ประเทศไทยกับการเป็นผู้นำการผลิตยางพาราโลก
ความต้องการยางพาราในตลาดโลกจะยังคงขยายตัวสูงแบบก้าวกระโดดในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยตลาดหลักสำคัญเป็นจีนและอินเดียที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ขณะที่ประเทศไทยจะเป็นผู้นำตลาดแบบไร้คู่แข่ง
จากการเข้าร่วมประชุม Kerala Rubber Convention 2011 ที่รัฐเกรละ แหล่งปลูกยางพาราสำคัญของอินเดีย ในปี 2554 นี้คาดว่าผลผลิตยางพาราอินเดียจะไม่พอเพียงกับความต้องการ และต้องนำเข้าไม่น้อยกว่า 144,000 ตัน โดยจะมีการนำเข้าจากไทยและอินโดนีเซียเป็นหลัก
สาเหตุสำคัญเนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์อินเดียมีการเติบโตสูง โดยในปี 2553 ขยายตัว 26% มียอดการผลิตถึง 15.5 ล้านคัน ขณะที่ผลผลิตยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้นไม่มากนัก สำหรับแนวโน้มความต้องการยางพาราในตลาดโลกจะยังคงขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องต่อไปในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยในปี 2558 คาดว่าจะมีความต้องการ 13.1 ล้านตัน และ ในปี 2563 จะเพิ่มเป็น 15.4 ล้านตัน จากปัจจุบันที่มีความต้องการ 11 ล้านตัน
สำหรับสถานการณ์ตลาดยางพาราโลกที่สำคัญ มีดังนี้
๑. การบริโภคยางในตลาดโลก ความต้องการยางพาราในตลาดโลกในปี 2554 มีราว 10.97 ล้านตัน ขยายตัว 4.6% ผู้บริโภครายใหญ่ ได้แก่ จีน (3.75 ล้านตัน) อินเดีย (1.06 ล้านตัน ) สหรัฐ (879,000ตัน) และญี่ปุ่น (769,000 ตัน) โดยปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญ คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่เติบโตสูงในจีนและอินเดีย แนวโน้มความต้องการยางพาราในตลาดโลกจะยังคงขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องใน 10 ปีข้างหน้า โดยในปี 2558 คาดว่าจะมีความต้องการ 13.1 ล้านตัน และ ในปี 2563 จะเพิ่มเป็น 15.4 ล้านตัน ขณะที่ผลผลิตจะมีเพียง13.8 ตัน จึงเป็นที่เกรงกันว่าอาจเกิดการขาดแคลนยางพาราในอนาคตอันใกล้
ในส่วนของจีน ในปี 2553 จีนมีการบริโภคยางพารา 3.75 ล้านตัน แต่กลับมีผลผลิตในประเทศเพียง 20% ของความต้องการ และมีแนวโน้มลดต่ำกว่าความต้องการสูงยิ่งขึ้น จีนจึงต้องนำเข้ายางพาราเป็นหลัก และต้องเข้าไปลงทุนปลูกยางในเวียดนามด้วย ผู้บริโภคสำคัญในจีนเป็นอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์คิดเป็น 70% ของการบริโภครวม ปัจจุบันจีนมีพื้นที่ปลูกยางรวมทั้งสิ้นกว่า 6 .5 ล้านไร่ ผลิตยางพาราได้ 687,000 ตันต่อปี สมาคมยางธรรมชาติของจีน (CNRA) คาดว่าอุปสงค์ยางพาราของในจีนปี 2558 จะพุ่งสูงเกิน 4.8 ล้านตัน เฉพาะอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์เพียงอุตสาหกรรมเดียวจะต้องการยางพารากว่า 3.3 ล้านตันในปี 2558
๒. ผลผลิตยางพาราโลก สถาบัน International Rubber Productivity รายงานว่า ผลผลิตยางพาราโลก ในปี 2554 จะมีราว 10.99 ล้านตัน โดยผู้ผลิตสำคัญ ได้แก่ ไทย (3.44 ล้านตัน) อินโดนิเซีย (2.86 ล้านตัน) มาเลเซีย (1.11 ล้านตัน) อินเดีย (916,000 ตัน) และเวียดนาม (795,000 ตัน -เป็นการลงทุนโดยจีน) ไทยยังคงครองความเป็นผู้นำในการผลิตยางพาราไว้ได้อย่างเหนียวแน่น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศโลก ทำให้ภาคอีสานของไทยมีความชื้นสูงขึ้น เหมาะแก่การปลูกยางพารา กล่าวโดยสรุป ประเทศไทย ณ ปัจจุบันสามารถปลูกยางพาราได้ทุกพื้นที่ของประเทศในทุกๆ จังหวัด
๓. พื้นที่เพาะปลูกยางอินเดีย อินเดียมีพื้นที่ปลูกยาง 4.3 ล้านไร่ (ไทย 16 ล้านไร่) ผลผลิตต่อไร่ของอินเดีย 285.44 กิโลกรัม/ไร่ (ไทย ประมาณ 280 กิโลกรัม/ไร่) อย่างไรก็ตามพื้นที่เพาะปลูกยางของอินเดียส่วนใหญ่ 76% กระจุกตัวอยู่ที่รัฐเกรละเป็นหลัก โดยเป็นรัฐที่ผลิตยางพาราได้ถึง 92%
ของอินเดียแม้ว่าจะมีความพยายามปลูกที่รัฐอื่นเพิ่มเติม แต่ผลผลิตต่อไร่ก็ไม่สูงเท่าเกรละ (ฤดูฝนของเกรละเป็นช่วง มิย.-ส.ค.) ซึ่งเป็นรัฐเดียวที่มีภูมิประเทศและฝนตกชุกคล้ายภาคใต้ของไทย แม้จะมีความพยายามพัฒนาสายพันธุ์ยางฯ ให้ทนอากาศร้อนและสามารถปลูกนอกเกรละแต่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร อินเดียกำลังพิจารณาลงทุนปลูกยางพาราในแอฟริกาเพื่อตอบรับกับปัญหายางพาราที่จะขาดแคลนในอนาคต
๔. อุตสาหกรรมยานยนต์อินเดียเป็นผู้บริโภคยางพารารายใหญ่ โดยมีสัดส่วนถึง 62%
ในปี 2553 อินเดียมีการผลิตยานยนต์ 15.5 ล้านคัน ขยายตัว 26% (จีน 18.1 ล้านคัน ขยายตัว 32% สำหรับในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัว 15%) ทั้งนี้การผลิตยานยนต์อินเดียแบ่งเป็น จักรยานยนต์ 76% รถยนต์นั่งส่วนบุคคล 16.25% รถบัสและรถบรรทุก 4.36% รถสามล้อเครื่อง 3.39%
อุตสากรรมหลักที่มีการบริโภคยางพารา ได้แก่ ยางรถยนต์/จักรยานยนต์ (55%)ยางจักรยาน/ยางใน (11%) รองเท้า (10%) สายยาง (5%) และอื่นๆ (19%)
๕. อุปสงค์-อุปทานยางพาราในอินเดีย
ในปี 2554 คาดว่าอินเดียจะบริโภคยางพารา 1.06 ล้านตัน (ขยายตัว 5.2%) ขณะที่คาดว่าจะมีผลผลิตเพียง 916,000 ตัน จึงต้องมีการนำเข้าประมาณ 144,000 ตัน (เพิ่มขึ้น 105%) อินเดียมีแนวโน้มต้องนำเข้ายางพาราเพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยปี 2553 อินเดียมีการนำเข้ายางจากต่างประเทศเป็นปริมาณมากกว่า 70,000 ตัน เพิ่มขึ้น 42% แหล่งนำเข้าสำคัญอันดับ 1 คือ อินโดนีเซีย(48%) รองลงมาเป็น ไทย (37%) และศรีลังกา (7%) ตามลำดับ โดยเป็นการนำเข้าจากไทย 196 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นสูงถึง 78% ทั้งนี้สมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์ (Atma) ให้ความเห็นว่าความต้องการนำเข้ายางพาราที่แท้จริงของอินเดียมีสูงถึง 200,000 ตันต่อปี ทั้งนี้รัฐบาลสนับสนุนให้มีการรีไซเคิลยางมากขึ้น แต่นั่นไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริงในขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์มีการเติบโตสูงถึง 26% ต่อปี
๖. การเปิดตลาดยางพาราในอินเดีย อินเดียมีผู้ผลิตยางรถยนต์ รายใหญ่ 7 ราย มีส่วนแบ่งตลาด 85% ของตลาดยางรถยนต์ ประกอบด้วยยี่ห้อ MRF, Apollo, JK Inds, CEAT, Goodyear, Bridgestone และ Falcon ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้เข้าร่วมพบปะกับผู้ประกอบการยางพาราและไม้ยางพาราจากจังหวัดตรังนำโดยพาณิชย์จังหวัด นายสุรัตน์ธาดา พิชยาภรณ์ ที่เยือนเมืองเจนใน ระหว่างวันที่ 10-12 กรกฎาคม 2554 ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง คาดว่าในปี 2554 นี้ยอดการส่งออกไม้ยางพาราจะเพิ่มขึ้นเป็น 20,000 ล้านบาท หรือขยายตัว หรือขยายตัว 20% เมื่อเทียบกับปี 2553 อันเป็นผลโดยตรงจากการเปิดตลาดยางในอินเดียในครั้งนี้ ในส่วนของยางแผ่น ก็ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการยางรถยนต์กันอย่างคับคั่งไม่แพ้กัน เนื่องจากปัจจุบันอินเดียผลิตยานยนต์ได้ถึงปีละ 15 ล้านคัน ขยายตัวปีละ 25% ขณะที่การผลิตยางพาราในประเทศกลับไม่พอกับกับความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงนับเป็นโอกาสดีที่จะสามารถขยายช่องทางตลาดสำคัญอย่างอินเดียเพื่อรองรับการขยายพื้นที่ปลูกยางเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านไร่ของไทยในปัจจุบัน
กล่าวโดยสรุป ประเทศไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขันสูงในตลาดยางพาราโลก ในขณะที่ความต้องการยางพารายังคงทะยานสูงขึ้นอย่างไม่มีท่าทีจะลดลงในอนาคตอันใกล้ จึงกล่าวได้ว่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า หากสถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก จะยังคงเป็นปีทองของผู้ประกอบการยางพาราไทยอย่างแน่นอน
ดร. ไพศาล มะระพฤกษ์วรรณ
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าฯ
ณ เมืองเจนไน