รัฐบาลอินเดียรับรองนโยบายอุตสาหกรรมการผลิตแห่งชาติ (National Manufacturing Policy) หวังดึงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ คาดสร้างงาน 100 ล้านตำแหน่งใน 10 ปีข้างหน้า
นโยบายฉบับใหม่จะเสนอให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่นักลงทุน นับตั้งแต่ผลประโยชน์ด้านภาษีจนถึงเรื่องการเปิดช่องทางอนุมัติเดียวแบบครบวงจร (single-window approval) สำหรับการดำเนินโครงการสร้างเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่บนที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือไม่เหมาะสมในการทำเกษตรกรรมที่รัฐบาลจะจัดหาให้ ในเบื้องต้นกำหนดจะจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมการผลิตและการลงทุนแห่งชาติ (National Investment and Manufacturing Zones – NIMZ) จำนวน 7 แห่ง ที่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งจัดตั้งเป็นเมืองอุตสาหกรรมและอีกส่วนหนึ่งอนุรักษ์ไว้เป็นพื้นที่สีเขียว ตั้งอยู่ตาม Delhi-Mumbai Industrial Corridor ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า โดยจะครอบคุลมพื้นที่ 6 รัฐ ได้แก่
Ahmedabad-Dholera (รัฐคุชราต พื้นที่ 900 ตารางกิโลเมตร)
Shendra-Bidkin (รัฐมหาราษฎระ พื้นที่ 84 ตารางกิโลเมตร)
Manesar-Bawal (รัฐหรยาณา พื้นที่ 380 ตารางกิโลเมตร)
Khushkhera-Bhiwadi-Neemrana (รัฐราชสถาน พื้นที่ 150 ตารางกิโลเมตร)
Dighi Port Area (รัฐมหาราษฎระ พื้นที่ 230 ตารางกิโลเมตร)
Dadri-Noida-Ghaziabad (รัฐอุตตรประเทศ พื้นที่ 250 ตารางกิโลเมตร)
และ Pithampur-Dhar-Mhow (รัฐมัธยประเทศ พื้นที่ 370 ตารางกิโลเมตร)
ทั้ง 6 รัฐข้างต้นของอินเดียมีผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมกัน43% ของอินเดีย มีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกรวม 50% ของอินเดีย และมีจำนวนแรงงานรวม 40% ของแรงงานทั้งประเทศ
นอกจากนี้นโยบายอุตสาหกรรมการผลิตแห่งชาติดังกล่าวยังกำหนดให้เมืองอุตสาหกรรมต่างๆ มีนิติบุคคลเฉพาะกิจ (special purpose vehicle) เปิดช่องทางอนุมัติเดียวแบบครบวงจร ปรับปรุงกฎระเบียบเรื่องสิ่งแวดล้อม จัดตั้งกองทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานที่อาจตกงานอันเนื่องมาจากโรงงานในเขต NIMZ ปิดกิจการ ยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีที่เน้นการประหยัดพลังงาน มีหน่วยงานดูแลด้านน้ำและสิ่งแวดล้อม ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งผ่อนปรนด้านภาษีให้แก่เอกชน หากนำไปใช้ลงทุนตั้งบริษัทใหม่ และให้สิทธิทางภาษรีสำหรับเงินทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ตลอดจนจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงานขึ้นภายในเขต NIMZ
บัญชา ยืนยงจงเจริญ
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ