อินเดียตั้งเป้ารายได้จากการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในรัฐเกรละปี 2012 ที่ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 333 ล้านเหรียญในปี 2006 โดยอัตราการเติบโตของธุรกิจนี้อยู่ที่ราว 30% ต่อปี เตรียมปรับปรุง สร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานภายในรัฐ ดึงดูดต่างชาติ
ในส่วนของสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไนได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมงานประชุมนานาชาติด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (International Conference and Exhibition on Health Tourism) และแสดงเจตจำนงค์ที่จะประสานความร่วมมือกับทางอินเดียในการพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ โดย ณ สิ้นปี 2010 ประเทศไทยและอินเดียครองตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์รวมกัน 70% ของตลาดรวม
จากรายงานของ CII-McKinsy report คาดว่าธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของรัฐเกรละ จะเพิ่มขึ้นเป็น 4 พันล้านเหรียญในปี 2017 นักท่องเที่ยวจากเยอรมนี ฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์นิยมไปใช้บริการทางด้านการนวดแผนอายุรเวทที่รัฐเกรละ ขณะที่นักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันตกและอังกฤษนิยมไปใช้บริการแพทย์แผนปัจจุบันและการทำทันตกรรมที่รัฐเกรละ
เมืองโคชิ (Kochi) รัฐ เกรละ (Kerala) เป็นเมืองชายทะเลที่มีชื่อเสียงทางตอนใต้ของอินเดีย ฝั่งทะเลอาระเบียน (Arabian Sea) เป็นเมืองตากอากาศที่มีธรรมชาติสวยงาม มีทะเลสาบภายในที่ร่มรื่น นอกจากนั้น เมืองโคชิ และรัฐเกรละ ยังมีชื่อเสียงทางด้านการนวดแผนอายุรเวท (Ayurveda) โดยแต่ละปี มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศไปเยือนและใช้บริการแพทย์แผนโบราณ และแผนปัจจุบันเป็นจำนวนมาก เมืองโคชิมีโรงพยาบาลที่ทันสมัยในที่แต่ละปีรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไปใช้บริการเป็นจำนวนมากจากยุโรป
สถิตินักท่องเที่ยวจากต่างประเทศไปเยือนรัฐเกรละ ประกอบด้วย ชาวอังกฤษ 23% ชาวสหรัฐฯ 10.8% ชาวฝรั่งเศส 9.8% ชาวเยอรมัน 7.6% รัฐเกรละมีแผนที่จะดึงนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางไปเที่ยวรัฐเกรละ เนื่องจาก ชาวอินเดียที่ไปทำงานในตะวันออกกกลางส่วนใหญ่กว่า 75% ไปจากรัฐเกรละ ทำให้ชาวตะวันออกกลางคุ้นเคยกับชาวอินเดียจากรัฐเกรละเป็นอย่างดี นอกจากนั้น รัฐเกรละยังมีแผนงานที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากสแกนดิเนเวีย และออสเตรเลีย ให้เดินทางไปเยือนรัฐเกรละมากยิ่งขึ้นด้วย
ประเทศไทยเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวนิยมไปท่องเที่ยว โดยในปี 2554 มีนักท่องเที่ยวเกือบ 15 ล้านคนไปเยือนประเทศไทย โดยในจำนวนนี้ กว่า 8 แสนคนมาจากอินเดีย
ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักและชื่นชอบการบริการทางการแพทย์ของไทย ทั้งแผนโบราณและแผนปัจจุบัน รวมทั้งสถานพยาบาลของไทย ตลอดจนบุคคลากรทางการแพยท์ของไทยมีคุณภาพและมีการบริการชั้นเลิศ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ไปรับบริการทางการแพทย์ที่ประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 57,000 คนในปี 2001 เป็น 1.39 ล้านคนในปี 2009 และ 1.8 ล้านคนในปีล่าสุด
ความสำเร็จของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยมาจาก
- ความคุ้มค่าของค่าใช้จ่าย ราคาค่าบริการทางการแพทย์ของไทยถูกกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วกว่าครึ่ง
- การบริการชั้นเลิศ
- ความสะดวกในเรื่องการนัดหมาย
- สถานพยาบาลเป็นที่ยอมรับน่าเชื่อถือ
- บุคลากรทางการแพทย์มีความสามารถ
ชาญชัย จรัญวัฒนากิจ
กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน