เมื่อเนื้อวัวถูกแบน ผลกระทบไม่ธรรมดา
หลายท่านคงจะพอทราบกันว่า วัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู เพราะชาวฮินดูเชื่อกันว่า วัวเป็นพาหนะของพระศิวะ 1 ใน 3 พระเจ้าองค์สำคัญที่ชาวฮินดูเคารพบูชามากที่สุด (อีกสององค์คือพระพรหมและพระวิษณุ)
ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญของอินเดีย (ประเทศที่มีคนนับถือศาสนาฮินดูประมาณ 80%) จึงได้ระบุข้อกำหนดเรื่องการฆ่าวัวไว้ชัดเจนโดยได้ให้อำนาจแก่รัฐต่างๆ ในการออกกฎหมายห้ามการฆ่าวัว ทำให้ในปัจจุบัน มีรัฐที่อนุญาตให้ฆ่าวัวได้เพียง 8 รัฐจาก 29 รัฐในอินเดีย ได้แก่ เกรละ อรุณาจัลประเทศ มณีปุระ เมฆาลัย มิโซรัม นาคาแลนด์ สิกขิมและตริปุระ (7 รัฐหลังอยู่ในภาคอีสานของอินเดียทั้งหมด)
การหาเนื้อวัวรับประทานในอินเดียจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ยังพอจะทำได้ในชุมชนมุสลิม (ที่มีประมาณเกือบ 20% ของประชากร) และจากเนื้อวัวที่นำเข้าจากต่างประเทศ
สำหรับรัฐมหาราษฏระ รัฐที่มีเมืองหลวงชื่อมุมไบ เมืองที่ขึ้นชื่อว่ามั่งคั่งและนำสมัยที่สุดในอินเดีย แต่เดิมก็มีกฎหมายห้ามฆ่าแม่วัวและลูกวัวโดยเด็ดขาดอยู่แล้ว (Maharashtra Animal Preservation Bill 1976) หากฝ่าฝืนถือเป็นความผิดอาญาต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน และ/หรือปรับสูงสุด 1 พันรูปี แต่การที่รัฐนี้เป็นรัฐที่มีคนร่ำรวยอยู่จำนวนมาก ประชาชนมีพฤติกรรมการบริโภคเหมือนชาวตะวันตก ทำให้มีการอนุโลมให้สามารถฆ่าพ่อวัวและกระบือได้ มีการพัฒนาฟาร์มเนื้อวัวออร์แกนิกอย่างเป็นเรื่องเป็นราวและแถมยังมีการอนุญาตให้นำเข้าเนื้อวัวราคาสูงจากออสเตรเลียได้ด้วย
แต่สิทธิพิเศษต่างๆ เหล่านี้ของชาวมหาราษฏระกำลังจะหมดไปแล้ว เพราะเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีอินเดียได้เห็นชอบร่างกฎหมายการอนุรักษ์สัตว์ในรัฐมหาราษฏระ (ฉบับแก้ไข) หรือ Maharashtra Animal Preservation (Amendment) Bill 1995 โดยกฎหมายฉบับใหม่นี้บัญญัติห้ามการฆ่าวัวในรัฐมหาราษฏระโดยสิ้นเชิง (โดยไม่คำนึงถึงเพศและอายุ) นอกจากนั้นยังห้ามการค้าขาย การมีไว้ในครอบครองและการบริโภคเนื้อวัวอีกด้วย หากฝ่าฝืนถือเป็นความผิดอาญาต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี และปรับสูงสุด 1 หมื่นรูปี
ภายหลังกฎหมายฉบับใหม่นี้ได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดี รัฐบาลรัฐมหาราษฏระได้ออกมาแสดงความยินดีเพราะเห็นว่าเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และโดยที่รัฐไม่ได้ห้ามการฆ่ากระบือด้วยจึงเห็นว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์อย่างรุนแรง อย่างไรก็ดี พรรคฝ่ายค้านออกมาวิจารณ์ว่า การห้ามฆ่าวัวโดยเด็ดขาดจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่จะต้องรับภาระเลี้ยงดูวัวจนกว่าวัวจะเสียชีวิต ขณะที่สมาคมผู้ค้าเนื้อชานเมืองมุมไบ (Mumbai Suburban Beef Traders Association) เชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะส่งผลให้คนจำนวนมากสูญเสียงานและราคาเนื้อไก่ แกะ แพะ และหมูจะปรับตัวสูงขึ้น
หากมาดูผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีที่กฎหมายดังกล่าวได้รับความเห็นชอบ ก็จะเห็นว่าขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนว่ากฎหมายนี้ครอบคลุมถึงเนื้อวัวที่นำเข้าจากต่างประเทศ/ต่างรัฐด้วยหรือไม่ ร้านอาหารส่วนมากได้เริ่มปรับเอาอาหารจานที่มีเนื้อวัวออกจากเมนูอาหารไปแล้ว ดังนั้น อุปสงค์เนื้อวัวที่ลดลงอย่างมาก น่าจะกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตเนื้อของรัฐที่เดิมเคยฆ่าวัวและกระบือวันละประมาณ 3 – 3.5 หมื่นตัว มีคนทำงานในอุตสาหกรรมนี้ถึง 1.5 ล้านคน ซึ่งรวมถึงเกษตรกร คนงานในโรงเชือด พ่อค้าคนกลาง และพ่อค้าขายปลีก รวมทั้งพนักงานร้านอาหารและโรงแรม รวมไปถึงผู้บริโภคเนื้อวัว ซึ่งมิใช่เพียงแค่กลุ่มชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชาวปาร์ซี ชาวคริสต์ ชาวต่างชาติและชาวฮินดูเองบางคนด้วย
นอกจากอุตสาหกรรมผลิตเนื้อเพื่อการบริโภคแล้ว อุตสาหกรรมเครื่องหนังก็เป็นอีกสาขาหนึ่งที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบไม่น้อย โดยย่านดาราวี (สลัมในภาพยนตร์เรื่อง Slumdog Millionaire) ซึ่งเป็นย่านขายเครื่องหนังแหล่งสำคัญและราคาถูกของเมืองมุมไบและสามารถทำรายได้ถึงปีละประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ น่าจะได้รับผลโดยตรง เนื่องจากราคาหนังกระบือจะสูงมากขึ้น ทำให้อาจต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องหนังที่ประกอบสำเร็จแล้วแทนที่จะผลิตเอง ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องหนังในย่านดาราวีต้องเผชิญกับการแข่งขันของสินค้าเครื่องหนังนำเข้าจากจีนซึ่งมีราคาถูกกว่าอยู่แล้ว
แม้หลายฝ่ายจะเห็นว่า รัฐบาลรัฐมหาราษฏระน่าจะมีอะไรที่สำคัญกว่าที่ต้องเร่งแก้ปัญหา เช่น เศรษฐกิจและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ แทนที่จะมาให้ความสำคัญกับเรื่องที่ละเอียดอ่อนเพราะเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิที่เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา แต่เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า ความเชื่อทางศาสนายังมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจ รวมถึงการดำเนินนโยบายของภาครัฐ ดังนั้น เอกชนไทยที่สนใจตลาดอินเดียควรต้องทำการศึกษาให้รอบคอบและลึกซึ้งเกี่ยวปัจจัยเหล่านี้ ซึ่งอาจไม่มีความสำคัญมากมายในบ้านเรา
โดย กนกภรณ์ คุณวัฒน์
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,041 วันที่ 5 - 8 เมษายน พ.ศ. 2558