Reliance Industries ยักษ์ใหญ่ธุรกิจน้ำมันและก๊าซของอินเดียมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านเหรียญ เตรียมเปิดตัวแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดของตัวเองในปีหน้า เอาใจไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของคนรุ่นใหม่
บริษัท ซึ่งมีธุรกิจให้บริการทางโทรคมนาคมใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอินเดีย เห็นโอกาสในธุรกิจฟาสต์ฟู้ดซึ่งมีอัตราการเติบโตอย่างน้อย 25% ต่อปี แม้กระทั่งฟาสต์ฟู้ดแบรนด์ต่างชาติอย่าง McDonalds และ Domino ยังปรับปรุงเมนูเพื่อให้ถูกปากคนอินเดีย จนสามารถตีตลาดบดบังรัศมีเชนร้านอาหารท้องถิ่นอย่าง Jumbo King และ Saravana Bhavan
Reliance ซึ่งธุรกิจค้าปลีกในเครือภายใต้การบริหารของ Reliance Retail มีร้านค้าทั้ง Reliance Fresh, Reliance Super และ Reliance Mart รวมกันราว 1,146 สาขาทั่วอินเดีย มีแผนจะชิมลางธุรกิจฟาสต์ฟู้ดที่เมืองเดลี มุมไบ และบังคาลอร์ก่อน
ธุรกิจร้านอาหารมีมูลค่าราว 7 หมื่นล้าน ถึง 8.5 หมื่นล้านรูปีในปัจจุบัน และคาดว่าจะเติบโตไปอยู่ที่ราว 2.8 แสนล้านรูปีภายในปี 2015
เชนร้านอาหารต่างชาติได้เข้ามาเปิดตลาดแล้วในอินเดีย อาทิเช่น McDonals, KFC, Pizza Hut, Subway, Quiznos, Costa Coffee, Country Chicken และ Taco Bell ในขณะที่ Starbucks, Dunkin Donuts และ Pizza Express กำลังเตรียมจะเข้ามา ไม่รวมถึงร้านท้องถิ่นมากมาย ซึ่งทั้งหมดมองเห็นศักยภาพในการเติบโตของชนชั้นกลางของอินเดียที่มีแนวโน้มจะทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น ไม่เพียงเพื่อการสังสรรค์ แต่หมายถึงรูปแบบชีวิตที่เปลี่ยนไปเป็นสังคมครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น และการใช้เวลาในการทำงานมากขึ้น นำไปสู่ชีวิตที่เร่งรีบ การหาอาหารรับประทานได้อย่างรวดเร็ว มีบริการส่งถึงที่บ้าน หรือที่ทำงาน
บริษัทอินเดียรายอื่นก็หันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจอาหาร ทั้งบริษัท Lite Bite Foods และ Milk Marketing Federation ต่างเข้ามาในธุรกิจร้านอาหาร เชนร้าน Sagar Ratna Hotels ก็เพิ่งถูกซื้อไปโดย Private Equity ด้วยราคา 1.8 พันล้านรูปี ในขณะที่บริษัทร่วมทุนของ ICICI ธนาคารอันดับ 2 ของอินเดียได้ลงทุนราว 2.5 พันล้านรูปีใน Devyani International ซึ่งบริหารเชนร้าน KFC, Pizza Hut และ Costa Coffee
Reliance Industries เป็นเจ้าเดียวที่ได้ใบอนุญาตให้บริการ 4G ทั่วอินเดีย ซึ่งสามารถให้บริการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่ความเร็วมากกว่า 100 Mbps บริษัทจ่ายค่าใบอนุญาตไป 1.3 แสนล้านรูปี (ราว 9 หมื่นล้านบาท) และเตรียมจะให้บริการ 4G ภายในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าโดยคิดราคาค่าบริการเพียง 10 รูปีต่อ 10 GB หรือเกือบหนึ่งใน 10 ของค่าบริการ 3G ที่มีให้บริการอยู่ในปัจจุบัน นอกจากธุรกิจน้ำมันและก๊าซ การให้บริการโทรคมนาคม และร้านค้าปลีก บริษัทยังมีธุรกิจร้านหนังสือและเพลงภายใต้แบรนด์ Time Out ห้างสรรพสินค้าภายใต้แบรนด์ Trends รองเท้าภายใต้แบรนด์ Footprint สินค้าคงทนภายใต้แบรนด์ Digital และอุปกรณ์ตกแต่งบ้านภายใต้แบรนด์ Living
สรุปจาก Economic Times
ปิยรัตน์ เศรษฐศิริไพบูลย์