อินเดียอาจเผชิญปรากฏการณ์เอลนีโญช่วงกรกฎาคม-สิงหาคมปีนี้ ขณะที่อินเดียใต้ยังคงแล้งต่อเนื่อง
ขอบคุณภาพจาก Hindustan Times
รายงานพยากรณ์อากาศของ SKYMET ซึ่งเป็นหน่วยงานของเอกชนและของ IMD หรือ India Meteorological Department ต่างออกมาพยากรณ์อากาศประจำปี 2560 นี้ ว่า อินเดียจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติในช่วงหน้าร้อน และอาจเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ (El Nino) ได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งจะทำให้ฝนตกในช่วงฤดูมรสุมลดลง
โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ของอินเดียโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตก ตอนกลาง และทางตอนใต้จะมีฝนตกน้อยกว่าระดับปกติ ขณะที่ทางฝั่งตะวันออก เช่น รัฐโอริสสา รัฐฌาร์ขัณฑ์ และรัฐเบงกอลตะวันตก น่าจะมีฝนตกในระดับปกติ
หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า อย่างน้อยในช่วงแรกของฤดูมรสุม ซึ่งเริ่มต้นช่วงเดือนมิถุนายน ก็น่าจะยังมีฝนตกอยู่
อย่างไรก็ดี เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลายรัฐทางตอนใต้ของอินเดียได้ประกาศพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งไปแล้ว
โดยเฉพาะรัฐทมิฬนาฑูได้ประกาศว่า พื้นที่ทั่วทั้งรัฐเป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากปัญหาฝนขาดช่วงในช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา
ในปี 2559 ปริมาณน้ำในเขื่อนเก็บน้ำในรัฐทางใต้ของอินเดียมีปริมาณน้ำรวมกันเพียง 34% ซึ่งต่ำกว่าปริมาณน้ำในเขื่อนโดยเฉลี่ย ซึ่งโดยปกติจะอยู่ที่ราว 56% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่รัฐกรณาฏกะ ก็ได้ประกาศพื้นที่ภัยแล้งรวม 110 หมู่บ้านตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 โดยมีรายงานว่า ปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่รัฐกรณาฏกะช่วงเดือนกรกฎาคม 2559 มีปริมาณลดลงถึง 17% และในเดือนสิงหาคม 2559 มีปริมาณลดลงมากถึง 39%
ทั้งนี้ ที่รัฐกรณาฏกะนี้ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องของอินเดียระบุว่า มีปริมาณฝนตกลดลงมาโดยตลอดในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา
รัฐเกรละที่ไม่เคยประสบภัยแล้งหนักมาเป็นเวลานาน ก็ประสบปัญหาแล้งหนักและรุนแรงที่สุดในรอบ 115 ปี
โดยเป็นครั้งแรกที่หน่วยงานภาครัฐต้องนำน้ำไปแจกให้กับประชาชนถึงบ้าน รวมทั้งต้องแจกจ่ายน้ำให้แก่ภาคอุตสาหกรรมด้วย
รัฐอานธรประเทศและรัฐเตลังคานาก็ประสบภัยแล้งไม่น้อยเช่นกัน โดยมีรายงานปริมาณน้ำฝนที่ตกลดลงตั้งแต่ปี 2558 ส่งผลให้มีการประกาศภัยแล้งในหลายพื้นที่ของรัฐดังกล่าว
ปัญหาภัยแล้งที่ต่อเนื่องส่งผลให้เกษตรกรหลายรายต้องจบชีวิตตัวเองลงไป โดยมีรายงานว่า มีเกษตรกรในรัฐทมิฬนาฑูฆ่าตัวตายกว่า 106 คน ในช่วงเดือนมกราคม 2560 ที่ผ่านมา
นอกจากความสูญเสียต่อชีวิตจากภัยแล้งแล้ว ภัยแล้งทางตอนใต้ได้ส่งผลกระทบต่อ พืชเศรษฐกิจต่างๆ ของอินเดียด้วย
อย่างแรก คือ อ้อย ผลผลิตอ้อยของอินเดียลดลงเนื่องจากภัยแล้งและพื้นที่เพาะปลูกอ้อยลดลงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่รัฐมหาราษฏะ และรัฐกรณาฏกะ ส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลในช่วงฤดูกาลปี 2559/2560 ลดลงเหลือ 22 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 4.3
ฝ้าย อินเดียปลูกฝ้ายมากเป็นอันสองของโลก ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในรัฐที่ปลูกฝ้ายเช่น รัฐมหาราษฏะ รัฐกรณาฏกะ รัฐเกรละ รัฐอุตตระประเทศ ส่งผลให้ผลผลิตฝ้ายและพื้นที่ปลูกฝ้ายลดลง
ชา เป็นอีกหนึ่งสินค้า โดยรัฐทมิฬนาฑูปลูกชาและมีผลผลิตคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 65 ของผลผลิตชาทางตอนใต้ของอินเดีย ปัญหาภัยแล้งส่งผลให้ปริมาณผลผลิตชาที่ผลิตได้ลดลง จากที่เคยผลิตเฉลี่ย 242 ล้านกิโลกรัม เหลือเพียง 212 ล้านกิโลกรัมในปี 2559
กาแฟ มีรายงานว่า ผลผลิตกาแฟจะลดลงประมาณ 9% เนื่องจากฝนตกน้อย โดยพื้นที่ปลูกกาแฟ ส่วนใหญ่ของอินเดียอยู่ที่รัฐกรณาฏกะ รัฐทมิฬนาฑูและรัฐเกรละ
ในส่วนของผู้บริโภคนั้น ก็ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากภัยแล้ง ส่งผลให้ราคาข้าว น้ำตาลในตลาดได้ขยับราคาขึ้น
เช่น ข้าว จากเดิมราคากิโลกรัมละประมาณ 47 รูปี แต่ราคาขยับขึ้นมาที่ 56 รูปี ต่อกิโลกรัม (ราคาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์)
ราคาน้ำตาลก็เช่นเดียวกัน จากเดิมราคากิโลกรัมละ 31 รูปี ได้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 43 รูปีต่อกิโลกรัม ขึ้นมาทีเดียวกว่า 39%
คงต้องภาวนาให้ฟ้าฝนเป็นใจแก่เกษตรกรโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ไทย หรือเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ให้ได้มีฝนตกและน้ำใช้เพียงพอสำหรับการทำเกษตรกรรมเพื่อให้เกษตรกรสามารถที่จะดำรงชีวิตและเลี้ยงชีพต่อไป และหวังว่า ผู้คนบนโลกจะหันมาให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจังมากขึ้น
****************************
รายงานโดย ดร. พรพิมล สุคันธวณิช
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน