อินเดียกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ
อินเดียกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ
India's medical and wellness tourism industry: AYUSH
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
จากชื่อเสียงของอินเดียในฐานะผู้ผลิตยา วัคซีน และเวชภัณฑ์คุณภาพดีด้วยราคาที่เข้าถึงได้ รวมไปถึงจากกระแสและความนิยมของโยคะอายุรเวท และการให้บริการการทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ทำให้อินเดียกลายเป็นเป้าหมายสำคัญและเป็นปลายทางของนักท่องเที่ยวที่แสวงหาการพักผ่อนไปพร้อมๆกับการดูแลรักษาสุขภาพ หรือการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ (medical and wellness tourism)
การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพนั้น หมายถึงการที่ผู้คนจากต่างชาติตัดสินใจที่จะเดินทางไปยังต่างประเทศอย่างน้อย 1 คืน เพื่อพักผ่อนและเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ของร่างกายและจิตใจ ทั้งแบบสมัยใหม่และดั้งเดิม โดยกระทรวงการท่องเที่ยวของอินเดียให้คำจำกัดความ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) คือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปยังต่างประเทศเพื่อรักษา พัฒนา และฟื้นฟูสุขภาพผ่านการรับบริการทางการแพทย์ การเสริมสร้างสุขภาพ และการรักษาผ่านการแพทย์ดั้งเดิม ในขณะที่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism ) คือการเดินทางที่เกี่ยวข้องกับการรักษาหรือเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจระหว่างการพักผ่อนหรือการทำธุรกิจ ทั้งนี้สาเหตุที่การท่องเที่ยวในลักษณะดังกล่าวได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเนื่องมาจากกระแสการรักษ์สุขภาพของคนวัยทำงาน การเข้าสู่สังคมสูงวัยของโลก และการแนวโน้มโรคติดต่อไม่เรื้อรังที่เพิ่มสูงขึ้น
ในทศวรรษที่ผ่านมา อินเดียกลายมาเป็นปลายทางระดับโลกของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วและได้รับความนิยมอย่างมาก สะท้อนให้เห็นว่าจุดแข็งสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพของอินเดีย ประกอบไปด้วย คุณภาพของการดูแลและให้บริการทางการแพทย์ โครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือทางการแพทย์ รวมไปถึงเครื่องมือในการวินิจฉัยโรคที่ทันสมัยและมีคุณภาพในระดับสากล ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า กล่าวคือ ในการรักษาทางเลือกในอินเดียมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าในสหรัฐอเมริกาถึง 1 ใน 4 ซึ่งแม้แต่นักท่องเที่ยวที่มีงบประมาณจำกัด ยังสามารถเข้าถึงบริการชั้นหนึ่งในอินเดียได้
นอกจากนี้ด้านทรัพยากรมนุษย์ บุคลากรทางการแพทย์ของอินเดียมีความเชี่ยวชาญด้านการใช้ภาษาอังกฤษ อีกทั้งทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะแพทย์ได้รับการอบรมทักษะและผ่านการปฏิบัติงานในสถาบันการแพทย์สำคัญทั้งในยุโรปและอเมริกา และพยาบาลของอินเดียที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันต่างๆ กว่า 1,000 แห่ง และสามารถผลิตบัณฑิตได้มากกว่า 10,000 คนต่อปี ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในธุรกิจสุขภาพดังกล่าว
ประกอบกับกระแสการแพทย์ทางเลือกซึ่งเป็นการสร้างสุขภาพไปพร้อมๆกับวิถีชีวิตที่ลดความตึงเครียดและสร้างความสมดุลในชีวิตนั้น อินเดียถือว่าเป็นประเทศที่มีความร่ำรวยในวัฒนธรรมการดูแลรักษาสุขภาพแบบดั้งเดิมและระบบการแพทย์โบราณ ทั้งอายุรเวท โยคะ การขับพิษด้วยปัญจกรรมะ (Pachakarma) การฟื้นฟูและชะลอวัย (Rejuvenation Therapy) และปรัชญาสุขภาพ ที่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่รักสุขภาพ ในการขับเคลื่อนการท่องท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้น หนึ่งในกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญคือกระทรวง AYUSH ซึ่งมาจากคำย่อของอายุรเวท (Ayurveda), โยคะและธรรมชาติบำบัด (Yoga และ Naturopathy), การรักษาด้วยสมุนไพรทางเลือก (Unani), เวชศาสตร์ทางเลือกแผนอินเดียใต้ (Siddha), และการรักษาโรคด้วยการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Homeopathy) โดยกระทรวง AYUSH ร่วมกับ คณะกรรมการรับรองโรงพยาบาลและสถานบริการสุขภาพได้ออกแนวปฏิบัติเพื่อการรับรองศูนย์สุขภาพ และล่าสุดได้กำหนดให้มีตราสัญลักษณ์ AYUSH Mark เพื่อรับประกันสินค้าและบริการในภาคการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของอินเดียอีกด้วย
เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพนั้น กระทรวงการท่องเที่ยวของอินเดีย ได้ระบุให้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นหนึ่งในสินค้าการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม (Niche Tourism Products) และกำหนดยุทธศาสตร์แห่งชาติและแผนงานเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันของรัฐบาลกลาง รัฐบาลแห่งรัฐ และภาคเอกชน โดยกำหนด 6 เสาหลักในแผนปฏิบัติ ดังนี้
เสาที่ 1 รักษาในอินเดีย (Heal in India) รัฐบาลได้สร้างแบรนด์ของประเทศในฐานะที่เป็นปลายทางสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ โดยในการสร้างการรับรู้ดังกล่าว อินเดียไม่ได้เน้นเพียงการแพทย์สมัยใหม่เท่านั้น แต่ยังเน้นการเป็นศูนย์กลางของการแพทย์ทางเลือกในศาสตร์และรักษาแบบโบราณของอินเดีย
เสาที่ 2 เสริมระบบนิเวศในปัจจุบัน (Bolstering the current ecosystem) รัฐบาลอินเดียจะต้องสร้างระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ โดยบูรณาการกับผู้ประกอบการ โรงแรม และ สายการบิน เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งหัวใจสำคัญประกอบไปด้วยการสร้างสิ่งสนับสนุนและอำนวยความสะดวกสำหรับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ การยกระดับผู้ให้บริการทางการแพทย์ และการเชื่อมต่อผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
เสาที่ 3 การปรับปรุงฐานข้อมูลการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ (Revamping of the MVT Portal) เพื่อนำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดสู่ระบบออนไลน์เพื่อให้ข้อมูล เชื่อมต่อ อัพเดท และการบริการแบบครบวงจร ซี่งจะทำให้ผู้รับบริการได้รับความสะดวกและประสบการณ์ที่ปลอดภัยในอินเดีย โดยปัจจุบันผู้สนใจสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลด้านสินค้า การให้บริการ ผู้บริการ รวมไปถึงสิ่งสนับสนุนต่างๆได้ที่ http://www.indiahealthcaretourism.com
เสาที่ 4 การปฏิรูปการเข้าถึง (Accessibility focuses reforms) เพื่อให้การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพของอินเดียสามารถเข้าถึงได้ในระดับสากล การปฏิรูปการให้วีซ่าแบบออนไลน์และวีซ่าเฉพาะสำหรับนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เป็นสิ่งที่อินเดียกำลังดำเนินการ เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับการเข้าประเทศ การตรวจคนเข้าเมือง ระบบการคมนาคม รวมไปถึงการจัดให้มีโต๊ะหรือจุดให้ความช่วยเหลือ ณ สนามบินต่างๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ
เสาที่ 5 ให้ความสำคัญมากขึ้นกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (increased focus on wellness tourism) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีขอบข่ายการรักษาที่รวมไปถึงการป้องกันโรค สปา ฟิตเนส และความงาม ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการจำนวนมากเข้าสู่ธุรกิจดังกล่าว ทั้งนี้รัฐบาลมีหน้าที่ในการให้คำแนะนำ กำหนดมาตรฐาน และรับรองเพื่อรับประกันคุณภาพแก่นักท่องเที่ยว โดยปัจจุบันกระทรวงการท่องเที่ยวได้ขยายความช่วยเหลือด้านการตลาดและด้านงบประมาณสนับสนุนไปสู่ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอีกด้วย
เสาที่ 6 คณะกรรมการการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพแห่งชาติ (National Medical and Wellness Tourism Board) ในปี 2015 กระทรวงการท่องเที่ยวได้ตั้งคณะกรรมการการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพแห่งชาติเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนด้านดังกล่าว โดยมุ่งเน้นให้ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง (Patients Centric) นอกจากนี้ยังมีหน้าที่สำคัญในการกำหนดนโยบายและให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการภาคส่วนต่างๆ รวมไปถึงสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพในอินเดีย
ความสำเร็จที่สำคัญของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของอินเดียนั้นสะท้อนจากแนวโน้มของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวดังกล่าวที่จะเติบโตถึง 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2026 ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยเฉพาะรัฐเกราละ (Kerala) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณตอนใต้ของประเทศ และรัฐอุตรขัณฑ์ (Uttarakhand) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศเป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์การเรียนรู้ด้านโยคะ ณ เมืองฤษีเกศ (Rishikesh) เป็นรัฐและพื้นที่สำคัญสำหรับการรองรับและพัฒนาระบบการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพชองอินเดียจนได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีเมืองสำคัญที่รองรับการท่องเที่ยวทางการแพทย์ในอินเดียที่ได้รับความนิยมได้แก่ เชนไน มุมไบ นิวเดลี อาเมห์ดาบาด และบังกาลอร์ และมีผู้ประกอบการสำคัญที่ได้รับความนิยม อาทิ Carnoustie Ayurveda and Wellness Resort, Niraamaya Wellness Retreat, Aatmantan Wellness Center, Mekosha Ayurvedic Retreat, และ Ananda in the Himalayas เป็นต้น โดยในปี 2019 นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังอินเดียด้วยวีซ่าทางการแพทย์เป็นจำนวนถึง 697,000 คน โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากอัฟกานิสถาน โอมาน บังคลาเทศ มัลดีฟส์ ไนจีเรีย เคนยา และอิรัก และมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ถึงร้อยละ 19 ในปี 2022 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามความท้าทายของอินเดียที่สำคัญคือการเร่งพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการท่องเที่ยวดังกล่าวเพื่อรองรับลูกค้ารายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งสร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานและขีดความสามารถในการให้บริการ รวมทั้งการรับมือกับคู่แข่งในระดับโลกที่สำคัญที่สามารถให้บริการการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในราคาประหยัดได้เช่นกัน อาทิ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ตุรกี และเกาหลีใต้
อนึ่ง การท่องเที่ยวเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ นับเป็นกระแสการบริโภคยุคใหม่ที่มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ด้วยขนาดประชากรของอินเดียที่มีจำนวนมาก อาจเป็นโอกาสและตลาดสำคัญอีกประการที่ผู้ประกอบการและนักลงทุนชาวไทยไม่ควรมองข้าม หรือในขณะเดียวกันการพานักท่องเที่ยวชาวไทยเพื่อมารับประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพในอินเดียก็เป็นที่น่าสนใจไม่น้อย
* * * * *
อ่านเพิ่มเติมที่
1. https://sundayguardianlive.com/business/india-must-increase-its-share-in-wellness-tourism-market
2. https://www.investindia.gov.in/team-india-blogs/india-global-medical-and-wellness-tourism-destination
3. https://www.clearias.com/medical-tourism-india/
4. https://www.mordorintelligence.com/industry-reports/india-wellness-tourism-market
5. https://www.eoiriyadh.gov.in/page/wellness-tourism-in-india/
6. https://www.magazine.medicaltourism.com/article/indias-efforts-to-capitalize-on-wellness-tourism
7. https://tourism.gov.in/sites/default/files/2022-05/National%20Strategy%20and%20Roadmap%20for%20Medical%20and%20Wellness%20Tourism.pdf
8. https://tourism.gov.in/wellness-tourism