ไม้กฤษณา การลงทุนที่น่าจับตาในทุกฝีก้าว
เมื่อวันที่ 22 กรกฏาคม พ.ศ.2557 บริษัท Asia Plantation Capital จากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งส่วนหนึ่งได้มีการลงทุนในประเทศไทย ได้ประกาศความร่วมมือเชิงพาณิชย์กับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดในอินเดียที่ทำธุรกิจไม้กฤษณา ชื่อว่า Vanadurgi AgarWood India ข่าวนี้ชวนให้หันกลับมาทำความรู้จักกับไม้กฤษณา เพราะราคาขายที่กิโลกรัมละ 100,000-200,000 บาท นั้นคงไม่ใช่เรื่องธรรมดาสำหรับผลผลิตจากธรรมชาติประเภทนี้
ไม้กฤษณา มีชื่อเรียกหลากหลายในภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น Agarwood, Aloeswood, Eagle Wood, Gaharu หรือ Oud ล้วนแล้วแต่เป็นไม้พันธุ์เดียวกัน ซึ่งมีความสำคัญมาตั้งแต่โบราณกาล ไม้กฤษณา มีต้นกำเนิดจากเนินเขา บริเวณป่าในรัฐอัสสัม ของประเทศอินเดีย
ตามความเชื่อของชาวฮินดูไม้กฤษณามีความเกี่ยวพันกับพระกฤษณะมหาเทพ ในศาสนาอิสลามก็มีการใช้ไม้กฤษณาในการประกอบพิธีฮัจน์อันศักดิ์สิทธิ์ ที่ประเทศญี่ปุ่นใช้ลำต้นของไม้กฤษณามาแกะสลักเป็นรูปเคารพของเทพเจ้าตามวัดต่างๆ และสิ่งสำคัญที่ทำให้ไม้กฤษณามีราคาแพง คือ น้ำมันระเหย หรือชัน หรือยาง ที่แทรกอยู่ในเนื้อไม้ ซึ่งมีกลิ่นหอมมากและสกัดได้ยากเป็นเหตุให้ไม้กฤษณามีคุณค่าในทุกอณูของลำต้นก็ว่าได้ หากลงทุนปลูกไม้กฤษณาสัก 10-12 ปี แล้วได้เงินกลับมาเป็นหลักล้าน ก็นับว่าเป็นการลงทุนที่เห็นผลตอบแทนคุ้มค่ากับเวลา
ความน่าสนใจของความร่วมมือเชิงพาณิชย์ระหว่างบริษัท Asia Plantation Capital และบริษัท Vanadurgi AgarWood India คือ การลงทุนทางธุรกิจที่ข้ามพ้นพรมแดนประเทศ หรือพูดให้เห็นภาพ ก็คือการสร้างเงินให้งอกเงยบนผืนดินของเพื่อนบ้านโดยบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Vanadurgi AgarWood India ซึ่งดำเนินธุรกิจในรูปแบบสหกรณ์-ผู้ถือหุ้น มีวิสัยทัศน์ในดำเนินงานที่น่าศึกษา เริ่มจากเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว บริษัทได้นำเมล็ดพันธุ์กฤษณาไปมอบให้เกษตรกรทางตอนใต้ของอินเดียได้ทดลองปลูกบนที่ดินของตัวเอง จนกระทั่งทุกวันนี้ได้มีการขยายพื้นที่ปลูกต้นกฤษณาไปกว่า 5,000 แห่ง กระจายอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดียโดยมีพื้นที่เพาะปลูกหลักที่เมือง Sringeri รัฐกรณาฏกะ
การขยายพื้นที่ปลูกเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของไม้กฤษณา บริษัทเล็งเห็นความสำคัญของกระบวนการที่รองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน มีการสร้างสถานีวิจัยทางการเกษตร แผนกปลูกเชื้อเทียม ฝ่ายคลังสินค้า ศูนย์บรรจุหีบห่อ และจัดส่งสินค้า อีกทั้งยังมีแผนก่อตั้งโรงงานสกัดไม้เรซิ่นที่ได้มาตรฐาน และมีแผนกแปรรูปพื้นฐานในปริมาณมากและในอนาคตอันใกล้บริษัทยังมีแผนรองรับกระบวนการแปรรูปพื้นฐานครบวงจร ที่เมือง Madikeri, Sakaleshpur, Shimoga, Sirsi, Putturและ Kollur (ในรัฐกรณาฏกะ) รวมถึงศูนย์จัดเก็บผลผลิตในเมือง Coimbatore (รัฐทมิฬนาฑู) และเมือง Kalpetta (รัฐเกรละ)
ในแถบบ้านเรา บริษัทที่เอาจริงเอาจังกับธุรกิจการปลูกไม้กฤษณา คือ บริษัท Asia Plantation Capital จากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเจ้าของและดำเนินการเพาะปลูกและฟาร์มเชิงพาณิชย์อันหลากหลายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก โดยอาศัยหลักการทำงานร่วมกับเกษตรกรท้องถิ่น และนำผลผลิตที่ได้ไปแปรรูปออกสู่ตลาดเพื่อส่งเสริมการใช้ไม้ที่มีการรับรองว่าปลูกจากฟาร์ม เพื่อลดการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า
หลังจากที่นายธรรมเมนทรา กุมาร์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Vanadurgi AgarWood India ได้มาเยือนประเทศไทย และประเทศใกล้เคียงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการทำไร่กฤษณาเชิงพาณิชย์ นายธรรมเมนทรา ได้เลือกบริษัท Asia Plantation Capital เป็นพันธมิตรร่วมกันพัฒนาการผลิตและแปรรูปไม้กฤษณาเพื่อให้มีผลผลิตที่ดียิ่งขึ้น ตอบสนองความต้องการของตลาดที่ยังมีมูลค่าอีกมหาศาล
หลังจากที่มีการทดลองปลูกเชื้อภาคสนาม ซึ่งสามารถกระตุ้นการผลิตเรซิ่นในไม้กฤษณา ที่ให้ผลเทียบได้กับน้ำมันกฤษณาจากธรรมชาติ และเป็นเกษตรอินทรีย์ 100% ทั้ง 2 บริษัทจึงพัฒนาความร่วมมือไปสู่ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการแปรรูป การกลั่น และการพัฒนาผลิตภัณฑ์การทำตลาด และรวมตัวกันเป็นผู้ผลิตและ จัดจำหน่ายไม้กฤษณารายใหญ่ที่สุดในโลก โดยจุดแข็งของ Asia Plantation Capital ที่ทำให้ Vanadurgi AgarWood India จับมือเป็นพันธมิตรหลัก คือศักยภาพในการสร้างเครือข่ายซัพพลายเออร์ และเกษตรกรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
สำหรับประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกไม้กฤษณาในแถบจังหวัดภาคใต้ โดยปลูกมากที่สุด ในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง พัทลุง กระบี่ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี โดยมีการรวมกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกไม้กฤษณา ชื่อ กลุ่มเกษตรกรรักษ์ไม้กฤษณาภาคใต้ และยังมีอีกหลายๆ กลุ่มกระจายอยู่ในประเทศไทย
ไม้กฤษณาเป็นที่ต้องการมากในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศแถบตะวันออกกลาง ประเทศจีน และญี่ปุ่น คิดดูเถิดว่า แค่กิ่งของไม้กฤษณาที่มีรูปทรงสวยงาม ยังมีเศรษฐีในตะวันออกกลางซื้อไว้ประดับบ้านในราคาถึง 200,000 บาท ซึ่งภูมิอากาศ และภูมิประเทศบ้านเราเอื้อต่อการผลิตไม้กฤษณาคุณภาพสูง คงจะดีไม่น้อยหากมีการร่วมมือพัฒนาธุรกิจไม้กฤษณาอย่างจริงจัง ครบวงจร โดยภาครัฐและภาคเอกชน ทุกฝ่ายได้ผลตอบแทนที่เป็นธรรม โดยศึกษาวิสัยทัศน์การทำงานของยักษ์ใหญ่ 2 ค่ายนี้เป็นแนวทาง
วันหนึ่งข้างหน้า ประเทศไทยอาจจะกลายเป็นแหล่งผลิตและแปรรูปไม้กฤษณารายใหญ่ที่สุดในโลกก็เป็นได้
สุทธิมา เสืองาม
รายงานจากเมืองเจนไน
30 กรกฏาคม 2557