ความคืบหน้าของโครงการ Chennai Metro Rail ที่เมืองเจนไน รัฐทมิฬนาฑู
เมืองเจนไน เป็นเมืองหลวงของรัฐทมิฬนาฑู ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย โดยรัฐทมิฬนาฑูมีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตรถยนต์ที่สำคัญของอินเดีย โดยมีบริษัทต่างชาติ เช่น บริษัทฮุนได ฟอร์ด มิตซูบิชิ เข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ โดยเฉพาะในเขตรอบนอกเมืองเจนไน จะมีโรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน ยานยนต์จำนวนมาก เลยได้ชื่อว่าเป็น “Detroit of India” ในแต่ละปี สามารถผลิตรถยนต์ได้ประมาณ 1.2 ล้านคัน และรถที่ใช้ในเชิงพาณิชย์อีก 3.5 แสนคัน
นอกจากนี้ เมืองเจนไนยังเป็นเมืองศูนย์กลางทางธุรกิจ การเงินการธนาคาร และเป็นที่ตั้งของเขตอุตสาหกรรมที่พัฒนาทางด้าน IT โดยรัฐทมิฬนาฑูเองก็มีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นรัฐที่ส่งออกซอฟแวร์มากเป็นอันดับสองของอินเดียรองจากรัฐกรณาฏกะ ซึ่งมีเมืองหลวงคือบังคาลอร์ ซึ่งหลายท่านคงจะรู้จักดีในนามของ Silicon Valley ของอินเดีย
และถ้าจะเทียบขนาดพื้นที่แล้ว กรุงเทพมหานครของเรามีขนาดใหญ่กว่าเมืองเจนไนกว่าเท่าตัว แต่ประชากรใกล้เคียงกัน คือ กรุงเทพฯ มีประชากรในทะเบียนประมาณ 5.6 ล้านคน แต่มีประชากรแฝงมาก ทำให้มีประชากรอยู่จริงๆ มากกว่า 8 ล้านคน เช่นเดียวกับเมืองเจนไน คือมีประชากรในทะเบียนจริงประมาณ 6.5 ล้านคน แต่มีประชากรแฝง ทำให้มีประชากรอยู่จริงๆ เกือบ 8 ล้านคน
เช่นเดียวกับเมืองต่างๆ ในอินเดีย เมืองเจนไนในภาพรวมแล้วก็ยังมีปัญหาในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของการลงทุนและขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงการขยายตัวของเมืองและประชากรที่เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะการที่มีคนอยู่ค่อนข้างแออัด ทำให้ภายในเมืองมีปัญหารถติดโดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนค่อนข้างมาก
เพื่อรองรับปัญหาดังกล่าว อีกทั้งยังต้องพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐทมิฬนาฑูไปควบคู่กันไปด้วย รัฐทมิฬนาฑูจึงได้จัดทำวิสัยทัศน์รัฐทมิฬนาฑูขึ้น เพื่อใช้เป็นแผนที่นำทางในการกำหนดให้มีการลงทุนโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ทั้งการก่อสร้างถนนหนทาง ปรับปรุงท่าเรือหลัก ท่าเรือรอง ปรับปรุงหรือขยายท่าอากาศยาน โรงไฟฟ้า รวมถึงระบบขนส่งประเภทรถไฟฟ้าด้วย
สำหรับโครงการสร้างระบบขนส่งรถไฟฟ้าและใต้ดินของเมืองเจนไน หรือที่เรียกว่า Chennai Metro Rail ก็เป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลรัฐทมิฬนาฑุบรรจุอยู่ในวิสัยทัศน์รัฐทมิฬนาฑูด้วย
การสร้าง Chennai Metro Rail มีเป้าหมายหลักที่จะอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในเมืองเจนไนเพื่อให้สะดวกในการเดินทางภายในเมืองมากขึ้น โดยทางรัฐบาลรัฐทมิฬนาฑูเชื่อว่า โครงการ Chennai Metro Rail นี้ จะสามารถช่วยขนส่งผู้โดยสารได้ประมาณ 7 แสนคนต่อวัน
โครงการก่อสร้าง Chennai Metro Rail มีหน่วยงานที่กำกับดูแลการก่อสร้างคือ Chennai Metro Rail Limited (CMRL) โดยมีการเริ่มทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ เมื่อปี 2546 ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลอินเดียและรัฐบาลรัฐทมิฬนาฑูเมื่อปี 2550 และเริ่มต้นการก่อสร้างเมื่อเดือนมิถุนายน 2552 โครงการฯ ได้รับการสนับสนุนเงินทุนการก่อสร้างจากรัฐบาลอินเดียและรัฐบาลรัฐทมิฬนาฑูและรัฐบาลญี่ปุ่น โดยผ่าน JBIC หรือ Japanese Bank for International Corporation โดยคาดว่า การก่อสร้างจะใช้งบประมาณทั้งหมดประมาณ 2.6 พันล้านดอลลาร์
Chennai Metro Rail มีความยาว 45 กม. แบ่งเป็น 2 สาย หรือที่เขาเรียกว่า Corridor 1 Corridor 2 ที่สำคัญคือ มีสายหนึ่งที่จะวิ่งเชื่อมระหว่างตัวเมืองกับสนามบินเจนไน ซึ่งจะทำให้การเดินทางเข้าเมืองสะดวกมากขึ้น จากเดิมนักท่องเที่ยวที่มาจากสนามบินอาจต้องใช้บริการ taxi หรือรถประจำทาง
Chennai Metro Rail เป็นทั้งเส้นทางรถไฟใต้ดินและเส้นทางยกระดับ แบบ BTS ของบ้านเรา จากเดิมคาดว่า โครงการจะแล้วเสร็จภายในปี 2558 นี้ แต่ดูเหมือนว่า จะไม่เป็นไปตามที่คาด เนื่องจากมีบริษัทผู้รับสัมปทานก่อสร้างทิ้งงานบางส่วน โดยจากการประเมินโครงการของ CMRL ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ระบุว่า โครงการน่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนธันวาคม 2559 ซึ่งเกินกว่ากำหนดเดิมไป 1 ปี โดยขณะนี้ ก่อสร้างเสร็จไปได้ประมาณร้อยละ 70
อย่างไรก็ตาม ชาวเจนไนบางส่วนที่รอคอยจะใช้บริการ Chennai Metro Rail ยังไม่ต้องผิดหวังมาก เนื่องจาก โครงการมีกำหนดจะเปิดให้บริการบางช่วง คือช่วงสถานี Koyambedu ถึง สถานี Alandur ระยะทาง 10 ก.ม. ในเร็วๆ นี้ โดยขณะนี้ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กำกับดูแลด้าน ความปลอดภัย คือ Commissioner of Metrorail Safety ให้เปิดบริการได้แล้ว ขณะนี้ จึงเป็นการรอกำหนดการเปิดใช้บริการเท่านั้น
สำหรับโอกาสของภาคเอกชนไทยที่จะเข้ามาลงทุนด้านระบบรางในรัฐทมิฬนาฑูนั้น ก็พอมีอยู่ แม้ว่าขณะนี้ ยังไม่มีภาคเอกชนของไทยรายใดเข้ามาลงทุนหรือเข้าร่วมการประมูลในโครงการ Chennai Metro Rail
โดยแม้ว่างานประมูลก่อสร้างด้านโยธาจะแล้วผ่านไปแล้ว แต่ขณะนี้ CMRL ก็ยังเปิดให้มีการประมูลอื่นๆ เช่น การเปิดประมูลก่อสร้างสำนักงานใหญ่ของ Chennai Metro Rail การเปิดประมูลเพื่อให้ได้ใบอนุญาตใช้พื้นที่เพื่อการค้าในเขตสถานีรถไฟฟ้า หรือการโฆษณาในเขตสถานีรถไฟฟ้า เป็นต้น
จะเห็นว่า หากกล่าวถึงการก่อสร้างรถไฟฟ้า อาจไม่ใช่เป็นแค่เรื่องการออกแบบและก่อสร้างขนาดใหญ่อย่างเดียว แต่ยังมีการประมูลในส่วนอื่นๆ ด้วย ซึ่งเป็นโอกาสที่ภาคเอกชนไทยอาจศึกษาเพิ่มเติม และอาจไม่ใช่แค่โครงการ Chennai Metro Rail อย่างเดียว แต่ในอินเดียมีอีกหลายโปรเจ็คใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งอาจต้องเข้าไปดูในรายละเอียดว่า บริษัทของท่านจะทำอะไรได้บ้าง
สำหรับการเข้ามาของบริษัทไทยในวงการก่อสร้างระบบรางของอินเดียนั้น มีบริษัทไทย คือ บริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวลล็อปเมนต์ หรือ ITD เข้ามาแล้ว โดยเข้ามาทำโครงการเกี่ยวกับการสร้างรถไฟฟ้าในอินเดียหลายโครงการ เช่น โครงการออกแบบและก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าที่กรุงนิวเดลี หรือ Delhi Metro โครงการวางงานราง หรือ trackwork ที่เมืองบังคาลอร์ ซึ่งเป็นโครงการของ Bangalore Metro และงานก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าที่เมืองกัลกัตตาและเมืองชัยปุระ เป็นต้น
โดยกลยุทธ์การเข้าตลาดอินเดียที่ทาง ITD เห็นว่า มีโอกาสประสบผลสำเร็จสูง คือ การเข้ามาจัดตั้งบริษัทลูกเป็นบริษัทท้องถิ่น โดยมีทีมงานไทยเป็นผู้บริหารและตัดสินใจด้านนโยบาย และใช้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการเป็นคนท้องถิ่นจะดีที่สุด เพราะหากมีการประมูลงาน สามารถใช้บริการจากบริษัทแม่ เช่น คุณสมบัติการประมูลงาน เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ บริษัทลูกในอินเดียก็สามารถทำ JV กับบริษัทแม่ได้ ซึ่งจะดีกว่า การทำ JV กับบริษัทอื่น
ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาอุปสรรคหลายอย่างในการลงทุนในอินเดีย แต่ผู้ประกอบการไทยคงต้องมองเรื่องโอกาสเป็นหลัก และค่อยๆ แก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ไป โดยอาจเรียนรู้จากผู้ที่เข้ามาอยู่และก็ลงทุนในอินเดียก่อนว่า เขาแก้ปัญหากันอย่างไร
ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่างแรก คงต้องปรับทัศนคติเกี่ยวกับอินเดียก่อน โดยเฉพาะเรื่องตีงูกับตีแขก คงต้องนำแนวคิดจากท่านเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี มาใช้ โดยท่านบอกว่า เราไม่ต้องตีงูหรือตีแขก แต่ต้องนำทั้งงูทั้งแขกมาเป็นมิตรให้ได้ เมื่อเริ่มต้นดีแล้ว ก็คงจะหาลู่ทางร่วมมือกันกับทางอินเดียเขาต่อไปได้ด้วยดี
************************
รายงานโดย ดร. พรพิมล สุคันธวณิช
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน
8 มิ.ย. 2558