อินเดียชะลอแผนผ่อนคลายกฎค้าปลีก โอกาสค้าปลีกไทยไม่นิ่งตาม
แม้ว่าทางการอินเดียจะประกาศชะลอแผนการผ่อนคลายกฎระเบียการค้าปลีก แต่ใช่ว่าโอกาสสำหรับบริษัทค้าปลีกไทยจะเลือนหายไปด้วย
การเปิดเสรีค้าปลีกจากต่างประเทศของรัฐบาลอินเดียยังอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ยังไม่สามารถตกลงกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการเปิดเสรีค้าปลีกจากต่างประเทศประเภท Multi-Brand Retailers ซึ่งน่าจะยังไม่ส่งผลกระทบกับโอกาสของประเทศไทยมากนัก เนื่องจากบริษัทค้าปลีกจากประเทศไทยยังอาจจะไม่พร้อมที่จะเข้ามาแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ค้าปลีกอย่าง Wal-Mart หรือ Carrefour ได้ แต่โอกาสสำหรับบริษัทค้าปลีกไทยที่จะเข้าไปลงทุนในบริษัทค้าปลีกประเภท Single-Brand Retailers ก็ยังคงมีอยู่ เนื่องจากตามกฎหมายเดิมบริษัทค้าปลีกต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ในสัดส่วนถึง 51% อยู่แล้ว เพียงแต่มีข้อกำหนดว่าบริษัทนั้นจะต้องเป็นเจ้าของ Brand เอง ซึ่งในประเทศไทยมีอยู่หลายบริษัทที่สามารถเข้าตลาดอินเดียภายใต้เงื่อนไขนี้ได้ เช่น แฟรนไชส์ร้านอาหาร/เครื่องดื่ม โรงภาพยนต์แบบครบวงจร เป็นต้น และในอนาคตหากมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีตามที่รัฐบาลเสนอ คือ อนุญาตให้บริษัทต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ 100% ก็จะยิ่งทำให้บริษัทค้าปลีกของไทยประเภท Single-Brand Retailers มีโอกาสมากยิ่งขึ้นไปอีก
รัฐบาลอินเดียโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (Mr. Pranab Mukherjee) ได้แถลงเมื่อวันพุธที่ 7 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลตัดสินใจที่จะชะลอการนำกฎหมายว่าด้วยการเปิดเสรีค้าปลีกสำหรับบริษัทค้าปลีกต่างชาติประเภทจำหน่ายสินค้าหลากหลายยี่ห้อ (Multi-Brand Retailers) อย่าง Wal-Mart, Tesco, Carrefoure ฯลฯ เข้าพิจารณาในรัฐสภาออกไปก่อนจนกว่าจะได้มีการหารือระหว่างผู้มีส่วนได้เสียเพื่อให้ได้ฉันทามติร่วมกันก่อนที่จะเดินหน้าต่อไป โดยผู้มีส่วนได้เสีย หมายถึง มุขมนตรีของแต่ละรัฐและนักการเมืองจากพรรคต่างๆ ทั้งนี้ รัฐบาลเห็นว่านโยบายเปิดเสรีค้าปลีกจากต่างประเทศจะไม่สามารถดำเนินการได้ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้เสียข้างต้น อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ดังกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมิได้กล่าวถึงการเปิดเสรีค้าปลีกจากต่างประเทศประเภทจำหน่ายสินค้ายี่ห้อเดียว (Single-Brand Retailers) แต่อย่างใด
การเปิดเสรีค้าปลีกจากต่างประเทศที่เสนอโดยรัฐบาลอินเดียกลายเป็นประเด็นร้อนที่ทำให้หลายภาคส่วนออกมาแสดงปฏิกิริยาทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จนทำให้รัฐสภาอินเดียไม่สามารถประชุมร่วมกันได้ถึง 9 วันอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย อยู่ที่การที่รัฐบาลมีข้อเสนอจะอนุญาตให้บริษัทค้าปลีกต่างชาติสามารถเข้าไปถือหุ้นในบริษัทค้าปลีกประเภท Multi-Brand Rertailers ได้ 51% จากที่ไม่เคยอนุญาตเลย ส่วนการอนุญาตให้ขยายสัดส่วนผู้ถือหุ้นโดยบริษัทค้าปลีกต่างชาติในบริษัทค้าปลีกประเภท Single-Brand Retailers จาก 51% เป็น 100% นั้นไม่มีปฏิกิริยาคัดค้านจากผู้เกี่ยวข้องมากเท่าใดนักและไม่ได้มีการกล่าวถึงในแถลงการณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย
สำหรับอุตสาหกรรมค้าปลีกของอินเดียมีมูลค่าถึงปcละ 450 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะขยายตัวถึง 675 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปิ 2559 โดยแบ่งเป็นผู้ค้าปลีกขนาดย่อม (Kirana) ถึง 90% และเป็นบริษัทค้าปลีกสมัยใหม่ (Organized Retailers) เพียง 10% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม บริษัทค้าปลีกสมัยใหม่กลับมีอัตราการเจริญเติบโตถึงปิละประมาณ 20% อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่ในอินเดีย ซึ่งคาดว่าภายในอีก 5 ปิข้างหน้า จะมีการลงทุนในส่วนนี้อีกประมาณ 35 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนั้น ยังเป็นผลมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคชาวอินเดียที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงระดับสูงที่นิยมจับจ่ายใช้สอยในศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่มากขึ้น
โดยภาพรวมแล้วผู้ค้าปลีกขนาดย่อม (Kirana) ยังต่อต้านการเปิดเสรีค้าปลีกจากต่างประเทศประเภท Multi-Brand Retailers อยู่ แต่สนับสนุนบริษัทค้าส่งประเภท Cash and Carry จากต่างประเทศซึ่งเข้าตลาดมาแล้ว คือ Bharti Wal-Mart, Metro และ Carrefour ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นผู้ค้าปลีกขนาดย่อมใน 3 เมือง คือ เดลี (Delhi) ซิรัคปูร์ (Zirakhpur) และบังกาลอร์ (Bangalor) โดยหนังสือพิมพ์ Hindustan Times พบว่าราคาขายส่งของบริษัทค้าส่งประเภท Cash and Carry มีราคาถูกกว่าราคาขายส่งของผู้ค้าส่งในตลาดค้าส่งแบบดั้งเดิม (Mandi) ถึง 15% และยังมีความสะดวกให้กับผู้ค้าปลีกขนาดย่อมที่สามารถเลือกซื้อสินค้าที่หลากหลายในที่เดียวกัน
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ