ภาพถ่ายจาก timesofindia.indiatimes.com
อุณหภูมิอากาศร้อนในอินเดียช่วงกลางและปลายเดือนเมษายนนี้ ฉุดไม่อยู่จริงๆ ในบางพื้นที่ขึ้นไปแล้ว ถึง 41-43 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ อินเดียยังประสบปัญหาภัยแล้งเช่นเดียวกับประเทศไทยด้วย
ปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำในอินเดียส่งผลกระทบต่อประชากรอินเดียทั่วประเทศกว่า 300 ล้านคน โดยปัญหาภัยแล้งมาจากสาเหตุที่ฝนตกน้อย ทำให้แหล่งน้ำแห้งขอด และไม่มีน้ำเพื่อทำการเกษตรในประเทศ
อินเดียนั้น เป็นประเทศที่พึ่งพาฝนฟ้าในช่วงฤดูมรสุมค่อนข้างมาก แต่ในช่วง 2-3 ปีมานี้ พื้นที่หลายแห่งในอินเดียมีฝนตกน้อยมาก ทำให้ไม่มีน้ำเก็บสะสมไว้สำหรับประชาชนที่จะใช้ในการบริโภค และทำการเกษตร
ตอนนี้ในหลายพื้นที่หน่วยงานทางการของอินเดียได้เร่งให้การช่วยเหลือประชาชนโดยการส่งน้ำดื่มให้ประชาชนในเขตพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง เพื่อบรรเทาผลกระทบไปส่วนหนึ่ง
อันที่จริงแล้ว ปัญหาเรื่องภัยแล้งจากเรื่องฟ้าฝนลมมรสุมก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอันหนึ่งซึ่งส่งผลต่อภัยแล้ง อย่างไรก็ดี นักวิชาการบางส่วนก็ออกมาให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่อินเดียประสบภัยแล้งก็คือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรอินเดียในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว การทำลายป่าไม้จำนวนมาก รวมถึงการถมพื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งน้ำ หนองบึง เพื่อสร้างอาคารใหม่ๆ ตามระดับของพัฒนาการและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย
ปัญหาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งหลายคนพูดถึง อุณหภูมิทางตอนใต้ของอินเดียช่วงกลางเดือนเมษายนนี้ ได้เพิ่มสูงมาก โดยมีคนเสียชีวิตทั่วประเทศไปกว่า 150 คนแล้ว
โดยที่รัฐเตลังคานา อุณภูมิพุ่งสูงถึง 44 องศาเซลเซียส ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 66 ราย ที่รัฐอานธรประเทศ อุณหภูมิพุ่งสูงถึง 42 องศาเซลเซียส มีผู้เสียชีวิตรวม 45 ราย ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐอานธรประเทศและที่รัฐเตลังคานามีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนเมื่อปีที่แล้วรวมมากกว่า 2,000 คน
รัฐบาลอินเดียยังไม่ได้รายงานตัวเลขของผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเกิดจากภัยแล้งออกมา แต่ที่แน่ๆ มีผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรชาวอินเดียเต็มๆ
มีรายงานข่าวว่าจากการที่ฝนทิ้งช่วงและภัยแล้ง ทำให้เกษตรกรอินเดียต้องฆ่าตัวตายไปแล้วหลายราย เนื่องจากไม่สามารถปลูกพืชได้ หรือไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ส่งผลให้เกษตรกรหลายรายไม่สามารถใช้เงินกู้คืนให้เจ้าหนี้ได้ ปัญหาเดิมๆ เหล่านี้ ส่งผลให้ตัวเลขของเกษตรกรอินเดียที่ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเป็นหลายพันคนในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์มองว่า การแก้ปัญหาของรัฐบาลอินเดียยังไม่ถูกจุด เนื่องจากอินเดียจำเป็นต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะในเรื่องระบบชลประทานและการเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น
และแม้รัฐบาลอินเดียจะประกาศว่าจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเกษตรกรรมให้มากขึ้น รวมถึงประกาศการใช้ระบบประกันพืชผลทางการเกษตรรูปใหม่ หรือ Pradhan Mantri Fasal Bima Yojana (PMFBY) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ปัญหาภัยแล้งนั้นมีสเกลที่ใหญ่มาก และยังต้องการแก้ไขปัญหาแบบทั้งระบบ
คงต้องเอาใจช่วยให้ฝนตกและเกษตรกรทุกคนสามารถฝ่าฝันปัญหาภัยแล้งเฉพาะหน้านี้ไปได้โดยเร็ว ส่วนเรื่องระยะยาวเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานนั้น คงต้องติดตามนโยบายของภาครัฐของอินเดียต่อไป
****************************
รายงานโดย ดร. พรพิมล สุคันธวณิช
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน