โอกาสธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในรัฐทมิฬนาฑู
จากการที่รัฐทมิฬนาฑูมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง มีผลทำให้เกิดการหลั่งไหลการลงทุนจากนักลงทุนภายในประเทศและจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ที่เข้าไปลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการ โดยเฉพาะในเมืองเจนไนและเขตปริมณฑล ส่งผลให้ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์เติบโตอย่างมากตามไปด้วยเพื่อรองรับนักลงทุนจากภายนอก รวมทั้งการขยายจำนวนของชนชั้นกลางในรัฐทมิฬนาฑู
รัฐทมิฬนาฑูซึ่งเป็นรัฐอุตสาหกรรมที่สำคัญทางตอนใต้ของอินเดีย และมีระบบการศึกษา โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมที่ดีเยี่ยมสามารถผลิตแรงงานฝีมือเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างชาติ กอปรกับรัฐทมิฬนาฑูมีท่าเรือน้ำลึกที่ทันสมัย ทำให้นักลงทุนอุตสาหกรรมทั้งจากยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐ และเกาหลีใต้ต่างแห่เข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ในรัฐทมิฬนาฑุอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการด้านธุรกิจการลงทุนในที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ในเมืองเจนไนและปริมณฑล สูงขึ้นเรื่อยๆ
การเพิ่มขึ้นของความต้องการที่ดินในทำเลที่ดีของเมืองเจนไนสำหรับการลงทุนสร้างอาคารสำนักงาน และบ้านที่อยู่อาศัยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลางของผู้มีอายุระหว่าง 25 – 35 ปี ที่มีรายได้ดีขึ้นและมีความต้องการหาซื้อบ้านที่พักอาศัยในราคาที่สามารถมีกำลังซื้อได้ (affordable housing) จึงมีบริษัทธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากของอินเดียเองด้วยกัน อย่างเช่น DLF, Delhi, Hiranandi, Mumbai, Shoba & Prestige Bangalore ที่เล็งเห็นโอกาสในศักยภาพด้านธุรกิจสาขาดังกล่าว ต่างทยอยเข้ามาลงทุนในเจนไน
นอกจากนั้น ยังมีนักลงทุนต่างประเทศจากภูมิภาคตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยุโรป ก็เข้ามาลงทุนในธุรกิจประเภทนี้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีที่ดินหลายแห่งในเมืองเจนไนกำลังทยอยผุดขึ้นโครงการก่อสร้างอาคาร สำนักงาน อพาร์ตเมนต์ และบ้านพักอาศัยดาษดื่นทั่วไป เพื่อรองรับอุปสงค์ของตลาด
สถิติระหว่างเดือน มี.ค. – พ.ค. 2556 พบว่า อุปสงค์ของอสังหาริมทรัพย์ในเมืองเจนไนในราคาระหว่าง 2 ล้าน – 4 ล้านรูปี (ประมาณ 1-2 ล้านบาท) ในย่าน Medavakkam และ Madipakkam ผุดโครงการก่อสร้างเป็นจำนวนมากที่สุดด้วยกัน ในขณะที่อสังหาริมทรัพย์ช่วงราคาระหว่าง 4 ล้าน – 6 ล้านรูปี (2-3 ล้านบาท) เป็นตลาดระดับรองลงมา อยู่ในย่าน OMR และ Velachery ตามด้วยอสังหาริมทรัพย์ช่วงราคาระหว่าง 6 ล้าน – 10 ล้านรูปี (3-5 ล้านบาท) อยู่ในย่าน Adyar, Anna Nagar และ Velachery ก็มีฐานลูกค้ารองรับเช่นกัน
ในขณะเดียวกัน อุปทานของภาคอสังหาริมทรัพย์ในเมืองเจนไน และปริมณฑล พบว่า ที่พักอาศัยในราคา 2 ล้านรูปี มีภาวะ undersupply เพียงร้อยละ 2 และราคาระหว่าง 2 ล้าน – 4 ล้านรูปี มีภาวะ undersupply ร้อยละ 7 ทั้งนี้ ต่างมีปัจจัยแตกต่างกันขึ้นอยู่ในแต่ละทำเลของโครงการ
ขณะนี้ผู้ประกอบการธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ต่างรอกฎหมายเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ฉบับใหม่ปี 2556 ที่รัฐบาลกลางของอินเดียกำลังผ่านเป็นกฎหมายที่จะออกมาจัดระเบียบการดำเนินธุรกิจในสาขานี้ให้เป็นระบบ ซึ่งเมื่อผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว และแต่ละรัฐให้การรับรอง ก็จะมีความโปร่งใสในการให้ความเป็นธรรมทั้งต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค
หากเปรียบเทียบราคาทองในอินเดียกับราคาที่ดินในเมืองเจนไน พบว่า ในปี ค.ศ. 1986 ราคาทอง 10 กรัม เท่ากับ 2,100 รูปี โดยในปี 2013 ราคาเท่ากับ 29,000 รูปี หรือเท่ากับมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น 13.8 เท่าตัว ในขณะที่ราคาที่ดินในเมืองเจนไน เช่นในย่าน Valachery เมื่อปี 1986 ในพื้นที่ 2,400 ตารางฟุต มีราคาเท่ากับ 40,000 รูปี แต่ในปี 2013 มีราคาเพิ่มสูงขึ้นถึง 9,500,000 รูปี หรือคิดเป็นมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น 237 เท่าตัว ดังนั้น จะเห็นได้ว่าราคาที่ดินมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าราคาทองหลายเท่าตัว
ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา เมืองเจนไนมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิทัศน์เป็นอย่างมากจากพลวัตรทางเศรษฐกิจที่สูง จึงมีโครงการของภาครัฐ และเอกชนก่อสร้างทั่วไปในเมืองเจนไน และเขตปริมณฑล ทั้งการปรับปรุงสาธารณูปโภค เช่น การสร้างรถไฟฟ้า การขยายถนน ปรับปรุงท่าเรือ ท่าอากศยาน
ในสาขาภาคบริการ พบว่าเมืองเจนไนมีความสำคัญมากขึ้นในการเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจ การท่องเที่ยว และสันทนาการ จะเห็นได้ว่ามีโรงแรมชั้นนำของอินเดีย และของโลกต่างทยอยเปิดโรงแรม 5 ดาวมากมาย เช่น Hilton, Hyatt, Radisson, ITC Chola, Park Hyatt, Leela Palace, Westin, Ramada และโรงแรม Boutique Hotel เช่น Lemon Tree, Holiday Inn Express, Rain Tree , Accord Metropolitan
ในเขตเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน (East Coast Road) ก็มีผู้ประกอบการด้านโรงแรมราคาประหยัด (Budget Hotel) เช่น เครือ Ginger Brand และ Accor Group ต่างทยอยผุดโครงการของตน นอกจากนั้น เมืองเจนไนมีการสร้างห้างสรรพสินค้าทันสมัยขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ผู้บริโภคเมืองเจนไนก็เริ่มเปลี่ยนรสนิยมหันมาบริโภคอาหารต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะร้านอาหารจานด่วน จึงมี MacDonalds, KFC, Pizza Hut, Dominos, Subway เปิดสาขาของตนในหลายพื้นที่รวมทั้งไก่ย่างห้าดาวของ บ.ซี.พี. ของไทย ก็จะเข้ามาทำตลาดในเมืองเจนไนในเดือน ตค. 2556 นี้ หลังจากเปิดบริการหลายสาขาในเมืองบังคาลอร์
ในส่วนของธุรกิจอสัหาริมทรัพย์ บ.บ้านพฤกษาของไทยก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ในการมาสร้างบ้านพักอาศัยในเมืองบังคาลอร์ และกำลังมองหาลู่ทางมาสร้างโครงการที่เมืองเจนไน ด้วยเห็นในศักยภาพของตลาด
โดย นายธัชไท ถมังรักษ์สัตว์
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน
24 กันยายน 2556