หิวๆ กับอาหารแฟรนไชส์ในอินเดีย
เมื่อได้มีโอกาสไปเดินห้างสรรพสินค้าชั้นนำในมุมไบ อย่างเช่น High Street Phoenix หรือ Oberoi Mall จะพบว่าธุรกิจแฟรนไชส์กำลังไปได้สวยอย่างมากในอินเดีย จากประสบการณ์ที่ได้พบเจอ คือ คนอินเดียต่อคิวยาวเหยียดรอซื้อเบอร์เกอร์คิง (Burger King) ที่เพิ่งเปิดสาขาแรกในมุมไบที่ห้าง Oberoi Mall (แน่นอนที่สุดว่าจะต้องไม่มี Whopper เบอร์เกอร์ซิกเนเจอร์ของเบอร์เกอร์คิงที่ใส่เนื้อวัว เนื่องจากวัวเป็นสัตว์ที่คนฮินดูนับถือในฐานะพาหนะของพระอิศวร) นอกจากนี้ ยังมีโดนัตครีสปี้ครีม (Krispy Kreme) ที่จ่อคิวจะเปิดเร็วๆ นี้ ทำให้เชื่อขนมกินได้เลยว่าจะต้องมีคนอินเดียจำนวนมากต่อคิวรอซื้อโดนัตสุดฮิตจากอเมริกามาบริโภคอย่างแน่นอน
จากข้อมูลของ KPMG พบว่าภายในปี 2017 การลงทุนในธุรกิจอาหารแฟรนไชส์ในอินเดียจะมีเม็ดเงินถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับร้านอาหารฟาสต์ฟูดส์ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับร้านกาแฟ และ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับร้านอาหารทั่วไป ทั้งนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์อาหารในอินเดียนั้น สามารถแบ่งง่ายๆออกเป็น 2 ประเภท คือ แฟรนไชส์ที่เป็นแบรนด์ Local และแบรนด์อินเตอร์ฯ โดยแบรนด์ Local หรือแบรนด์ท้องถิ่นของอินเดียเองนั้น จะใช้เงินลงทุนน้อยกว่า ผู้ถือแฟรนไชส์ หรือ แฟรนไชซี (Franchisee) มือใหม่ในอินเดียมักจะเลือกลงทุนตั้งร้านในฟูดคอร์ตตามห้างสรรพสินค้ามากกว่าตั้งอยู่อย่างเดี่ยวๆ (Stand Alone) เนื่องจากในศูนย์การค้าจะมีทำเลที่ดีกว่า และสามารถใช้พื้นที่ส่วนกลางของฟูดคอร์ตร่วมกับร้านอื่นได้ ทำให้ช่วยลดต้นทุนในการตกแต่งร้าน
สำหรับร้านอาหารแฟรนไชส์ Local ชื่อดังของอินเดีย ได้แก่ Maroosh ซึ่งเป็นอาหารฟาสต์ฟูดสไตล์เลบานอน ที่ผู้บริโภคสามารถทานขนมปังพิต้าร้อนๆ คู่กับดิปปิ้งซอส (Hummus) หรือ Wrap Kebab ไส้ไก่ย่างหรือไส้ผักสำหรับคนที่เป็นมังสวิรัติ (Vegetarian) ร้าน Maroosh ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในอินเดีย เนื่องจากราคาไม่แพงแต่คุณภาพดี ปัจจุบันมีสาขามากถึง 14 สาขา ผู้ที่สนใจอยากเป็นแฟรนไชซีสามารถเริ่มลงทุนด้วยเงินเริ่มต้นประมาณ 3 ล้านรูปี จากนั้นจะต้องเสียค่า Royalty อีกประมาณ 5 - 7% จากรายได้ต่อเดือน โดยทำสัญญากันระหว่าง 3-5 ปี ทั้งนี้ Maroosh อ้างว่าสามารถคืนทุนได้ภายใน 18-24 เดือน นอกจากนี้ Maroosh ยังมีโครงการที่จะขยายไปเปิดที่ฮ่องกง และสิงคโปร์อีกด้วย
ส่วนอาหารแฟรนไชส์แบรนด์อินเตอร์ ที่พบเห็นได้บ่อยอีกแบรนด์หนึ่งคือ Subway ซึ่งเมืองไทยยังมีร้านไม่มากนั้น ตรงข้ามกับที่อินเดียที่ Subway มีสาขาถึง 428 สาขา และตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 650 สาขาภายในปี 2015 ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ การ Localization ของรสชาติอาหารให้เข้ากับวัฒนธรรมอาหารของคนท้องถิ่น เช่น ในอินเดียจะมีคนที่เป็นมังสวิรัติจำนวนมาก ร้าน Subway จึงต้องมีการแยกเคาน์เตอร์สำหรับมังสวิรัติ (Veg) ต่างหากจากอาหารที่ไม่ใช่มังสวิรัติ (Non-Veg) ส่วนร้าน Pizza Hut ได้ออกพิซซ่าหน้าข้าวหมกไก่ หรือ Biryani Pizza เป็นต้น เพื่อให้คุ้นลิ้นผู้บริโภคท้องถิ่น ทั้งนี้ เงินลงทุนสำหรับการเป็น Franchisee ของแบรนด์อินเตอร์จะสูงกว่าแบรนด์ Local โดยการตั้งร้าน Subway จะใช้เงินลงทุนเริ่มต้นราว 4-6 ล้านรูปี และเสียค่า Royalty ราว 8 %
ความสำคัญของธุรกิจแฟรนไชส์คือ การขยายโอกาสทางธุรกิจโดยไม่จำเป็นที่ต้องมีเม็ดเงินลงทุน (Absence of Capital) เนื่องจากเมื่อแบรนด์ติดตลาดแล้ว เจ้าของแบรนด์สามารถต่อยอดโมเดลธุรกิจไปเป็น Franchisor เพื่อเก็บค่า Royalty โดยแสวงหาผู้ร่วมลงทุนที่มีความสามารถ และโอกาสในการตั้งร้านในทำเลใหม่ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำธุรกิจร้านอาหาร ทั้งนี้ สิ่งที่เจ้าของแฟรนไชส์จะต้องคำนึงถึงคือ การรักษาแบรนด์ การรักษามาตรฐานของรสชาติอาหาร และการฝึกพ่อครัวและพนักงานประจำร้านด้วย
เมืองไทยเราเองก็มีธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยอยู่หลายเจ้า และที่เป็นหัวหอกบุกเข้าตลาดแฟรนไชส์ของอินเดียสำเร็จอย่างสูงอยู่ในขณะนี้ก็คือ ไก่ทอด 5 ดาวหรือ 5-Star Chicken ที่กำลังขยายสาขาแบบไม่หยุดไม่หย่อน การขยายธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยในต่างประเทศจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะอาหารไทยของเราถือได้ว่าอยู่ในกลุ่มอาหาร Mainstream ที่ถูกใจของต่างชาติ โดยสังเกตได้จากโรงแรมหรูๆ ในอินเดียที่มักจะมีเมนูอาหารไทยอยู่ด้วยเสมอในราคาที่ค่อนข้างแพง หากร้านอาหารไทยสามารถสร้างแบรนด์ให้ติดตลาดและขยายการลงทุนด้วยระบบแฟรนไชส์ในต่างประเทศก็จะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยได้มหาศาล รวมถึงชื่อเสียงที่จะตามมาด้วยครับ
โดย ณพเกษม โชติดิลก
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 3,013 วันที่ 28 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557