1. ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีกล้วยไม้ขึ้นตามธรรมชาติหลากหลายมากกว่า 1,000 สายพันธุ์ กระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ แต่จะมีมากที่สุดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ โดยรัฐที่มีการเพาะปลูกกล้วยไม้เพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์มากที่สุด คือ รัฐเคราละ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีระบบการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงกล้วยไม้อย่างเป็นระบบมากนัก แต่จะใช้วิธีการรวบรวมสินค้าจากเกษตรกรรายย่อยให้ได้ปริมาณตามความต้องการของตลาด จึงทำให้คุณภาพของกล้วยไม้แตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
2. ศูนย์กลางการจำหน่ายกล้วยไม้ที่สำคัญของอินเดีย นอกจากที่เมืองโคชิน และเมืองติรุวันนันทะปูรัม ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐเคราละดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีการจำหน่ายในเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอีกหลายเมือง อาทิ เมืองเจนไน เมืองบังกาลอร์ เมืองมุมไบ กรุงนิวเดลี และเมืองไฮเดอราบัด เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นที่รวมของกลุ่มผู้ซื้อที่สำคัญ ได้แก่ โรงแรมขนาดใหญ่ ศาสนสถาน และบริษัทรับจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ (Fair Organizer) โดยกลุ่มผู้ซื้อเหล่านี้จะสั่งซื้อดอกไม้จากผู้จำหน่ายในท้องถิ่น (Local Retailers and Distributors) เป็นหลัก
3. ในเมืองมุมไบมีตลาดที่นับว่าเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายดอกไม้ คือ Dadar’s Old Flower Market เปิดทำการตั้งแต่เวลา 04.00 น. ของทุกวัน เป็นที่รวมของดอกไม้จากพื้นที่รอบเมืองมุมไบ (ซึ่งใช้เวลาขนส่งไม่เกิน 4-6 ชั่วโมง) ผู้ซื้อรายใหญ่รวมทั้งผู้ค้าปลีกในเมืองมุมไบและเมืองใกล้เคียงจะเดินทางมาสั่งซื้อดอกไม้ที่ตลาดดังกล่าวเพื่อนำไปจำหน่ายต่อและใช้งาน
4. จากการศึกษาข้อมูลในเบื้องต้น สินค้าดอกไม้จากต่างประเทศจะต้องเสียภาษีนำเข้าและภาษีอื่นๆ ในอัตรารวมแล้วประมาณร้อยละ 28.3 ทั้งนี้ ผู้ส่งออกกล้วยไม้ไทยที่ต้องการจะขยายตลาดส่งออกในประเทศอินเดีย ควรนำเสนอจุดแข็งของกล้วยไม้ไทยในเรื่องของการควบคุมคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐานเดียวกันได้อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งมีกระบวนการผลิตอย่างเป็นระบบที่จะสามารถทำให้มีผลผลิตส่งมอบให้กับลูกค้าได้ตามความต้องการตลอดทั้งปีโดยไม่ผันผวนตามฤดูกาลมากนัก อย่างไรก็ตาม อินเดียเป็นประเทศที่มีระบบการขนส่งและกระจายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานสากลมากนัก ผู้ส่งออกไทยควรระมัดระวังในเรื่องของความเสียหายของสินค้าที่จะเกิดขึ้นในขั้นตอนการขนส่งด้วย
5. กล้วยไม้ไทยมีชื่อเสียงที่ดีและเป็นที่รู้จัก แต่จะถูกเลือกใช้งานเฉพาะในโอกาสพิเศษจริงๆ เท่านั้น เนื่องจากราคาค่อนช้างสูงเมื่อเทียบกับดอกไม้ท้องถิ่นดังนั้นจึงมีจำนวนผู้บริโภคค่อนข้างจำกัด การทำการตลาดที่เหมาะสมจึงควรมุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้นำเข้าดอกไม้จากต่างประเทศโดยตรงเพื่อจำหน่ายต่อให้กับลูกค้าที่เป็นธุรกิจโรงแรมหรือบริษัทรับจัดงานเลี้ยงสังสรรค์
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ
ธันวาคม 2554