มองโอกาสไทยเชื่อมโยงอินเดีย ผ่านมุมมอง “ทูตพิศาล มาณวพัฒน์”
เป็นที่ทราบกันดีว่าอินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของโลก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้หมายถึงโอกาสที่ดีในแง่ของการค้าการลงทุน แต่ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนของไทยยังถือว่าเข้าไปลงทุนในอินเดียน้อยเมื่อเทียบกับศักยภาพที่มีอยู่
"ฐานเศรษฐกิจ" มีโอกาสพูดคุยกับท่านทูตพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงนิวเดลี ในโอกาสที่ได้รับเชิญจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี ไปเยี่ยมชมกิจการของภาคธุรกิจไทยที่เมืองเจนไนและบังกะลอร์ของอินเดีย ระหว่างวันที่ 14-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งท่านทูตพิศาลกล่าวถึงโอกาสการเป็นตลาดการค้าและการลงทุนที่สำคัญระหว่างกันและกันของไทยและอินเดียในอนาคตไว้ได้อย่างน่าสนใจ
ใช้ประโยชน์จากตลาดใหญ่
ท่านทูตพิศาลมองว่า จุดแข็งของอินเดียคือขนาดตลาดที่มีผู้บริโภค 1,200 ล้านคน มีกำลังซื้อจากกลุ่มชนชั้นกลางที่กำลังขยายมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นกำลังซื้อของสินค้าภาคการผลิตหรือเกษตรเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว การบริหารจัดการโรงแรม สปา การจัดงานต่างๆ
"เมื่อขนาดของประเทศใหญ่และการขยายตัวของชนชั้นกลางมีมากขึ้น รวมถึงแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีโอกาสก้าวขึ้นมามีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 หรือ 3 ของโลก เราต้องวางพื้นฐานไว้ล่วงหน้าเพื่อใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่นี้ ซึ่งบริษัทไทยชั้นนำอย่างน้อย 9 บริษัทในตลาดหุ้นที่มีธรรมาภิบาลดีก็เข้ามาแล้ว ได้แต่หวังว่าบริษัทเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจที่จะนำธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่อาจจะมีความเข้มแข็งหรือความสามารถยังไม่มากพอเข้ามาด้วย"
ท่านทูตยกตัวอย่างให้ฟังว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เอสซีจีได้เปิดโชว์รูมสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างขึ้นเป็นที่แรกในอินเดีย ที่เมืองกูร์กาวน์ รัฐหรยาณะ ซึ่งบริษัทขนาดเล็กที่ทำวัสดุเครื่องแต่งบ้านที่มีมาตรฐานก็มีโอกาสนำสินค้าเข้ามางจำหน่ยในอินเดียพ่วงกับทางเอสซีจีได้ ลักษณะนี้เป็นต้น
ท่านทูตกล่าวด้วยว่า การเข้ามาในอินเดียเวลานี้ไม่ใช่การเข้ามาก่อนเวลาที่อินเดียพร้อมเต็มที่ อาจนับได้ว่าเข้ามาช้ากว่าประเทศอื่นๆ แล้วด้วยซ้ำ แต่ธุรกิจไทยมีจุดแข็งบางประการที่ชาติอื่นไม่มี เช่น อาจจะมีขนาดเล็กพอจะรับงานขนาดไม่ใหญ่มาก ตั้งอยู่ไม่ไกลจากอินเดีย มีภาพลักษณ์ที่คนอินเดียชื่นชม สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นจุดแข็งที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น
การเชื่อมโยงนำมาซึ่งโอกาส
สำหรับแนวโน้มการค้าการลงทุนระหว่างไทยและอินเดียในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ท่านทูตพิศาลฟันธงว่าดีขึ้นอย่างแน่นอน โดยปัจจัยแรกเป็นโอกาสจากการเปิดตลาดที่สืบเนื่องจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ทั้งสินค้าภาคการผลิต บริการ และการลงทุน ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ของไทยและฝ่ายอินเดียกำลังเจรจาเพื่อขยายข้อตกลงการค้าเสรีอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการขยายประเภทสินค้าจากเดิม 83 รายการที่ภาษีเป็น 0% แล้วให้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในช่วงโค้งสุดท้าย ส่วนที่ 2 เป็นความตกลงที่จะมาเสริม คือ ด้านสินค้าบริการและการลงทุน คาดว่าจะสรุปได้ในปลายปีนี้
ในส่วนของการลงทุนเชื่อว่าจะขยายมากขึ้นเช่นกัน "ไทยและอินเดียมีความเหมือนกัน คือกำลังจะใช้เงินมหาศาลของภาครัฐในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจ โดยอินเดียวางงบประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทุกรูปแบบ ไม่ใช่เพียงถนน สนามบิน แต่ยังมีโรงไฟฟ้า เขื่อน สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการเป็นชาวเมืองสมัยใหม่ สิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนชาวไทยทั้งสิ้น"
ในทางกลับกัน อินเดียก็มองไทยเป็นโอกาส จากการมีเขตการค้าเสรีอาเซียน ตลอดจนถึงความตกลงเชื่อมโยงอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ดังนั้น การเข้ามาลงทุนไทยในไทย จึงไม่ใช่ได้เฉพาะตลาดอาเซียน แต่ยังสามารถส่งต่อไปยังญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลียได้ นอกจากนี้ ยังมีโอกาจากการที่ไทยเน้นขยายการคมนาคมขนส่งต่างๆ อาทิ ถนนที่กำลังขยายเชื่อมตะวันตก-ตะวันออก เหนือ-ใต้ ไทย-เมียนมาร์-อัสสัม สิ่งเหล่านี้กำลังจะเป็นรูปธรรมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
"สิ่งที่เราเคยนึกว่าไกลก็จะใกล้ สัปปะรดที่ขายไม่ได้ต้องทิ้งในรัฐทางเหนือและอีสายของอินเดีย ผมเคยลองรับประทานแล้วอร่อยมาก อาจจะมาขยายในโรงแรมหรูของไทยในวันรุ่งขึ้นก็ได้ สินค้าไทยที่เคยเข้าตลาดอินเดียลำบากอาจมีตลาดมากมายทางเหนือและอีสานของอินเดียที่ต้องการสินค้าเหล่านี้ โอกาสมีอีกมากจากการเชื่อมถนน ท่าเรือ การบิน"
เชื่อมโยงท่าเรือเจนไน-ทวาย
ช่องทางการเชื่อมโยงสำคัญอีกหนึ่งช่องทาง คือ แนวคิดการเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทวายและท่าเรือเจนไน ซึ่งเป็นทาเรือสำคัญทางฝั่งตะวันออกของอินเดีย ต่อเรื่องนี้ท่านทูตพิศาลกล่าวว่า เป็นโอกาสที่ดีมาก และอินเดียแสดงความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากนโยบายกรอบใหญ่ของอินเดียมองตะวันออก ซึ่งคือ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นเครื่องยนต์สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
"เจนไนมีท่าเรือน้ำลึก เป็นแหล่งการผลิตของอุตสาหกรรมต่างชาติจำนวนมาก เช่น รถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เรือจากเจนไนเข้าไปทวายสามารถส่งสินค้าต่อไปตลาดเมียนมาร์ตอนใต้ของจีน หรือต่อเข้าไปยังท่าเรือน้ำลึกของไทยเพื่อส่งต่อไปในภูมิภาค นักว่าเป็นประโยชน์มาก"
ทั้งนี้ หลังจากได้รับฟังนโยบายจากฝ่ายไทยแล้ว ทางอินเดียแสดงความสนใจอยากเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าว โดยอยากเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น มีการตกลงกันว่าเมื่อโอกาสเอื้ออำนวย จะดำเนินการจัดคณะมาโรดโชว์เพื่อเข้ามาดูว่าตรงส่วนไหนที่เข้ามามีส่วนร่วมได้ อุตสาหกรรมใดที่อยากต้องการให้เข้ามา ซึ่งทางอินเดียมีความพร้อม "ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ อยู่ที่ความคืบหน้าของการทำงานระหว่างไทยกับเมียนมาร์ที่จะเป็นตัวจักรสำคัญขับเคลื่อนโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตอุตสาหกรรมพิเศษทวาย"
สำหรับอุปสรรคของภาคธุรกิจที่เข้ามาในอินเดีย ท่านทูตกล่าวว่ามีอยู่หลักๆ 3 เรื่อง เรื่องแรกคือการขอวีซ่านักธุรกิจที่ยังไม่รวดเร็วเพียงพอ ในส่วนนี้ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเสนอแนวทาง โดยอาจจะเป็นการแลกเปลี่ยนรายชื่อบริษัทที่มาลงทุนซึ่งกันและกัน ถ้ามีการขอวีซ่าจากบริษัทมีรายชื่อ ก็อาจสามารถทำเป็น fast tract ในการออกวีซ่าได้อย่างรวดเร็ว ขึ้นอยู่กับกระทรวงการต่างประเทศและสถานทูตอินเดียจะเร่งดำเนินการให้ถึงจุดหมายที่เป็นรูปธรรมได้เร็วเพียงใด
เรื่องที่ 2 คือ กองทุนประกันสังคมที่คนไทยซึ่งทำงานในอินเดียต้องจ่ายและจะเบิกคืนได้เมื่ออายุ 58 ปี ขณะนี้ สำนักงานประกันสังคม กรมการประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กำลังเร่งขอเจรจาเพื่อยกเว้นเงื่อนไขดังกล่าว และอุปสรรคสุดท้ายคือนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนอยากได้นิคมอุตสาหกรรมที่ไม่มีปัญหาเรื่องที่ดิน น้ำ และไฟไม่เพียงพอ แรงงานจากสหภาพแรงงาน เรื่องนี้ทางทีมประเทศไทยมีเว็บไซต์เป็นช่องทางให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเจรจากับทางการรัฐต่างๆ ของอินเดีย
"ล่าสุดหลังจากการพูดคุยกับรัฐคุชราต ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีบริษัทไทยตัดสินใจเข้าไปเปิด ต่อมาเป็นรัฐมัธยประเทศ ซึ่งมีความพร้อมและกระตือรือร้นที่จะสนับสนุนการเข้ามาของธุรกิจไทยแบบคลัสเตอร์หลายๆ อุตสาหกรรม ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้คำตอบกับเอกชนไทยที่ต้องการเข้ามาลงทุนแล้วมีปัญหา สามารถตัดสินใจได้"
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 9 ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,864 วันที่ 25-26 กรกฎาคม พ.ศ. 2556