กระทรวงการต่างประเทศสำรวจรัฐอัสสัม เตรียมเส้นทางเชื่อมโยงไทย-อินเดีย
เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศส่งคณะผู้แทนไปสำรวจพื้นที่ภาคอีสานของอินเดีย เพื่อศึกษาความพร้อมของอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือในการเป็นสะพานเชื่อด้านการค้าการลงทุน ระหว่างอินเดียกับอาเซียน
ในการเดินทางครั้งนี้ คณะซึ่งนำโดยรองอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา นางศริกานต์ พลมณี รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ นางรัตติกุล จันทร์สุริยา อัครราชทูตประจำสถานทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่กรมเอเชียใต้ฯ ตลอดจนผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ได้ลงพื้นที่รัฐอัสสัม ซึ่งหนึ่งใน 8 รัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียที่เป็นประตูสู่อินเดียแผ่นดินใหญ่ที่สำคัญ
โดยในระหว่างการเยือนเมืองกูวาฮาติ เมืองหลวงของรัฐอัสสัม ซึ่งเป็นรัฐที่มีขนาดใหญ่และมีประชากรมากที่สุดในภาคอีสานอินเดีย (ประมาณ 30 ล้านคน) และถือเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาค คณะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากรัฐบาลอัสสัม โดยได้รับอนุญาตให้เข้าพบหารือกับนาย Jitesh Khosla ปลัดประจำสำนักงานมุขมนตรี (Chief Secretary) ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงสุดของรัฐ โดยมีผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอย่างพร้อมหน้า
นาย Khosla กล่าวว่า “อินเดียมีนโยบายมุ่งตะวันออก (Look East Policy) และต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐอัสสัมมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่ง (critically placed) และสามารถส่งเสริมนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลกลางอินเดียได้ดี”
ด้านรองอธิบดีกรมเอเชียใต้ฯ กล่าวว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเป็นภูมิภาคที่คนไทยคุ้นเคย มีความสำคัญ และมีความเชื่อมโยงกับประเทศไทย โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และศาสนาพุทธ โดยชาวไทอาหมซึ่งอพยพมาจากจีน ผ่านภาคเหนือของไทยและมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในรัฐอัสสัม จึงควรอาศัยความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในมิติอื่นๆ
ด้านการค้าและการลงทุน ผู้แทนระดับสูงจากกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมรัฐอัสสัมกล่าวว่า สาขาที่รัฐอัสสัมต้องการการลงทุนจากต่างประเทศในขณะนี้ ได้แก่ พลังงาน การปรับปรุงสนามบิน โรงแรม การท่องเที่ยว โดยในเรื่องพลังงาน รัฐอัสสัมให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด (Green Energy) พลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการพลังงานน้ำ ส่วนการแปรรูปอาหาร (food processing) ก็เป็นอีกสาขาที่ต้องการให้นักลงทุนไทยพิจารณาเข้ามาลงทุน นอกจากนี้ สาขาอื่นๆ ที่มีศักยภาพ ได้แก่ การทำผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ การพัฒนา / ปรับปรุงถนน และทางหลวง (highway)
ปลัดรัฐอัสสมกล่าวเสริมว่า การปลูกผักปลอดสารพิษ (organic farming) และอุตสาหกรรมยา (pharmaceutical industries) เป็นสาขาที่กำลังเติบโตในอัสสัม ในด้านพลังงาน รัฐอัสสัมมีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่ยังขาดแคลนเทคโนโลยีการผลิต จึงยังไม่สามารถนำออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ทำให้ยังคงประสบภาวะขาดแคลนพลังงานอยู่
อัครราชทูตสุนทรฯ ให้ข้อมูลกับฝ่ายรัฐอัสสัมว่า ปัจจุบันการค้าไทย – อินเดีย มีมูลค่าประมาณ 8 พันล้าน USD ไทยส่งออกไปอินเดียประมาณ 5 พันล้าน USD และนำเข้าประมาณ 3 พันล้าน USD ทั้งสองประเทศอยู่ระหว่างจัดทำ FTA สินค้าส่งออกส่วนใหญ่จากไทยไปอินเดีย ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม แต่ยังมีโอกาสในการขยายตัวได้อีกมาก การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคน จะทำให้อาเซียนเป็นตลาดใหญ่และเป็นโอกาสทางการค้าของรัฐอัสสัมด้วย เพราะสินค้าที่ส่งออกมาประเทศหนึ่ง จะสามารถเข้าอีก 9 ประเทศได้โดยไม่มีอัตราภาษีระหว่างกัน
นาย Khosla ชี้แจงว่า รัฐบาลกลางมีนโยบายที่ชัดเจนด้านการรับการลงทุนจากต่างชาติ เฉพาะในสาขาที่กำหนดไว้ โดยมีการจำกัดสัดส่วนการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งหากนักลงทุนต่างชาติรายใดประสงค์ได้รับการยกเว้นข้อจำกัดดังกล่าว จะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ (Foreign Investment Promotion Board: FIPB) ก่อน จึงจะสามารถลงทุนในสาขาดังกล่าวได้ ยกเว้นในสาขาที่สามารถลงทุนได้โดยอัตโนมัติ
สำหรับการลงทุนของต่างชาติในรัฐอัสสัม ปลัดรัฐอัสสัมแจ้งว่า ปัจจุบัน นักลงทุนส่วนใหญ่ในรัฐอัสสัมมาจากทวีปยุโรป (ลงทุนด้านพลังงานน้ำมันและก๊าซ) และจากญี่ปุ่น ยังไม่มีนักลงทุนจากไทยเข้ามาลงทุน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมพลาสติกและโพลีเมอร์ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตก๊าซธรรมชาติ ก็เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ เช่นเดียวกับการพัฒนาทางหลวงชนบทที่เปิดรับการลงทุนเช่นเดียวกัน โดยอาจกระทำได้ 3 ลักษณะ คือ 1) ลงทุนเพื่อพัฒนาถนน 2) ลงทุนในธนาคารวัสดุอุปกรณ์ และ 3) ลงทุนเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถ (capacity building) ในด้านการก่อสร้างถนน
การก่อสร้างอาคารบ้านเรือนกำลังมีให้เห็นเกลื่อนกลาดในกูวาฮาติ
คณะผู้แทนไทยได้แจ้งให้รัฐอัสสัมทราบว่า ปัจจุบัน มีเอกชนไทยรายใหญ่หลายรายมาลงทุนแล้วในอินเดีย ในสาขาที่น่าจะมีศักยภาพในอัสสัม ไม่ว่าจะเป็น บริษัท Italian-Thai Development (ITD) ที่รับก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่นท่าอากาศยาน และมีประสบการณ์รับเหมาก่อสร้างเขื่อนในรัฐหิมาจัลประเทศ และสนามบินที่กัลกัตตาด้วย รวมถึงบริษัท CP เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ด้านการแปรรูปอาหารในอินเดีย โดยเฉพาะเนื้อไก่และสัตว์น้ำ และบริษัทศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ซึ่งลงทุนในด้านอุตสาหกรรมพลาสติก และกำลังจะตั้งโรงงานผลิตภัณฑ์เมลามีนในรัฐคุชราต
สภาพถนน AH1 ที่กำลังได้รับการพัฒนา
เมื่อได้รับการสอบถามถึงความพร้อมของรัฐอัสสัมในการเชื่อมโยงทางถนนกับอาเซียน ผู้แทนจาก Infrastructure, National Highway และ Rural Roads Development กล่าวว่า รัฐอัสสัมเป็นศูนย์กลางด้านความเชื่อมโยงไปสู่ภูมิภาคอาเซียน ผ่านทาง Asian Highway 1 (AH1) โดยเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างรัฐอัสสัมถึงเมียนมาร์นั้น ส่วนใหญ่ได้ก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว เหลือเพียงบริเวณจุดเชื่อมต่อโคฮิมา – อิมผาล (Kohima – Imphal) ระหว่างรัฐนาคาแลนด์และรัฐมณีปุระเท่านั้นที่ยังต้องได้รับการพัฒน ทั้งนี้ ทางหลวงในภาคอีสานของอินเดียที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนานั้น มีระยะทางรวมกันกว่า 3,000 กม. จึงมีศักยภาพในการเปิดรับการลงทุน โดยไม่จำกัดว่า ผู้ลงทุนจะต้องเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน
การท่องเที่ยวยังเป็นอีกสาขาหนึ่งที่รัฐอัสสัมมีศักยภพาและต้องการส่งเสริมในกลุ่มนักเดินทางต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยว นาย V S Bhaskar กล่าว่า รัฐอัสสัมเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวของภาคอีสานของอินเดีย และมีสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก 2 แห่ง (Kaziranga Wildlife Sanctuary และ Manas Wildlife Sanctuary) รัฐบาลรัฐอัสสัมต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เชิงผจญภัย และเชิงศาสนา (พุทธและฮินดู) รัฐอัสสัมมีวัดพุทธหลายแห่ง เช่น วัดไทนำผาเก (Namphakey) ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยเสด็จฯ ในปี 2552 รวมทั้งการท่องเที่ยวร่วมกับกิจกรรมตีกอล์ฟ (Golf tourism) โดยปัจจุบันรัฐอัสสัมมีสนามกอล์ฟที่ได้มาตรฐานหลายแห่ง
การท่องเที่ยวชมแรดนอเดียวเป็นกิจกรรมสุดฮิตของนักท่องเที่ยวตะวันตก
สำหรับโอกาสการลงทุนในสาขาท่องเที่ยวนั้น รัฐบาลรัฐอัสสัมมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) และประสงค์จะร่วมมือกับไทยเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวของรัฐ อาทิ ในด้านการโรงแรม การท่องเที่ยวเพื่อแสวงบุญพระพุทธศาสนา เส้นทาง อัสสัม – อรุณาจัลประเทศ (Assam – Arunachal Pradesh Buddhist Circuit) การท่องเที่ยวเส้นทางสนามกอล์ฟ (Golf Circuit) และการท่องเที่ยวเส้นทางสายมรดกชา (Tea Heritage Circuit) รวมทั้งต้องการการสนับสนุนจากไทย เพื่อฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวของรัฐอัสสัมด้วย
นาย Anurag Singh ผู้จัดการใหญ่ การท่องเที่ยวอัสสัม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นักท่องเที่ยวในรัฐอัสสัม 3 อันดับแรกมาจากทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ยังไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวไทยมากนัก ส่วนเรื่องการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน (PPP) นั้น อาจทำได้หลายลักษณะ เช่น การลงทุนร่วม (joint venture) หรือการทำข้อตกลงสัมปทาน (concession agreements) เป็นระยะเวลา 20 – 30 ปี แล้วแต่ประเภทของกิจการ ซึ่งหากไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบนโยบาย ก็สามารถตกลงกันได้อย่างเสรี
ทั้งนี้ ฝ่ายไทยโดยสำนักงาน สพร. ได้เสนอให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในการอบรมพัฒนาบุคลากรการท่องเที่ยว ผ่ายการประสานงานกับสถานทูตไทย หรือ สำนักงาน ททท. ประจำกรุงนิวเดลี ซึ่งดูแลภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทยยังได้มีโอกาสพบปะกับผู้แทนสภาหอการค้าอัสสัม (Assam Chamber of Commerce - ACC) โดยได้หารือกับนาย Rupam Goswami ประธาน ACC และสมาชิก โดยได้แลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับศักยภาพทางเศรษฐกิจและโอกาสทางธุรกิจของไทยในรัฐอัสสัม ACC ย้ำถึงความสำคัญของความเชื่อมโยงทางอากาศ โดยเสนอให้ บ.การบินไทยขยายเส้นทางบินมายังเมืองกูวา-ฮาติ (เมืองหลวงของรัฐอัสสัม)
คณะฯ แจ้งว่า ฝ่ายไทยกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะเปิดเส้นทางบิน กรุงเทพฯ - มัณฑะเลย์ - กูวาฮาติ / อิมผาล เพื่อให้กลุ่มลูกค้าหลากหลายมากขึ้น และเพื่อความคุ้มทุน รวมทั้งได้แจ้งความคืบหน้าของโครงการถนนสามฝ่าย ไทย - เมียนมาร์ - อินเดีย ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการส่งเสริมความเชื่อมโรงระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้กับอาเซียน รวมทั้งการพัฒนาโครงข่ายรถไฟและการขนส่งทางเรือในภูมิภาค นอกจากนี้ ACC ยังเสนอแนะให้ไทยพิจารณาจัดตั้ง Thailand Information Centre ที่เมืองกูวาฮาติเพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับประเทศไทย
ทั้งนี้ คณะผู้แทนไทยได้ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐอัสสัมมีความเชื่อมโยง ผูกพันด้านเชื้อชาติและวัฒนธรรมกับไทยมายาวนาน กอปรกับมีที่ตั้งที่ค่อนมาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ชาวอัสสัมส่วนใหญ่รู้สึกคุ้นเคยใกล้ชิดกับไทย รู้จักประเทศไทยเป็นอย่างดี ชื่นชอบสินค้าไทยมาก และต้องการเรียนรู้ประสบการณ์จากไทย โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว
โดย กองเอเชียใต้
กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา
กระทรวงการต่างประเทศ
18 มิถุนายน 2557