เจ้าของไร่ชาดาร์จิลิ่งเผย ไทยพร้อมปลูกชาคุณภาพแต่ยังขาดแนวทางที่ถูกต้อง
เจ้าของโรงงานผลิตชาแห่งแรกของโลกในเขตดาร์จิลิ่ง ของรัฐเบงกอลตะวันตกในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออินเดีย เผยกับทูตไทยระหว่างเป็นเจ้าภาพพาเยี่ยมชมโรงงานและไร่ชากลางหุบเขาว่า ไทยมีศักยภาพและความพร้อมทั้งภูมิประเทศและอากาศที่เอื้อต่อการปลูกชาให้ได้ดีและมีคุณภาพมากกว่าดาร์จิลิ่ง
Thaiindia.net ติดตามทูตไทยประจำอินเดีย ไปศึกษาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนาย Swaraj Kumar Banerjee หรือ Rajah Banerjee เจ้าของไร่ชาและโรงงานผลิตชา Makaibari ที่เป็นโรงงานผลิตชาแห่งแรกของโลก ในเมือง Kurseong เขตดาร์จิลิ่งของอินเดีย ระหว่าง 30 กันยายน – 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ถือเป็นการเปิดโลกทรรศน์การผลิตชาที่พิถีพิถันและมีคุณภาพ จากไร่และโรงงานที่ซ่อนอยู่ในหุบเขาอันงดงามในเขตตากอากาศ Darjeeling อันเลื่องชื่อตั้งแต่ครั้งจักรวรรดิอังกฤษปกครองอินเดีย
ชาดาร์จิลิ่ง ชาคุณภาพคับแก้ว
อินเดียเป็นหนึ่งใน 69 ประเทศในโลกที่เป็นผู้ผลิตชา ลำพังการบริโภคชาในอินเดียก็มหาศาลเพราะวัฒนธรรมการดื่มชา หรือที่เรียกในภาษาฮินดีว่า จัย (Chai) ก็ฝังรากลึก แทบจะเรียกว่าอยู่ในดีเอ็นเอของคนอินเดียกว่าพันสองร้อยล้านคน ชาชั้นดีของอินเดียจากไร่ชา (Tea Estate) ในแหล่งสำคัญตามภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ยังถูกส่งออกไปตีตราเป็นยี่ห้อชื่อดังในยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
ไร่ Makaibari ที่ก่อตั้งตั้งแต่ปี ค.ศ. 1859 โดยตระกูล Banerjee แตกต่างจาก Tea Estate แหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะปรัชญาในการผลิตที่คำนึงถึงคุณภาพของชาที่ผลิตในเขตที่ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติมีจำกัด Makaibari ภายใต้การนำของ Rajah Banerjee ใช้วิธีการผลิตแบบธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี (Organic) และคำนึงถึงสมดุลในการรักษาระบบนิเวศรวมถึงความสัมพันธ์กับชุมชน (Holistic)
คุณภาพเป็นเอกลักษณ์สำคัญของชาดาร์จิลิ่งที่ทำให้โดดเด่นจากชาทั้งในอินเดียเองหรือในทวีปอื่นๆ การผลิตชามีการควบคุมและศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพอย่างรอบคอบและสม่ำเสมอ เพราะผืนดินของดาร์จิลิ่งมีความสมบูรณ์น้อยกว่าผืนดินในแหล่งชาชื่อดังอีกแห่งของอินเดียอย่างอัสสัม กล่าวกันว่า หน้าดินของอัสสัมมีแร่ธาตุเหมาะกับการปลูกชาลึกลงไปถึง 10 นิ้ว ในขณะที่ดาร์จิลิ่งมีเพียง ½ นิ้ว ผู้ผลิตชาในดาร์จิลิ่งจึงต้องใช้ความพยายามเยอะกว่าและให้ความสำคัญกับคุณภาพชา ไม่เหมือนกับผู้ผลิตชาในพื้นที่อันอุดมอย่างอัสสัม ที่สามารถผลิตชาปริมาณมากๆ ป้อนตลาดอินเดียได้ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าชาอัสสัมจึงแพร่หลายมากกว่า และมักจะเป็นชาที่ใช้ในการชง "จัย" หรือ Masala Tea ที่เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของอินเดีย
สมดุลธรรมชาติ สูตรลับของชาดาร์จิลิ่ง
ที่ตั้งของโรงงานชา Makaibari อยู่ที่เมือง Kurseong ในเขตดาร์จิลิ่ง (Darjeeling District) ของรัฐเบงกอลตะวันตก เมืองนี้อยู่ห่างจากเมือง Darjeeling ที่เป็นเมืองหลวงของเขต 32 กิโลเมตร ซึ่งใช้เวลาเดินทาง 1.5 ชั่วโมงทางรถยนต์ Kurseong อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 4,000 ฟุต ซึ่งต่ำกว่าเมืองดาร์จิลิ่งที่อยู่สูง 7,000 ฟุต ไร่ชา Makaibari มีพื้นที่ของไร่มากกว่า 1,672 เอเคอร์ ในขณะที่พื้นที่ปลูกชามีเพียง 550 เอเคอร์เท่านั้น
สัดส่วนการใช้พื้นที่ปลูกชาของ Makaibari จึงสะท้อนปรัชญาการทำการเกษตรที่เน้นคุณภาพเป็นเรื่องหลัก Makaibari ใช้พลังงานชีวภาพในการอบใบชา ต่างจากที่อื่นๆ ที่ใช้ถ่านหินและแก๊ซ ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมีเป็นสิ่งต้องห้ามในไร่ เพราะกลไกธรรมชาติของสัตว์และแมลงนานาชนิดที่อยู่ร่วมกันจะช่วยสร้างสมดุลให้ชาเติบโตตามธรรมชาติอย่างมีคุณภาพ
นอกจากจะเป็นไร่ชาแล้ว Makaibari จึงเป็นเสมือนห้องทดลองระบบนิเวศชั้นเลิศ ที่นักวิจัยและนักชีววิทยาจากต่างประเทศขอมาลงพื้นที่ทำการวิจัยศึกษาธรรมชาติที่นี่ โดยเมื่อปี ค.ศ. 1991 ได้มีการค้นพบแมลงพันธุ์พิเศษที่หาได้เฉพาะที่นี่ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Phasmoptera หรือชื่อเล่น Tea Deva ซึ่งแปลได้ว่า เทพแห่งชา และมีคติเชื่อว่าเป็นแมลงศักดิ์สิทธิ์
หลักการสร้างความสมดุลทางธรรมชาติตามแบบฉบับของนาย Banerjee ประกอบไปด้วย 6 ส่วนสำคัญได้แก่ ป่าที่อุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยพรรณไม้นานาและสัตว์น้อยใหญ่รวมถึงเสือที่อาศัยอยู่ร่วมกับไร่ชาและชุมชนอย่างสันติ ต้นไม้สูงที่ปลูกคั่นกับแปลงพุ่มชาเป็นระยะเพื่อให้ร่มเงา ต้นไม้ขนาดกลางนานาชนิดทั้งตะไคร้และกาแฟที่ปลูกรอบๆ แปลง เพื่อใช้เป็นพืชไล่แมลงไม่พึงประสงค์ หญ้าและไม้เลื้อยคลุมดิน พุ่มชา และสุดท้าย คือวิธีการทางชีวภาพที่ชาวไร่ทำเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของหน้าดินและช่วยเพิ่มแร่ธาตุในดินสำหรับการเติบโตของต้นชา
ต้นชาที่นี่จึงไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีหรือการรดน้ำ เพราะ Makaibari ใช้เทคนิคด้วยฝีมือมนุษย์ในกระบวนการรักษาสมดุลที่เรียกว่า Mulching คือการตัดส่วนต่างๆ ของพืชและวัชพืชมาคลุมดินเพื่อรักษาความชุ่มชื้นและเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดี
สัมพันธ์แบบเครือญาติ ซื้อใจแรงงานชุมชน
เมื่อยอดชา Makaibari แตกหน่อสีเขียวอ่อนสะพรั่ง แรงงานสตรีก็แบกกระบุงออกไปเด็ดยอดชาอ่อนๆ ในพื้นที่ของไร่ โดยไม่ใช้เครื่องจักรใดๆ ในการเก็บเกี่ยว
คนงานในไร่ Makaibari มีจำนวนทั้งหมด 650 คน อายุระหว่าง 18-60 ปี หลายคนทำงานกับนาย Banerjee มามากว่า 30 ปี และชำนาญกระบวนการผลิตชาที่ละเอียดอ่อน Makaibari ยังมีกิจการ homestay ให้ชาวต่างชาติมาพักอาศัยและสัมผัสบรรยากาศไร่ชา หลายคนตัดสินใจอยู่ต่อและเป็นอาสาสมัครดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ของชุมชนรอบๆ ที่ทำงานให้ Makaibari ที่นี่ ทุกคนไม่ใช่ลูกจ้างของนายจ้าง แต่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและครอบครัวที่ผูกพันกัน
เทคนิคพิเศษ ผลิตชานานาประเภท
หลังเสร็จสิ้นกระบวนการผลิตในโรงงานที่ประกอบด้วย การตากใบชา การบ่ม (Fermentation) การอบโดยใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biomass) และการคัดแยกเพื่อให้ได้ใบชาหลายขนาด ก็จะได้ชาหลากหลายประเภทสำหรับการบริโภคและเหมาะกับบรรจุภัณฑ์ต่างประเภท
เทคนิคเหล่านี้ เปลี่ยนและเพิ่มมูลค่าให้ใบชาที่เก็บได้จากต้นกำเนิดเดียวกันในไร่กลายเป็นชาประเภทต่างๆ ทั้งชาดำ ชาเขียว ชาขาว ผู้ผลิตอื่นๆ อาจจะแต่งเสริมเติมรสเข้าไปในใบชาเพื่อเพิ่มมูลค่าและความหลากหลาย ทั้งกลิ่นมะลิให้ได้ชามะลิ หรือน้ำมันมะกรูด (Bergamot) เพื่อให้ได้ชาที่รู้จักกันแพร่หลายอย่างชา Earl Grey
Makaibari ผลิตชาต้นตำรับหลักๆ 6 ประเภท คือ
1) First Flush ผลิตจากหน่อชาที่แตกยอดในต้นฤดูใบไม้ผลิตหลังฤดูหนาวจบสิ้น ซึ่งคือยอดชาที่เก็บเกี่ยวในช่วงกลางมีนาคมจนถึงกลางเมษายน เราจะเห็นได้จากใบชาที่ชงแล้วว่ามีสีเขียวอ่อนๆ เจือปน เพราะเป็นใบชาที่เก็บจากยอดอ่อนๆ ของชาในฤดูใบไม้ผลิตอันสดใส
2) Muscatel หรือ Second Flush ผลิตจากยอดชาที่ถูกเก็บเกี่ยวหลังช่วงการผลิต First Flush เป็นชาที่แตกยอดเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนแล้ว ชาที่ชงออกมาจะมีรสชาติเข้มข้น เมื่อสังเกต จะเห็นว่าใบชาที่ชงแล้วมีสีออกแดง
3) Darj-oolong หรือชาอู่หลง ที่ใช้วิธี Semi-fermentation คือ ระยะเวลาการบ่มสั้นกว่าชาสองประเภทแรก ใช้แรงคนในการบดใบชาด้วยเท้า ชาจึงมีรสชาติเข้มข้น และมีใบสมบูรณ์เพราะไม่ใช้เครื่องจักรในการผลิต
4) Silver Green หรือชาเขียว ที่ใช้การอบใบชาแทนการบ่ม (fermentation) เพื่อรักษาสารสำคัญที่มีในใบไม้คือคลอโรฟิลล์ให้คงอยู่
5) Bai-mu-Dan (White Tea) หรือชาขาว ที่ใช้วิธีการคั่ว (pan-firing) หลังจากเก็บเกี่ยวยอดชามาแล้ว ใบชาจึงมีสภาพสมบูรณ์ที่สุด ชาขาวจึงมีราคาสูง
6) Silver Tips Imperial ซึ่งเป็นชาทำมือ สูตรเฉพาะและเป็นลิขสิทธิ์ของไร่ Makaibari ผลิตจากยอดชาที่เก็บเกี่ยวในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง และไม่ใช้เครื่องจักรใดๆ ในกระบวนการผลิต
ต่างประเทศการันตีคุณภาพ
เอกลักษณ์ของชาดาร์จิลิ่งโดยเฉพาะของไร่ Makaibari จึงเป็นเรื่องคุณภาพและกระบวนการผลิตที่ไม่เน้นปริมาณ สายพันธุ์ชาที่ได้มาจากจีน ไม่ใช่ชาจากอัสสัม ทำให้ได้ชาที่มีคุณภาพและราคาสูงกว่าคู่แข่งอย่างชาอัสสัม คือ 10 ยูโรต่อกิโลกรัม เทียบกับ 3 ยูโรต่อกิโลกรัม แถม Makaibari ยังให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนาคุณภาพ เพราะไปจับมือกับสถาบันวิจัยชาท้องถิ่น พัฒนาสายพันธุ์ชากว่า 21 สาย และใช้เทคนิคในการปลูกเพื่อคงความหลากหลายของสายพันธุ์เหล่านี้ไว้ด้วย
ต่างประเทศจึงการันตีกระบวนการผลิตชาที่นี่ Makaibari เป็นหนึ่งในไร่ชาแห่งแรกๆ ที่ได้รับการรับรองคุณภาพด้วยตรา Fairtrade คือ การกระจายรายได้จากการขายสินค้าอย่างเป็นธรรม จากผู้ซื้อไปสู่ผู้ผลิต โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง นอกจากนี้ ก็ยังได้รับการรับรองจาก Japan Agricultural Standard (JAS) ของญี่ปุ่น
ลูกค้าชา Makaibari ที่มีมากในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น สามารถสั่งซื้อชาได้โดยตรงทางออนไลน์ จากเว็บไซต์ของไร่ที่มีทั้งภาษาอังกฤษและญี่ปุ่น นาย Banerjee ยังก่อตั้งบริษัท Hampstead Tea ที่กรุงลอนดอน เป็นตัวแทนตรงในการจำหน่ายชา Makaibari ในอังกฤษ
ชาไทยมีโอกาสไกลกว่าชาดาร์จิลิ่ง
นาย Banerjee ให้ความเห็นว่า การผลิตชาไทยที่มีอยู่มากในภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายนั้น ยังมีแนวทางและวิธีการปลูกรวมถึงผลิตที่ยังไม่ถูกต้อง ทั้งๆ ที่พื้นที่ปลูกชาของไทยมีความพร้อม อุดมสมบูรณ์ทั้งภูมิประเทศและสภาพอากาศมากกว่าดาร์จิลิ่ง
ไทยยังมีความบริสุทธิ์และมีความสมดุลทางธรรมชาติและระบบนิเวศอยู่อีกมาก การเกษตรแนวทางธรรมชาติของนาย Banerjee น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ผู้ผลิตและเกษตรกรชาของไทยนำไปปรับใช้ เพราะไม่เพียงแต่จะยกระดับคุณภาพของชาที่ผลิตได้เท่านั้น แต่ยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมที่เป็นต้นทุนต้องใช้ในการผลิต เป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่เกษตรกรไทยน่าศึกษาและนำไปประยุกต์ใช้
รายงาน: คณิน บุญญะโสภัต
ภาพ: ประพันธ์ สามพายวรกิจ