อินเดียบี้หนัก วางโร้ดแม็ปเป็นเจ้าตลาดยาสามัญ
คาดกันว่าอุตสาหกรรมยาของอินเดียจะมีมูลค่าราว 5.5 หมื่นล้านเหรียญ หรืออาจจะถีบตัวได้สูงถึง 7 หมื่นล้านเหรียญภายในปี 2563 จากปัจจุบันที่มีมูลค่าราว 2.6 หมื่นล้านเหรียญ ผลักดันด้วยประเด็นสำคัญคือ สิทธิบัตรยาหลายตัวเริ่มทยอยหมดอายุลง สภาพเศรษฐกิจชะลอตัวของประเทศยักษ์ใหญ่ และความต้องการควบคุมค่าใช้จ่ายในด้านการรักษาสุขภาพ ทำให้ยาของอินเดียขยับขึ้นมาเป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษา
ด้วยความพยายามจะตีตลาดโลก ในเวทีเจรจาการค้า อินเดียจึงมีประเด็นเรื่องนี้เป็นเงื่อนไข ทำให้การเจรจากรอบการค้าเสรีไทย-อินเดีย อาเซียน-อินเดีย และยุโรป-อินเดีย ยังไม่มีทีท่าจะได้ผลสรุปในเร็ววันนี้ แม้จะมีการเจรจาแล้วหลายรอบก็ตาม
คู่แข่งสำคัญคือ จีน เป็นความท้าทายที่ทำให้ยาอินเดียต้องมีประสิทธิภาพ แข่งขันได้ โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมยาของจีนมีขนาดใหญ่กว่าอินเดียหลายเท่าตัว ดังนั้นประโยชน์สูงสุดจึงน่าจะตกแก่ผู้บริโภค ที่จะมีทางเลือกในการใช้ยาที่มีคุณภาพ ราคาซื้อหาได้ เมื่อเวทีการค้าเรื่องยาเปิดกว้างขึ้นทุกขณะ
ด้วยภาระด้านการดูแลสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นการยากสำหรับประเทศเศรษฐกิจใหญ่อย่างสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นที่จะคงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้ได้ในระดับปัจจุบัน นั่นหมายความว่ายาสามัญจะได้รับการส่งเสริมมากขึ้นในกลุ่มประเทศเหล่านี้เพื่อเป็นการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ
โอกาสเติบโตอย่างแข็งแกร่งของผู้ผลิตยารายอื่นที่ไม่ใช่แบรนด์ระดับโลกค่อยๆ เปิดกว้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่สิทธิบัตรของยาแบรนด์ดังๆ หลายตัวที่มียอดขายรวมกันในปัจจุบันมากกว่า 1 แสนล้านเหรียญทยอยหมดอายุลง ในระหว่างปี 2554-2557
บริษัทผลิตยาสามัญรายใหญ่ของโลก 3 อันดับแรก (โดยยอดขาย) คือ Teva, Novartis (Sandoz) และ Mylan
ตลาดสำคัญ 8 แห่งที่เป็นโอกาสสำหรับยาสามัญซึ่งไม่ใช่แบรนด์ระดับโลกคือ สหรัฐฯ เยอรมัน ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร แคนาดา อิตาลี สเปน และญี่ปุ่น โดยประเทศเหล่านี้มียอดขายยาสามัญ 84% ของยอดขายรวมทั้งโลก
ตลาดยาสามัญใหญ่ 3 อันดับแรก
ตลาด |
ประเด็นสำคัญ |
สหรัฐฯ
|
- เป็นตลาดยาสามัญที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่า 3.13 หมื่นล้านในปี 2552 - ในปี 2551, 69% ของใบสั่งยาจากแพทย์เป็นยาสามัญ - ยาสามัญช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพของสหรัฐฯ ไปมากกว่า 7.34 แสนล้านเหรียญในระหว่างปี 2542- 2551 - ปัจจุบันมียาสามัญกว่า 9,000 รายการในสหรัฐฯ - ภายในปี 2554 สิทธิบัตรยาที่มียี่ห้อมูลค่ารวมกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญจะหมดอายุลง - ยาที่สิทธิบัตรจะหมดอายุลงจะสูญเสียรายได้ 80% ให้กับบริษัทคู่แข่งยาสามัญอื่น |
ยุโรป |
- รายได้จากยาสามัญในยุโรปมีมูลค่า 1.47 หมื่นล้านเหรียญในปี 2550 และคาดจะแตะที่ระดับ 2.02 หมื่นล้านเหรียญภายในปี 2555 - ตลาดยุโรปครองสัดส่วน 25.5% ของรายได้ยาสามัญทั่วโลกระหว่างปี 2548 - เยอรมนีเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป สร้างรายได้ 45.4% ของรายได้ทั้งหมด หรือ 6.7 พันล้านเหรียญ ตามมาด้วยสหราชอาณาจักร (27.8%) ฝรั่งเศส (13.0%) |
ญี่ปุ่น |
- ตลาดยาสามัญในญี่ปุ่นมีสัดส่วน 20% ของตลาดเภสัชกรรมของญี่ปุ่นในปี 2552 - คาดว่าอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีจะอยู่ที่ 7.8% ระหว่างปี 2552-2557 - บริษัทยาญี่ปุ่นหลายแห่งปรับตัวรองรับการเปิดตลาดยาสามัญ เช่นการเข้าซื้อกิจการ Ranbaxy ของ Daiichi Sankyo ในปี 2551 - บริษัทยาสามัญญี่ปุ่น Teva-Kowa Pharma ก่อตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่าง Teva Pharmaceutical บริษัทจากอิสราเอล และ Kowa ในปี 2551 เข้าซื้อหุ้น 2 ใน 3 ของบริษัทผลิตยาสามัญญี่ปุ่น Taisho Pharmaceutical Industries ในปี 2552 - บริษัทข้ามชาติ Sanofi Aventis ร่วมมือกับบริษัทยาสามัญที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น Nichi-Iko ในปี 2553 - ตลาดยาสามัญญี่ปุ่นมีมูลค่า 5.1 พันล้านเหรียญในปี 2552 เติบโต 9.1% คาดว่าจะขยายตัว 9.8% มาที่ 7.5 พันล้านเหรียญในปี 2557 |
บริษัทยาระดับโลกต่างเตรียมปรับกลยุทธ์ ไม่เพียงเพื่อรับมือการเจาะตลาดของอินเดีย แต่ยังรวมถึงมหาอำนาจอย่างจีน ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทยาข้ามชาติเข้ามาร่วมลงทุนแล้วกว่า 300 ราย ไม่นับรวมบริษัทยาภายในประเทศที่เติบโตเป็นสองเท่าตัวมาอยู่ที่ 2,424 รายในปี 2551
ภาคอุตสาหกรรมยาของอินเดียมีผู้ผลิตมากกว่า 2 หมื่นราย ราว 250 แห่ง เป็นบริษัทขนาดใหญ่ และราว 8,000 แห่งเป็นบริษัทขนาดเล็กลงมา ซึ่งเป็นกลุ่มหลักในอุตสาหกรรมยาในอินเดีย อุตสาหกรรมยาของอินเดียสามารถตอบสนองความต้องการยาภายในประเทศได้ราว 70%
ปัจจุบันอุตสาหกรรมยาอินเดียมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกในแง่ของปริมาณ และมีสัดส่วน 10% ของการผลิตทั่วโลก ในขณะที่ในเชิงของมูลค่า อินเดียอยู่ที่อันดับ 14 ของโลกโดยมีสัดส่วน 1.5% ของมูลค่าทั้งอุตสาหกรรมทั่วโลก จากข้อมูลของกรมเภสัชกรรม กระทรวงเคมีและอินทรีย์ชีวภาพ รายได้ของอุตสาหกรรมยาในอินเดียมีมูลค่า 2.6 หมื่นล้านเหรียญ ในปี 2553 เป็นการส่งออก 1.39 หมื่นล้านเหรียญ
ตลาดยาสามัญทั้งโลกมีมูลค่า 1.10 แสนล้านเหรียญในปี 2553 ในขณะที่ตลาดเภสัชกรรมทั้งหมดมีมูลค่า 8.20 แสนล้านเหรียญ คาดว่าตลาดยาสามัญจะมีมูลค่าเติบโตอยู่ที่ 1.29 แสนล้านเหรียญภายในปี 2557
ผู้ผลิตยารายใหญ่ของอินเดีย
ชื่อบริษัท |
ยอดขาย (ล้านดอลลาร์) |
ปีงบประมาณ |
Ranbaxy Lab |
1,896.76 |
มีนาคม 2554 |
Dr.Reddy’s Lab’s |
1,659.84 |
มีนาคม 2554 |
Cipla |
1,360.85 |
มีนาคม 2554 |
Sun Sharma |
1,271.42 |
มีนาคม 2554 |
Lupin Ltd |
1,268.18 |
มีนาคม 2554 |
Cadila Health |
992.14 |
มีนาคม 2554 |
Aurobindo Pharma |
973.66 |
มีนาคม 2554 |
Wockhardt |
833.60 |
มีนาคม 2554 |
Glenmark Pharma |
655.34 |
มีนาคม 2554 |
Biocon |
615.71 |
มีนาคม 2554 |
Piramal Health |
557.74 |
มีนาคม 2554 |
อย่างไรก็ตาม อินเดียยังมีความท้าทายสำคัญทั้งในเชิงนโยบาย และการทำการตลาด ที่ต้องทำการบ้าน เพื่อให้สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้ นั่นคือ
- ประเด็นการจ่ายยาสามัญของแพทย์
- อุปสรรคเรื่องกฎระเบียบ
- กฎหมายเรื่องการกำหนดราคาของประเทศต่างๆ
- การต่ออายุสิทธิบัตร
- ความไม่ไว้วางใจในยาสามัญ และความนิยมในยามียี่ห้อ แม้ว่าอายุสิทธิบัตรจะสิ้นสุดลงแล้ว
ปิยรัตน์ เศรษฐศิริไพบูลย์