ใครๆ ก็พูดถึง Blue Economy ...แล้วอินเดียล่ะว่าอย่างไร
แม้ว่าจะมีการอภิปรายเรื่องนี้กันมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่แนวคิดเศรษฐกิจภาคทะเล หรือ Blue Economy ถือได้ว่าเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจากผลการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน (United Nations Conference on Sustainable Development - UNCSD) หรือ UN Rio+ 20 Earth Summit เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 และต่อมาสะท้อนรวมอยู่ในเป้าหมายข้อที่ 14 (Goal 14 - Conserve and sustainably use the oceans, seas and marine resources for sustainable development) อันเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals - SDGs) ที่ได้รับการรับรองเมื่อเดือนกันยายน 2558 ส่งผลให้เกิดกระแสการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจทางทะเลผ่านกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศมากขึ้น
อินเดีย เป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจระดับภูมิภาคที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการเพิ่มบทบาทของตนในมหาสมุทรอินเดียในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมานี้ โดยข้อเท็จจริงที่น่าสนใจคืออินเดียมีชายฝั่งยาวประมาณ 7,500 กิโลเมตร (ประเทศไทยมีความยาวรอบประเทศประมาณ 4,860 กิโลเมตร) มีพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive economic zone) สำหรับประกอบธุรกิจทางทะเลถึง 2.4 ล้านตารางกิโลเมตรในมหาสมุทรอินเดีย และมีกองกำลังทางเรือที่เข้มแข็ง และในระยะหลังยิ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของกองทัพเรืออินเดีย และกองกำลังยามชายฝั่งอินเดีย (Indian Coast Guard) ยิ่งขึ้น อินเดียจึงเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเชื่อมโยงกับทะเลมา เนิ่นนาน และมีศักยภาพมหาศาลในการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล
ในยุครัฐบาลปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เริ่มส่งสัญญานการให้ความสำคัญต่อประเด็นทางทะเลอย่างเด่นชัดนับจากการเดินทางเยือนประเทศเพื่อนบ้านทางทะเลอย่างเซเชลส์ และมอริเชียส เมื่อเดือนมีนาคม 2558 โดยในระหว่างการเยือนดังกล่าว นายกรัฐมนตรีฯ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือทางทะเลในมหาสมุทรอินเดียทั้งในด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านทางทะเล และมุ่งหมายที่จะขยายผลไปสู่ความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในระดับภูมิภาคต่อไป
การเยือนประเทศเพื่อนบ้านครั้งดังกล่าว ได้นำมาสู่การประกาศวิสัยทัศน์ของอินเดียในการส่งเสริมความมั่นคงและการเติบโตทางเศรษฐกิจในมหาสมุทรอินเดีย โดยนายกรัฐมนตรีโมดีเรียกวิสัยทัศน์ดังกล่าวว่า SAGAR ซึ่งมีความหมายในภาษาฮินดีว่า “มหาสมุทร” (คือคำเดียวกับคำว่า “สาคร”) และเป็นอักษรย่อของ “Security and Growth for All in the Region” ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียได้ระบุวัตถุประสงค์ของวิสัยทัศน์ดังกล่าวให้ครอบคลุมทั้งมิติด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย (1) การเพิ่มศักยภาพในการปกป้องชายฝั่งของอินเดีย และรักษาผลประโยชน์และเขตแดนทางทะเล (2) การส่งเสริมเศรษฐกิจและความมั่นคงตามรัฐแนวชายฝั่ง (3) การเสริมสร้างองค์ความรู้ในการรับมือกับภัยธรรมชาติ ภัยโจรสลัด และการก่อการร้าย (4) การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาค และการสร้างความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในวงกว้างเพื่อร่วมกันกำหนดระเบียบทางทะเล และภายในปีเดียวกัน รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีโมดีได้ประกาศโครงการ Sagarmala Port Development Project (“สาครมาลา” ซึ่งมีความหมายว่า “Ocean Garland”) เพื่อพัฒนาท่าเรือต่าง ๆ ตลอดแนวเส้นทางที่จะสามารถใช้เดินเรือได้ของอินเดีย ประมาณ 14,500 กิโลเมตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งภายในประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก โดยรัฐบาลได้เน้นย้ำว่าโครงการพัฒนาท่าเรือนี้เป็นส่วนหนึ่งของการนำวิสัยทัศน์ SAGAR มาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม
อินเดียกับเศรษฐกิจทางทะเล
การประกาศวิสัยทัศน์ SAGAR ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ของอินเดียตื่นตัวในการจัดกิจกรรมหรือศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจทางทะเล โดยสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งอินเดีย (Federation of Indian Chambers of Commerce and Industry – FICCI) ได้จัดตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นเพื่อศึกษาข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับศักยภาพเศรษฐกิจทางทะเลของอินเดีย รวมทั้งวิเคราะห์โอกาสการทางธุรกิจ และแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ โดยจัดทำเป็นเอกสาร “Blue Economy: Vision 2025: Harnessing Business Potential for India an International Partners” ตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายน 2560 ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวได้ระบุสาขาธุรกิจที่มีศักยภาพและยังไม่ได้รับการพัฒนาของอินเดีย 10 สาขา คือ (1) การทำประมงน้ำเค็ม (Marine Fishing) (2) เทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล (Marine Biotechnology) (3) การทำเหมืองแร่นอกชายฝั่งและทะเลลึก (Offshore and Deep-Sea Mining) (4) การท่องเที่ยวทางทะเล (Marine Tourism and Leisure) (5) การเดินเรือ ท่าเรือ และโลจิสติกส์ทางทะเล (Shipping, Port and Maritime Logistics) (6) การก่อสร้างในทะเล (Marine Construction) (7) พลังงานทดแทนทางทะเล (Marine Renewable Energy) (8) การผลิตทางทะเล (Marine Manufacturing) (9) การค้าและ ICT ทางทะเล (Marine Commerce and ICT) และ (10) การศึกษาและวิจัยทางทะเล (Marine Education and Research) (อ่านเอกสารฉบับเต็มได้ที่ http://ficci.in/spdocument/20896/Blue-Economy-Vision-2025.pdf)
เอกสารของ FICCI ดังกล่าวยังได้วิเคราะห์สาขาเศรษฐกิจทางทะเลที่ฝ่ายอินเดียมองเห็นศักยภาพของไทย ประกอบด้วย ท่าเรือ โครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว การประมง การแปรรูปอาหาร และพลังงานทดแทนจากลม โดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวทางทะเลเป็นสำคัญ จึงทำให้ไทยมีท่าเรือและระบบการเดินทางทางทะเลที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งไทยยังให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านโมเดลการทำธุรกิจภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย
ท่าเรือเจนไน
อย่างไรก็ดี จากการแสดงวิสัยทัศน์ทั้งในเวทีภายในประเทศและระหว่างประเทศของผู้แทนระดับสูงของอินเดีย สังเกตได้ว่าอินเดียให้ความสำคัญยิ่งต่อการเชื่อมโยงประเด็นความมั่นคงในมหาสมุทรอินเดียเข้ากับประเด็นการส่งเสริมเศรษฐกิจภาคทะเล โดยย้ำว่าแนวคิด SAGAR คือความต้องการให้ประเทศต่าง ๆ สามารถใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรอินเดียได้อย่างเท่าเทียมและมั่นคงโดยมีอินเดียเป็นฝ่ายที่มีบทบาทนำ ไม่ปล่อยให้มหาอำนาจนอกภูมิภาคมาชี้นำหรือควบคุมการพัฒนา ขณะเดียวกัน ก็ต้องส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกันร่วมไปด้วย โดยอินเดียได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการร่วมซ้อมรบ ฝึกร่วม และลาดตระเวนร่วมทางนาวีกับกองทัพเรือประเทศเพื่อนบ้านทางทะเลของตน และกับมิตรประเทศอื่น ๆ ขณะเดียวกันอินเดียก็ได้ร่วมสนับสนุนโครงการพัฒนาโลจิสติกส์ทางทะเลของประเทศเพื่อนบ้านทางทะเล อาทิ ศรีลังกา มัลดีฟส์ มอริเชียส และเซเชลส์ด้วย และยังมีโครงการที่อินเดียช่วยเหลือเมียนมาในการพัฒนาท่าเรือที่เมืองสิตต่วย รัฐยะไข่ และการแสดงความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนและช่วยเหลือบังกลาเทศในการพัฒนาท่าเรือ โดยเฉพาะที่ท่าเรือจิตตะกอง และที่ท่าเรือ Payra
ท่าเรือวิสาขปัตนัม
โอกาสทางธุรกิจของไทยในเรื่องนี้
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เคยจัดการประชุมในประเด็นเศรษฐกิจทางทะเลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 และได้ระบุว่า หากประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ทางทะเลของประเทศไทยโดยรวมทุกกิจกรรมที่ทำให้เกิดรายได้แล้ว จะมีมูลค่าสูงถึง 11 ล้านล้านบาท (สถิติรายงาน ณ ปี 2558) ซึ่งถือว่าสูงกว่าหลายประเทศในเอเชีย สะท้อนให้เห็นว่าไทยเองก็มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจทางทะเลอยู่ไม่น้อย โอกาสทางธุรกิจของไทยและอินเดียในเรื่องนี้จึงอยู่ที่ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมท่าเรือและการขนส่งสินค้าทางเรือ เช่น ความเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือของอินเดียและท่าเรือระนองซึ่งการท่าเรือไทย และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังสำหรับ EEC นอกจากนี้ ท่าเรือวิสาขาปัตนัมและท่าเรือเจนไนของอินเดียก็มีศักยภาพที่จะเป็นจุดติดต่อทางทะเลทั้งในแง่การขนส่งและการท่องเที่ยวกับท่าเรือของไทยได้ด้วย นอกจากนี้ ในด้านการท่องเที่ยว ไทยยังสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีในการพัฒนาการท่องเที่ยวทางทะเลให้แก่อินเดีย โดยเมื่อปี 2559 นายกรัฐมนตรีโมดีเองได้เคยปรารภว่าประสงค์จะดูแนวทางตัวอย่างจาก “พัทยาของไทย บาหลีของอินโดนีเซีย และฮาวายของสหรัฐฯ” ในการพัฒนาการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลของอินเดียด้วย
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
13 พฤษภาคม 2561