อินเดียคือโอกาสที่ยิ่งใหญ่: มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก
อินเดียคือโอกาสที่ยิ่งใหญ่: มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก
มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้งบริบษัท Facebook ที่เพิ่งจะเข้าสู่อายุ 29 ปีเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ค้นพบภารกิจใหม่ในชีวิตอีกครั้ง เมื่อเขาอยากจะทำให้คน 5,000 ล้านคนในวันข้างหน้าเชื่อมต่อกันทางเว็บไซต์ "Internet.org" ซึ่งคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็มี Facebook ใช้กันอยู่แล้ว
เพื่อไขข้อข้องใจ หนังสือพิมพ์ธุรกิจชื่อดัง Mint ของอินเดียได้ต่อสายตรงถึงเจ้าตัวที่เมืองพาโล อัลโต รัฐแคลิฟอร์เนีย (Palo Alto, California) สหรัฐอเมริกา ซึ่งซักเคอร์เบิร์กได้กล่าวเล่าถึงเว็บไซต์ใหม่ Internet.org และปัญหาอุปสรรคและสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากการก่อตั้ง Facebook ผ่านบทสนทนาทางโทรศัพท์ดังนี้
คุณเพิ่งจะเพิ่มภารกิจชีวิตใหม่ด้วยการประกาศเว็บไซต์ Internet.org ไป คุณคิดว่าเว็บใหม่นี้จะช่วยเชื่อมต่อโลกได้มากเท่าไร หรือจะช่วย Facebook มากแค่ไหน?
อ๋อ...เรากำลังวิเคราะห์ปัญหานี้อยู่ครับ กำลังคิดหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อที่จะสร้างเกราะป้องกันสำหรับหลายๆ อย่าง รวมไปถึงการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ การศึกษา การงาน และก็สิ่งดีๆ อีกมากมายครับ
และตอนนี้เรามีความชัดเจนแล้วว่าปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ แต่ก็ยังไม่มีรัฐบาลหรือบริษัทใดที่แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องร่วมไม้ร่วมมือกันครับ เราต้องทำงานร่วมกันระหว่างบริษัท และอุตสาหกรรมต่างๆ
นี่คือจุดเริ่มต้นการก่อเกิดเว็บ Internet.org ครับ เว็บนี้เกิดขึ้นหลังจากมีการสนทนาร่วมกับบริษัทมากมายว่าเราจะทำอย่างไรให้คนในโลกนี้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้
แต่มีหลายคนสงสัยเกี่ยวกับเว็บ Internet.org นี้ครับ รวมถึงคนดังอย่าง บิล เกตส์ (Bill Gates) ที่บอกว่ายังมีอุปสรรคที่คนยังต้องพบอยู่อีกมาก โดยเฉพาะในโลกที่กำลังพัฒนา
ฉะนั้นผมไม่ใช่คนแรกที่จะบอกว่ายังมีปัจจัยพื้นฐานขาดอยู่อีกมากกว่าอินเทอร์เน็ต เพราะแน่นอนครับสำหรับคนที่ไม่มีจะดื่มจะกิน อาหารและน้ำย่อมเป็นปัจจัยพื้นฐานที่เขาต้องการอยู่แล้วครับ
แต่ว่าสำหรับคนที่มีปัจจัยพื้นฐาน และมีโทรศัพท์ด้วย เขาอาจจะไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ ดังนั้นเป็นไปได้ไหมที่จะสร้างหนทางให้พวกเขาเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจโลก?
สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าไม่ยุติธรรมจริงๆ ในโลกของเราวันนี้คือ คนที่ร่ำรวยที่สุด 500 ล้านคนมีช่องทางสร้างเงินมากกว่าเงินของคน 6,000 ล้านคนในวันข้างหน้ารวมกันเสียอีกครับ แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดและหวังว่ามันจะเปลี่ยนไปในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า
ดังนั้น หนึ่งในวิธีที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ก็คือ การทำให้ทุกคนเข้าอินเทอร์เน็ต เพื่อที่ทุกคนจะได้มีข้อมูลข่าวสารที่เหมือนกัน มีโอกาสดีๆ เหมือนกัน และมีความสามารถในการแบ่งปันและพูดคุยในสิ่งที่แต่ละคนคิดอย่างมีเสรีภาพเท่าเทียมกัน
ฉะนั้นแล้ว ผมจึงคิดว่าเมื่อคุณมีปัจจัยพื้นฐานครบแล้ว อินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นอีกปัจจัยสำคัญมากๆ ในการพัฒนาคนและประเทศชาติครับ
คุณมองว่าประเทศอินเดียมีบทบาทอะไรในโครงการนี้?
ยังมีอุปสรรคมากมายในเรื่องกฎเกณฑ์ของรัฐบาล และการขาดแคลนระบบโครงสร้างพื้นฐานครับ ผมมองว่าถ้าเราสามารถก้าวผ่านอุปสรรคเหล่านี้ได้ อินเดียเป็นโอกาศที่ยิ่งใหญ่ครับ ตอนนี้เท่าที่ผมเข้าใจมีเพียงประมาณ 100 ล้านคนหรือมากกว่านิดๆ ที่มีอินเทอร์เน็ตใช้กัน ทั้งๆที่มีประชากรเป็นพันกว่าล้านคนครับ
อีกอย่าง แม้ผู้คนส่วนใหญ่มีโทรศัพท์มือถือแต่ไม่มีอินเทอร์เน็ตในโทรศัพท์ครับ เราจึงอยากทำงานร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์ที่อินเดีย อาทิ Nokia, Samsung ที่เป็นหุ้นส่วนกับ Internet.org อยู่แล้วครับ
และเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ ผู้คนเหล่านี้ที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ตอนนี้จะมีอินเทอร์เน็ตใช้กันครับ แต่ว่าพวกเราไม่สามารถทำด้วยตัวเองทั้งหมด เราต้องร่วมมือกับบริษัทต่างๆ เหล่านี้เพื่อให้บรรลุผลครับ
ในประเทศอย่างอินเดีย ภาษาท้องถิ่นก็มีบทบาทสำคัญ
ผมคิดเช่นนั้นครับ เราได้หาวิธีหลายๆ วิธีที่จะเปลี่ยนภาษาการให้บริการของเราเป็นภาษาอื่นๆ มากมาย จริงๆ บริษัทส่วนมากก็พยายามเปลี่ยนภาษาการให้บริการของเขาด้วยตัวเอง แต่ต่างกันนี้เราได้สร้างเครื่องมือขึ้นมาสำหรับผู้ใช้ Facebook ซึ่งแต่ละคนสามารถเปลี่ยนภาษาอะไรก็ได้ตามใจชอบครับ และคนอื่นสามารถโหวดให้ได้ว่าภาษาไหนที่ออกมาสวยงามที่สุด นั่นหมายถึงว่าผู้คนในชุมชนเปลี่ยนภาษากันเอง สิ่งนี้จะทำให้พวกเราสามารถเปลี่ยนภาษาให้เป็นภาษาถิ่นต่างๆ มากมายกว่าผู้ให้บริการอื่นๆ ครับ
ดังนั้น ผมคิดว่าภาษาเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่ใหญ่โต เพราะคุณไม่สามารถใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ได้ถ้าคุณไม่เข้าใจภาษาที่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์นั้นมี เรื่องภาษาจึงกลายเป็นจุดโฟกัสสำคัญที่พวกเราได้เริ่มหานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหานี้
ด้วยจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเล็กน้อยเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ และผู้ใช้ Facebook 82 ล้านคนต่อเดือน เรายังต้องไปต่ออีกไกลในอินเดียครับ
มีอะไรที่อินเดียสามารถทำได้อีกบ้าง?
รัฐบาลควรส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันและการสร้างประสิทธิภาพของเครือข่ายผ่านมาตรการต่างๆ เช่นการออกใบอนุญาตของคลื่นพื้นที่สีขาว การจัดสรรคลื่นความถี่ที่เกิน ซึ่งการปฏิรูปเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นในการส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลทั่วไป ซึ่งก็เป็นเป้าหมายที่รัฐบาลอินเดียกำหนดไว้อยู่แล้วครับ
ยังมีอีกหลายๆ คำถามที่คุณไม่ได้ตอบในเอกสารวิสัยทัศน์ Internet.org ของคุณ อยากทราบว่าใครจะเป็นผู้สร้างระบบพื้นฐานโครงการนี้ และใครจะเป็นผู้ออกค่าใช่จ่าย? คุณได้คิดมุมเหล่านี้ไว้บ้างหรือยัง?
คิดครับผม เพียงแต่มันไม่ได้มีเพียงบริษัทเดียว และไม่ได้เกี่ยวข้องกับลักษณะบริษัทเดียวด้วยซ้ำ อาทิ ผู้ให้บริการมือถือช่วยได้มาก มีบริษัทอย่าง Qualcomm ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเว็บ Internet.org ช่วยในเรื่องของการสร้างความแข็งแกร่งระบบเครือข่ายสัญญาณ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ส่วนผู้ผลิตโทรศัพท์มือถืออย่าง Nokia และSamsung กำลังผลิตฮาร์ดแวร์ที่ถูกๆ เพื่อจะช่วยให้ทุกคนซื้อได้ ในขณะที่ Facebook ช่วยออกแบบฮาร์ดแวร์ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งในโครงการครับ
ดังนั้นจะเห็นว่ามีอะไรมากมายที่เราทำอยู่ มันไม่ใช่แค่หนึ่งบริษัท หรือในหนึ่งประเทศเท่านั้น ถ้าคุณลองเอามารวมกันจะเห็นว่าพวกเรากำลังพัฒนาหลายๆ อย่างอยู่ และแน่นอนครับในอีกห้าปี หรือสิบปีข้างหน้า เราสามารถมีระบบเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพมากกว่าตอนนี้เป็น 100 เท่าทีเดียวครับ
คุณบอกว่าโครงการนี้ไม่สามารถที่จะทำได้เพียงบริษัทเดียว และดูจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ว่าทำไมบริษัท Googgle ยังไม่เป็นพันธมิตร คุณได้ไปหาเขาหรือเปล่า?
คือว่าพวกเราได้คุยกันแล้วครับ และผมก็คิดว่าเขากำลังคิดพิจารณาอยู่ครับ
คุณรู้มั้ยครับ ด้วยการที่เป็นบริษัทเหมือนกัน Facebook เองพร้อมที่จะทำงานแบบเป็นหุ้นส่วนเสมอครับ ที่จริงมีบริษัทมากมายที่อยากทำอะไรๆ ด้วยตัวเขาเอง แต่พวกเรามองว่าปัญหานี้ไม่มีใครแก้ไขได้คนเดียวถ้าไม่ร่วมมือกัน พวกเราจึงต้องทำงานร่วมกับคนอื่น ซึ่งก็จะมีนวัตกรรมบางอย่างที่เราทำได้ดีเสมอครับ
คุณได้เรียนรู้อะไรจากผู้ใช้บริการพันล้านคนแรก และทำอย่างไรถึงสร้าง Facebook ที่คงอยู่เป็นทศวรรษ?
ยิ่งผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้นเท่าไร ผมคิดว่าสิ่งที่พวกเราได้เรียนรู้คือเรากำลังเอื้อมมือไปให้ถึงผู้คนที่ไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีมากขึ้นเท่านั้นครับ
แรกๆ ผู้ใช้ Facebook ส่วนใหญ่เป็นนิสิตนักศึกษาที่โตมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์และใช้มันทุกๆ วัน พวกเขาชินกับเทคโนโลยีไปแล้ว แต่ตอนนี้เรากำลังเข้าไปสู่ผู้คนที่เพิ่งอาจจะมีอินเทอร์เน็ตไม่นานมานี้ หรือเพิ่งจะมีคอมพิวเตอร์เครื่องแรก หรือสมาร์ทโฟนเครื่องแรก เป็นต้น ครับ
ดังนั้น ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่คุณได้ก็คือคุณกำลังทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นและง่ายขึ้นกว่าเดิม เป็นเรื่องยากที่จะทำอะไรต่อมิอะไรถ้าหากคนยังไม่คุ้นเคยครับ คนที่ไม่เคยใช้อินเตอร์เน็ตก็จะไม่รู้ว่ามันทำงานเร็วแค่ไหนอย่างไร สำหรับพวกเขามันเป็นแค่ความคิดต่างด้าว
ฉะนั้นแล้ว ยิ่งโลกนี้เชื่อมต่อกันมากขึ้นเท่าไร คุณก็ต้องทำให้การบริการของคุณง่ายขึ้นเท่านั้น เพื่อจะทำให้การบริการมีผลมากที่สุดกับทุกคนครับ
คุณมองว่าอนาคตอีก 10, 20, 30 ปีข้างหน้า Facebook จะเป็นอย่างไร? อะไรคือวิสัยทัศน์ของคุณ?
อ๋อครับ...ที่จริงนั่นเป็นส่วนหนึ่งในสิ่งที่พวกเรากำลังพยายามอยู่ครับ ภารกิจก็คือทำให้โลกนี้เป็นโลกที่เปิดกว้างและเชื่อมต่อกัน การเชื่อมต่อกันนั้นเราต้องการที่จะให้เพิ่มจากผู้ใช้บริการ 1,000 ล้านคนในตอนนี้ให้เป็น 5,000 ล้านคนในวันหน้า ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไรครับ และก็อาจจะยากกว่า 1,000 ล้านคนแรก นี่คือสิ่งที่พวกเรากำลังเล็งอยู่และเว็บ Internet.org ก็เพื่อสิ่งนี้ล่ะครับ
เรายังพยายามที่จะให้เปิดให้มากกว่านี้เพื่อที่ผู้คนจะได้ร่วมแบ่งปันสิ่งต่างๆ เห็นการเคลื่อนไหว หรือแบ่งปันความคิดเห็นกับบุคคลที่ตัวเองไว้ใจ จะได้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชน สังคมของตัวเอง และผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะสร้างโลกที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ การสร้างโลกที่เกี่ยวข้องกับตัวคุณโดยตรงคือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ครับ
นอกจากนี้ เราคิดถึงการทำให้เศรษฐกิจทำงานดีขึ้นด้วย พวกเราได้สร้างผลิตภัณฑ์สำหรับธุรกิจต่างๆ ด้วย เพื่อเป็นการสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการในการก่อตั้งบริษัทต่างๆ การสร้างงาน และเรายังคิดถึงเรื่องที่ว่าทำยังไงจึงจะช่วยธุรกิจออนไลน์ได้มากขึ้นด้วยครับ พวกเราภูมิใจในสิ่งที่เราทำอยู่มากครับ และนี่คือสิ่งที่พวกเรากำลังเน้นในช่วง 5 ถึง10 ปี ครับ
วิศวกรรุ่นใหม่และผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากของประเทศอินเดียและประเทศอื่น ๆ กำลังจ้องจับตาการพัฒนาเรื่องการตรวจคนเข้าเมืองของสหรัฐอเมริกา และกำลังสงสัยว่ามันกลายเป็นการกีดกันเสียแล้ว คุณจะบอกพวกเขาว่าอะไร?
มันเป็นเรื่องใหญ่ และซับซ้อนมากครับ หลายๆ บริษัทก็กังวลว่าจะไม่สามารถนำคนที่มีความสามรถเข้ามาทำงานให้บริษัทตัวเองได้ อีกด้านก็มีเรื่องของคนเข้ามาแล้วอยู่เกินอายุวีซ่า ซึ่งมีคนอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ แบบไม่ถูกกฏหมายถึง 11 ล้านคน เราต้องหาวิธีที่เหมาะสมที่จะแก้ปัญหานี้ครับ
เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากจริงๆ ครับ ดังนั้นสิ่งที่เรากำลังทำได้คือว่าร่วมสนับสนุนทุกคนที่มีส่วนในเรื่องนี้ และกำลังทำงานหนักกันอย่างมาก เพื่อให้มีทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่ายและเร็วที่สุดครับ
คุณอยากจะบอกอะไรกับผู้ประกอบการอินเดีย หรือผู้เริ่มต้นกิจการที่กำลังมองหาบริษัทอย่างของคุณในการก่อตั้งบริษัทต่างๆ?
ผมคิดว่านั่นคือสิ่งที่คุณต้องการจะอยู่ด้วยต่อไปบนโลกนี้ และโอกาสก็คือว่าถ้าคุณต้องการจะสร้างอะไรสักอย่างจริงๆ และคนอื่นเขาก็ต้องการด้วยเหมือนกัน นั่นแหล่ะครับคือที่ๆ ดีที่สุดในการเริ่มต้น
แปลโดย อายิ เบเชกู่
28 สิงหาคม 2556
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Mint และ Hindustan Times เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2556)