อินเดียกับอุตสาหกรรมยาที่เติบโตไวและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
อินเดียกับอุตสาหกรรมยาที่เติบโตไวและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
ภายหลังที่อินเดียได้ดำเนินนโยบายการต่างประเทศผ่านวัคซีนแห่งไมตรี (Vaccine Maitri) เพื่อส่งมอบความช่วยเหลือด้านวัคซีนให้กับหลายประเทศที่ต้องการในห้วงเวลาแห่งสถานการณ์โควิด 19 ซึ่งถือเป็นภัยต่อความมั่นคงมนุษย์ในระดับโลกนั้น นโยบายดังกล่าว นอกจากจะเป็นการกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างอินเดียและประเทศผู้รับความช่วยเหลือผ่านอำนาจละมุน หรือ Soft Power แล้ว การส่งต่อความช่วยเหลือด้านวัคซีนและยาดังกล่าว ยังได้สะท้อนถึงภาพลักษณ์ใหม่ของอินเดียในฐานะที่เป็นมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ที่น่าจับตามอง
อินเดียในปัจจุบันนับเป็นประเทศที่มีอัตราการผลิตยาสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลกในเชิงปริมาณ และยังถือเป็นผู้ผลิตยาสามัญรายใหญ่ที่สุดของโลก และขึ้นชื่อในเรื่องขีดความสามารถด้านเวชภัณฑ์สามัญและวัคซีนในราคาที่เข้าถึงได้ โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ถึงร้อยละ 9.43 ต่อปี โดยในด้านขีดความสามารถในการผลิตนั้น อินเดียมีเครือข่ายอุตสาหกรรมยาภายในประเทศซึ่งมีบริษัทยามากกว่า 3,000 แห่ง และมีโรงงานกระจายอยู่ในหลายพี้นที่กว่า 10,500 โรงงาน โดยมีโรงงานที่มีมาตรฐานเป็นไปตามองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามากที่สุดในโลก มากกว่า 600 แห่ง กระจายในพื้นที่รัฐที่สำคัญ อาทิ กรรณาฏกะ มหาราษฏร กุจราต อุตรประเทศ เดลี ทมิฬนาฑู และเตลังกานา ซี่งบริษัทยาที่สำคัญอาทิ Sun Pharma, Divis Laboratories, Dr.Reddy’s Laboratories, Cipla, Torrent Pharmaceuticals, Serum Institute of India, Intas Pharmaceuticals, Macleods Pharmaceuticals, Hetero Labs, USV เป็นต้น
จากขีดความสามารถดังกล่าว จึงทำให้ตลาดยาของอินเดียสร้างมูลค่าถึงร้อยละ 1.32 ให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มีมูลค่าถึง 4.2 หมื่นล้านในปี 2021 และคาดว่าจะทะยานสู่ 6.5 หมื่นล้านในปี 2024 และคาดการณ์ว่าในปี 2030 ตลาดยาของอินเดียจะก้าวสู่มูลค่า 1.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การแข่งขันในระดับโลกอินเดียถือเป็นผู้ผลิตยาสามัญรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยคิดเป็นปริมาณร้อยละ 20 ของการผลิตทั่วโลก และในด้านการผลิตวัคซีน อินเดียครองตลาดถึงร้อยละ 60 นอกจากนี้ยังมีความเข้มแข็งด้านการส่งออกยาและวัคซีนไปมากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก ด้วยมูลค่ากว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในการส่งออกดังกล่าว ได้รวมถึงประเทศ เช่น ยุโรปตะวันตก ญี่ปุ่นและออสเตรเลียอีกด้วย
ในด้านความสำเร็จนั้น อุตสาหกรรมยาของอินเดียได้รับการยอมรับในระดับโลก โดยร้อยละ 80 ของยาที่ใช้ในการต่อสู้กับโรคเอดส์ในโลกนี้ผลิตขึ้นจากบริษัทในอินเดียซึ่งนับเป็นความสำเร็จสูงสุดของประเทศ อีกทั้งยังผลิตยารักษาโรคมาลาเรียกว่า 45 ตัน และ 400 ล้านเม็ดไปยังกว่า 114 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้อินเดียยังได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตวัคซีนราคาประหยัดแต่คุณภาพสูง ความสามารถในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต และการรักษามาตรฐานการผลิตที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งยึดหลักปฏิบัติที่ดีในการผลิต (GMP) ขององค์การอนามัยโลก และองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาจากจุดแข็งดังกล่าวจึงทำให้อินเดียมุ่งมั่นที่จะประกาศตนเองเป็น “ร้านยาของโลก” (Pharmacy of the World)
ปัจจัยที่นำมาสู่การเติบโตอย่างก้าวกระโดดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพนั้น มาจากการที่อินเดียมีนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และนักวิชาการที่มีศักยภาพในการยกระดับอุตสาหกรรมยา รวมไปถึงการมีผู้ประกอบการหลายระดับ รวมถึงสตาร์ทอัพและโมเดลทางธุรกิจนวัตกรรมแบบใหม่ ซึ่งในทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมยาของอินเดียต่างให้ความสำคัญกับวิจัยและนวัตกรรม
อีกทั้งปัจจัยประการสำคัญคือการที่ภาครัฐและภาคธุรกิจมีบทบาทร่วมกันในการสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมยาของประเทศให้สามารถเข้าสู่ตลาดสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังวิกฤติโควิด ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าความร่วมมือของภาครัฐและภาคธุรกิจ เช่น สมาคมผู้ผลิตยาแห่งอินเดีย (Indian Drug Manufacturers’ Association) สมาคมเภสัชกรรมแห่งอินเดีย (Indian Pharmaceutical Association) องค์กรผู้ผลิตยาแห่งอินเดีย (Organization of Pharmaceutical Producers of India) และ สมาคมผู้ผลิตสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Bulk Drug Manufacturers Association) นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการอุตสาหกรรมยาของประเทศ
อนึ่ง หน่วยงานรัฐบาลของอินเดีย โดยกรมเภสัชกรรม (Department of Pharmaceuticals) ได้กำหนดวิสัยทัศน์สำคัญในการทำให้อุตสาหกรรมยาชองอินเดียสามารถมีบทบาทนำในตลาดโลกและสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคภายในประเทศถึงความเพียงพอ คุณภาพ และราคาที่เหมาะสม โดยรัฐบาลของอินเดีย ยังได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมยาภายในประเทศผ่านนโยบายที่สำคัญ อาทิ การจัดสรรงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2023 – 2024 โดยให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมในอุตสาหกรรมยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการทำงานของศูนย์เชี่ยวชาญ การสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมด้านยา การกระตุ้นให้ภาคธุรกิจใช้จ่ายเงินด้านวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมยา รวมไปถึงการสร้างวิทยาลัยพยาบาลจำนวน 157 แห่งเพื่อรองรับภารกิจด้านสุขภาพ
นอกจากนี้ในแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมยาโดยกรมเภสัชกรรมแห่งอินเดียได้เน้นไปที่ความช่วยเหลือด้านการสร้างศูนย์อำนวยความสะดวกให้กับอุตสาหกรรมสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Bulk Drug Industry) และ อุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ รวมไปถึงให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาสำหรับอุตสาหกรรมยาอีกด้วย ด้านแผนการสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมยานั้น รัฐบาลอินเดียได้สนับสนุนงบประมาณกว่า 60.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการขยายฐานการวิจัยด้านยาและผู้ประกอบการเภสัชกรรมทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางทั่วประเทศเพื่อยกระดับการผลิต คุณภาพ และความยั่งยืน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยาในอินเดียถือเป็นความตั้งใจของประเทศมาอย่างยาวนาน โดยอินเดียได้กำหนดประเด็นสำคัญคือการผลิตยาเพื่อมุ่งพึ่งพาตนเอง (Self-Reliant) ให้ได้มากที่สุดและลดการนำเข้ายาและเวชภัณฑ์จากต่างประเทศ
นอกจากนี้ในปัจจุบันรัฐบาลอินเดียยังได้ส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุญาตให้การลงทุนจากต่างประเทศถึงร้อยละ 100 ในโครงการใหม่ และสูงถึงร้อยละ 74 ในการต่อยอดโครงการเดิม ทำให้มีผู้นำด้านอุตสาหกรรมยาระดับโลก อาทิ Pfizer, Bayer, Merck, AstraZeneca, และ GSK ได้เข้ามาร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการธุรกิจยาขนาดใหญ่หลายรายในอินเดีย บริษัทเหล่านี้ต่างลงทุนและสร้างการรับรู้ในเมืองหลักและพื้นที่ชนบทของอินเดียที่ซึ่งมีประชากรจำนวนมากอาศัยอยู่และถือเป็นตลาดที่สำคัญ อีกทั้งยังมีเหตุผลสำคัญที่ดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยาของอินเดีย ได้แก่
- ตลาดการดูแลสุขภาพของอินเดียเติบโตอย่างต่อเนื่อง นำมาสู่การสร้างรายได้ ความตระหนักด้านสุขภาพ และการเข้าถึงประกันสุขภาพ
• มาตรการป้องกันทางสาธารณสุขแห่งชาติอินเดีย (Ayushman Bharat) จะครอบคลุมประชาชนกลุ่มเปราะบางกว่าอีก 100 ล้านคน ให้สามารถเข้าถึงการบริการทางสาธารณสุข 5 แสนรูปีต่อครอบครัวต่อปี
• รัฐบาลอินเดียสนับสนุนการสร้างนิคมอุตสาหกรรมยาขนาดใหญ่ 3 แห่ง เพื่อให้เอกชนและภาครัฐเป็นหุ้นส่วนการผลิต โดยนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวจะสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานให้กับผู้ประกอบการ
• ทักษะแรงงานและขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะด้านการวิจัยและพัฒนา กำลังคนที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ห้องปฏิบัติการและเทคโนโลยี รวมไปถึงสถาบันการศึกษาระดับสูงของประเทศอาทิ สถาบันการศึกษาและการวิจัยด้านเภสัชศาสตร์แห่งชาติ (National Institute of Pharmaceutical Education and Research (NIPER)) ทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ สามารถสนับสนุนการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมยาได้เป็นอย่างดี
อุตสาหกรรมยานับเป็นส่วนสำคัญในการค้าต่างประเทศของอินเดีย และดึงดูดศักยภาพนักลงทุนจากต่างชาติอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ตลาดยาในอินเดียจะเติบโตอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 9 -12 และด้วยประชากรที่มีมากกว่า 1.4 พันล้านคน ตลาดยาภายในประเทศจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ภาวะซึมเศร้า และมะเร็ง รวมไปถึงเวชภัณฑ์สุขภาพที่เกี่ยวข้องการดูแลสุขภาพ รองรับสังคมผู้สูงวัย และโรคเรื้อรัง
นอกจากโอกาสในการลงทุนด้านอุตสาหกรรมยาในอินเดียแล้ว การนำองค์ความรู้ การวิจัย และนวัตกรรมด้านยาของอินเดียมาปรับใช้ในประเทศไทย อาจเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจของผู้ประกอบการไทย เพราะในปัจจุบันสังคมไทยได้ก้าวสู่สังคมสูงวัยและวัยทำงานของไทยต่างให้ความสนใจในการรักษาสุขภาพมากขึ้น กอรปกับภาครัฐของไทยเองได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ของภาครัฐ (New S-curve) ด้วยเหตุนี้อุตสาหกรรมการผลิตยาและ ‘ยารักษาโรค’ จะกลายเป็นอุตสาหกรรมที่จะทวีความสำคัญต่อไป
* * * * *.
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
1. https://www.ibef.org/industry/pharmaceutical-india
2. https://www.businesstoday.in/industry/pharma/story/indian-pharma-in-2023-industry-experts-give-big-thumbs-up-to-the-sector-heres-what-they-are-saying-357290-2022-12-21
3. https://www.wilsoncenter.org/blog-post/indias-economic-ambitions-pharmaceutical-industry
4. https://www.makeinindia.com/sector/pharmaceuticals
5. https://pharmaceuticals.gov.in/pharma-industry-promotion