ใหญ่ที่เคยร่วมงานกันมาก่อนอยู่แล้ว และกลยุทธ์ประกบโรงงานประกอบรถยนต์ ทำให้ joint-venture นี้ประสบความสำเร็จ มีโรงงานผลิตชิ้นส่วน 6 แห่งในอินเดีย การเข้าไปในอินเดียของไทยซัมมิทจึงถือว่าถูกที่ถูกทางถูกเวลามาก
แต่แน่นอนหนทางของไทยซัมมิทก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ปัญหาด้านภาษาก็เป็นอุปสรรคสำคัญที่ไทยซัมมิทต้องเผชิญ หรือแม่แต่เรื่องสหภาพแรงงาน หรือวีซ่าสำหรับคนทำงาน
เมื่อเร็วๆ นี้ ไทยซัมมิทก็ได้ตัดสินใจแยกทางจากหุ้นส่วนอินเดีย และออกมาทำธุรกิจด้วยตัวเองอย่างเต็มตัวในอินเดีย โดยกำลังก่อสร้างโรงงานผลิตแห่งแรกโดยคนไทย 100% ในบังกาลอร์และเจนไน
การที่ไทยซัมมิทยังคงไม่ถอนตัวจากตลาดอินเดีย และยอมเดินเดี่ยวโซโล ก็ย่อมแสดงว่า โอกาสยังมีอีกมาก ดังนั้น เอกชนไทยที่สนใจลงทุนในอินเดียในสาขานี้ น่าจะพอมองเห็นหนทางแล้วว่าจะเข้าไปในรูปแบบใด ในเมื่ออินเดียเองก็สนใจให้เราเข้าไปลงทุน และเราเองก็มีศักยภาพ อุตสาหกรรมที่มหึมาขนาดนี้น่าจะทำให้เอกชนไทยตื่นตัวได้ไม่น้อย
หากติดขัดอันใด กรมส่งเสริมการส่งออกของไทย หรือ BOI ที่ตอนนี้กำลังมุ่งส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ และกำลังจะเปิดสำนักงานส่งเสริมการลงทุนแห่งแรกในอินเดียที่เมืองมุมไบในเร็วๆ นี้ รวมถึงสถานทูตและสถานกงสุลไทยในอินเดีย ก็น่าจะพร้อมให้คำปรึกษาและช่วยเหลือเต็มที่แน่นอน
(ภาพจาก www.thaisummit.co.th)
นายประพันธ์ สามพายวรกิจ
รายงานจากกรุงนิวเดลี
4 เมษายน 2556