อินเดียใต้จิ๊กซอว์สุดท้าย AEC
โดย สมเกียรติ บุญศิริ
แนะภาคธุรกิจเร่งเข้าทำการค้าการลงทุนในอินเดียตอนใต้ ชี้พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ขยายตัวสูง ระบุกลุ่มอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภค เหมาะตั้งฐานผลิต ซีพีปักหลักขายไก่ย่างห้าดาว พอใจอัตราการบริโภคเร่งตัวสูง ด้านพฤกษาลุยเจาะตลาดอสังหาริมทรัพย์
"อินเดียใต้" อาจจะไม่ใช่พื้นที่ที่นักลงทุนไทยคุ้นเคย แต่หลังจากนี้ไป พื้นที่ส่วนนี้จะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ ที่ขยายตัวมาจากอินเดียทางเหนือ ตามการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดีย ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมายึดพื้นที่และลงทุนก่อน
"กลุ่มไทยเริ่มลงทุนในอินเดียใต้เพราะว่ามีสภาพอากาศ มีการต้อนรับที่อบอุ่น บริษัทที่ลงทุนแล้วมีการขยายกิจการต่อเนื่องไปภูมิภาคอื่นอๆ ของอินเดีย" พิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี อธิบายถึงการเข้ามาลงทุนในอินเดียช่วงที่ผ่านมา
จุดแข็งของกลุ่มนักลงทุนไทย เขาแยกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มอุตสาหกรรม และสาธารณูปโภค โดยอุตสาหกรรมที่เป็นดาวเด่นที่สุดต้องยกให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เพราะอินเดียกำลังจะผลักดันให้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ใหญ่เป็นอันดับสอง อีกกลุ่มคือธุรกิจบริการ เช่นโรงแรม ที่พักอาศัย อาหาร
ภายใต้การยอมรับและชื่นชอบสินค้า แต่ก็ยังมีปัญหาอุปสรรคที่นักลงทุนต้องพิจารณา โดยเอกชนต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ คือ วีซ่าของคนไทยที่จะมาทำงานในอินเดีย ที่ต้องอำนวยความสะดวกให้นักลงทุน และต้องเจรจาระดับรัฐบาลและการส่งเงินเข้าประกันสังคมที่ไม่คล่องตัว
"หลังจากนี้ AEC จะมีผลอย่างมหาศาลในภูมิภาคนี้ การเชื่อมโยงของไทยด้วยทางหลวงผ่านประเทศต่างๆ จะนำการลงทุนสินค้า ท่องเที่ยวมากขึ้นมากกว่าเดิม อินเดียจะเข้ามาใกล้เรามากขึ้นโดยเฉพาะจุดเชื่อมต่อใหม่ที่เมืองทวายของพม่า จะเป็นจุดเชื่อมรวดเร็ว ประหยัดเวลา การส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกจะเร็วขึ้น เพราะไม่ต้องใช้เส้นทางช่องแคบมะละกา เท่ากับเป็นการเปิดเส้นทางขนส่งเส้นใหม่แอฟริกา ตะวันออกกลาง และยุโรป"
ซีพีปักธงขายไก่ย่างห้าดาว
กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์มีความชัดเจนในเรื่องการลงทุนในต่างประเทศ ในกลุ่มของอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบ การเคลื่อนย้ายการลงทุนไปในภูมิภาคต่างๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากมองกลยุทธ์การควบคุมต้นทุน การเปิดตลาดใหม่ๆ ของกลุ่มนี้
"เจริญโภคภัณฑ์พร้อมที่จะลงในพื้นที่ใหม่ๆ ที่ประเมินแล้วมาว่าศักยภาพเพียงพอ" ปรีดา จุลวงษ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ และกรรมการผู้จัดการเขตอินเดียใต้ อธิบายถึงการเข้าของเครือเจริญโภคภัณฑ์ว่า เริ่มต้นจากอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ โดยเฉพาะไก่เนื้อ
"บริษัทการลงทุนขยายตัวค่อนข้างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาและวางเป้าหมายไว้ว่างจะเติบโต 30% ภายใน 5 ปีข้างหน้า"
สิ่งที่ทำให้ผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่บังกาลอร์มั่นใจ คือ อัตราการบริโภคไก่ของคนอินเดีย ที่อยู่ในอัตราต่ำเฉลี่ยบริโภคคนละ 2.5 กิโลกรัมต่อคน ต่อปี เท่านั้น ในขณะที่คนไทยเองบริโภคคนละ 16 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ภายใน 7 ปีหลังจากนี้ตั้งเป้าหมายเพิ่มอัตราการบริโภคไก่ของคนอินเดียให้มาอยู่ที่ระดับ 5 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
เขาบอกว่า ได้เพิ่มธุรกิจอาหารเข้ามาในอินเดีย ด้วยการนำสินค้าแบรนด์ไก่ 5 ดาว มาจำหน่าย ซึ่งนำสินค้ากลุ่มไก่ย่างและไก่ทอดเข้ามาเปิดตลาด เพราะเป็นอาหารที่คนอินเดียรับประทานอยู่แล้ว โดยเฉพาะไก่ทอดและไก่ย่าง ช่องทางการจำหน่ายจากเดิมที่เป็นเพียงคีออส ก็ปรับเป็นร้านแบบภัตตาคารซึ่งร้านแรกในบังกาลอร์ได้เปิดบริการแล้ว
ซีพีกำหนดเป้าหมายเป็นผู้ผลิตไก่เนื้อในอันดับ 1-2 ในอินเดียภายใน 7 ปี จากที่อยู่ในอันดับ 3 ที่ยอดการผลิต 2.5 ล้านตัวต่อสัปดาห์ โดยอันดับหนึ่งอยู่ที่ 6 ล้านตัวต่อสัปดาห์ อันดับสอง อยู่ที่ 4 ล้านตัวต่อสัปดาห์
"พฤกษา" ลุยตลาดที่อยู่อาศัย
การเลือกลงทุนโครงการที่พักอาศัยในต่างประเทศ เป็นหนึ่งในแผนธุรกิจที่พฤกษา เรียลเอสเตท ประกาศมาล่วงหน้าพร้อมกับเดินหน้าอย่างจริงจัง โดยมีต้นแบบโครงการในมัลดีฟส์ และต่อเนื่องมาที่อินเดียในเมืองบังกาลอร์
รองประธานอาวุโส ฝ่ายต่างประเทศและก่อสร้าง บริษัท พฤกษาเรียล เอสเตท จำกัด บอกว่า พฤกษาเลือกโครงการที่อยู่อาศัยมาเปิดตลาดในอินเดียเป็นบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ เพราะจากการศึกษาตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคในอินเดีย โดยเฉพาะชนชั้นกลางพบว่ามีความต้องการสูงและต้องการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยจากแฟลต อพาร์ทเม้นท์มาเป็นบ้านแนวราบ
"ความต้องการที่พักอาศัยในอินเดียขณะนี้ประมาณ 25 ล้านยูนิต แบ่งเป็นบ้านของคนระดับกลางประมาณ 50% ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการสามารถส่งมอบให้ลูกค้าได้แค่ 9 แสนยูนิต การที่ผู้ประกอบการส่งมอบบ้านได้น้อย มาจากปัญหาของการจัดหาที่ดินเพื่อนำมาพัฒนาโครงการ"
เขาบอกด้วยว่า พฤกษาเข้ามาจับตลาดระดับกลางในราคายูนิตละ 3-8 ล้านรูปี เนื่องจากคู่แข่งในตลาดระดับกลางมีไม่มาก หากขึ้นไปตลาดบนจะมีคู่แข่งรายใหญ่ ทั้งที่เป็นของทุนท้องถิ่น และต่างชาติ ที่เริ่มเข้ามาทำบ้านตลาดบนมากขึ้น
"เราใช้จุดแข็งของพฤกษาคือส่งมอบบ้านให้กับลูกค้าก่อน ที่เมืองไทยเราใช้เวลา 6 เดือน แต่ที่อินเดียเราใช้เวลา 9-10 เดือน โดยใช้ระบบผนังหล่อคอนกรีตที่ไซต์งานใช้แบบหล่ออลูมิเนียม บ้านเสร็จภายใน 6 เดือน แต่ใช้เวลาส่งมอบลูกค้าอีกประมาณ 2 เดือน เพราะลูกค้าที่นี่ค่อนข้างละเอียด"
หลังจากโครงการบ้านเดี่ยวแล้ว พฤกษาเตรียมทำโครงการคอนโดมิเนียมในศูนย์ไอทีที่เมืองบังกาลอร์ และเปิดโครงการใหม่ในเมืองมุมไบ โดยนำรูปแบบของโครงการคอนโดแลตในประเทศไทยไปปรับใช้ พร้อมกับนำระบบก่อสร้าง Precast ไปใช้ก่อสร้างด้วย
Rockworth ชูอินเดียสู่ตลาดโลก
บริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์สำนักงานรายใหญ่ของไทย ก็มุ่งหมายมาที่อินเดียใต้เช่นกัน และน่าจะเป็นโรงงานเฟอร์นิเจอร์ต่างชาติแห่งแรกๆ ของอินเดีย และสินค้าของบริษัทก็ได้รับความนิยม เป็นที่สนใจของลูกค้าที่เข้ามาตั้งบริษัท สำนักงานในอินเดียเป็นอย่างดี
"ตลาดอินเดียใหญ่มากแค่ 1-2% ก็พอแล้ว ตลาดใหญ่กว่าไทยถึง 30 เท่า" ชาคริต วรชาครียนันท์ กรรมการบริหาร บริษัทร็อกเวิธ จำกัด อธิบายถึงความน่าสนใจของตลาดเฟอร์นิเจอร์ของอินเดีย
แน่นอนว่าตลาดใหญ่ขนาดนี้ และเติบโตขึ้นทุกวัน ไม่ใช่แค่กลุ่มทุนไทยจะมองเห็นเท่านั้น คู่แข่งในต่างประเทศก็ประเมินออกเช่นกัน
เขาประเมินว่า ร็อคเวิธพร้อมที่แข่งกับทุนยุโรป อเมริกาอยู่แล้ว แต่การรับมือนั้น ร็อคเวิธวางกลยุทธ์ด้วยการรุกเข้ามาในพื้นที่ก่อน สร้างโรงงาน ผลิตให้เต็มกำลัง และหาโอกาสขยายโรงงานเพื่อรับมือการแข่งขัน
สิ่งที่ร็อคเวิธวางแผนไว้คือ โรงงานที่บังกาลอร์จะผลิตเพื่อตลาดในประเทศไทยเฉพาะทางอินเดียใต้ และเป็นฐานส่งออกไปตะวันออกกลาง ส่วนโรงงานอีกแห่งที่คุชราต รองรับตลาดอินเดียทางเหนือและตลาดแอฟริกา
แนะรายเล็กจับกลุ่มเข้าอินเดีย
คำถามที่เกิดขึ้นเรื่องตลาดในการลงทุนที่อินเดีย กลุ่มทุนไทยที่เข้ามาลงทุนทั้ง 3 บริษัท เห็นตรงกันว่า ต้องเข้ามาแบบนักลงทุนรายใหญ่ มีเงินลงทุน ธุรกิจชัดเจน และพร้อมที่จะผลิตเพื่อขายตลาดทั้งประเทศ
ปัญหาภาษาที่มีหลากหลายเป็นอย่างมากแค่เพียงข้ามรัฐ ภาษาก็แตกต่างกัน ทำให้สื่อสารได้ลำบาก และวัฒนธรรมของคนอินเดียที่แตกต่างกับไทยหลายเรื่อง นักลงทุนต้องปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบของคนอินเดีย ปัญหาการทุจริตในระบบราชการที่เหมือนกันทุกประเทศทั่วโลก แต่อินเดียก็พยายามแก้ไขให้ลดน้อยลง
การมาลงทุนในอินเดีย นักลงทุจไทยในพื้นที่ให้ข้อแนะนำว่า รายเล็กควรจะจับกลุ่มกันมา โดยมาแบบอุตสาหกรรมต่อเนื่องและครบวงจร เพื่อจะได้มีอำนาจต่อรองกับหน่วยงานของแต่ละรัฐ คู่ค้าในพื้นที่
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556