ซาบมิลเลอร์ (SABMiler) ผู้ผลิตเบียร์ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกาหวังกู้มาร์เก็ตแชร์คืน ส่งมิลเลอร์ ไฮ ไลฟ์ (Miller High Life) สินค้าแบรนด์ระดับโลก ลงชิงส่วนแบ่งตลาดอินเดีย ในขณะเดียวกันก็เปิดตัว ฟอสเตอร์ส สตรอง (Foster's Strong) สินค้าในมือล่าสุดหลังจากที่ใช้เงิน 1.02 หมื่นล้านเหรียญเข้าซื้อกิจการเบียร์ฟอสเตอร์สของออสเตรเลีย
เบียร์มิลเลอร์ ไฮ ไลฟ์ เป็นเบียร์สีอ่อน มีสัดส่วนแอลกอฮอล 4.7% ได้รับฉายาว่าเป็นแชมเปญของเบียร์เพราะมีระดับคาร์บอเนตสูง ทำให้เกิดฟองมาก
บริษัทซาบมิลเลอร์มีส่วนแบ่งการตลาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอินเดียรองจากยูไนเต็ด บริเวอรี่ (เบียร์คิงฟิชเชอร์) ได้เปิดตัว มิลเลอร์ ไฮ ไลฟ์แล้วในเมืองมุมไบ และปูเน่ ในเดือนนี้ บริษัทคาดว่าจะวางขายมิลเลอร์ ไฮ ไลฟ์ทั่วเมืองสำคัญภายในสิ้นเดือนกันยายน ในขณะที่วางจำหน่ายฟอสเตอร์ส สตรองในปัญจาบ, ฮาร์ยาน่า และจันดิการ์ฮ ปัจจุบันมีเพียงเบียร์ฟอสเตอร์ส ไมล์ดขายในอินเดีย
บริษัทวางตำแหน่งมิลเลอร์ ไฮ ไลฟ์ ซึ่งขายในราคา 80 รูปี ไว้ในกลุ่มเบียร์พรีเมียม โดยมองกลุ่มเป้าหมายไปที่เมืองธุรกิจ เน้นจุดขายของแบรนด์ที่ "ทำงานหนัก ปาร์ตี้ให้สะใจ"
ปัจจุบันซาบมิลเลอร์ครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 23.5% ลดลงจากกว่า 35% ในปี 2551 คาดกันว่ายอดจำหน่ายเบียร์ในอินเดียต่อปีอยู่ที่ราว 2.07 พันล้านลิตร (ยอดจำหน่ายเบียร์ในประเทศไทยในปี 2553 อยู่ที่ 1.82 พันล้านลิตร)
ในช่วงเดือนเมษายน ถึงมิถุนายนที่ผ่านมา ยอดขายเบียร์ลดลง 5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนไปอยู่ที่ราว 639 ล้านลิตร นับเป็นการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีของช่วงเมษายน-มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงที่มียอดจำหน่ายสูงสุดของปี โดยปรกติมียอดจำหน่าย 1 ใน 3 ของยอดทั้งปี รัฐที่มีการบริโภคเบียร์มากอย่างมหาราษฎระ (ลดลง 10%) และทมิฬนาฑูร (ลดลง 13%) เป็นตัวดึงตัวเลขรวมของทั้งประเทศ
แม้อินเดียจะมีประชากรราว 1.2 พันล้านคน แต่การบริโภคเบียร์ยังจำกัดอยู่ในวงชาวต่างชาติและคนอินเดียรุ่นใหม่ ถึงกระนั้น ยอดขายก็อยู่ระดับพันล้านลิตร
ปัจจุบันเบียร์สิงห์ของไทยพอมีวางจำหน่ายในอินเดีย เพราะบริษัทบุญรอดจับคู่กับบริษัทจัดจำหน่ายท้องถิ่น ในขณะที่เบียร์ช้างยังไม่เข้าตลาดนี้ โดยเบียร์ไทยในปริมาณที่เท่ากัน ขายที่อินเดียมีราคาสูงกว่าขายที่ไทยประมาณหนึ่งเท่าตัว
ประเทศอินเดียตั้งกำแพงภาษีการนำเข้าเบียร์ไว้สูงมาก ดังนั้น บริษัทเบียร์ยักษ์ใหญ่ของโลกจึงใช้วิธีเป็นคู่ค้ากับบริษัทภายในประเทศอินเดีย นำสินค้ามาขายผ่านบริษัทอินเดีย
กิตินัย นุตกุล