อินเดียกับความมุ่งมั่นสู่การเป็นประเทศขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลก
อินเดียกับความมุ่งมั่นสู่การเป็นประเทศขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลก
India as the Third World Largest Economy
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
การเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในหลายศตวรรษที่ผ่านมาของอินเดีย นับว่าได้สร้างปรากฏการณ์ที่น่าจับตามองให้กับประชาคมโลกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวขึ้นจากประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก จนมาสู่การเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลกในปัจจุบัน พร้อมกับมีกระแสและการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจของอินเดียว่าจะเติบโตเพิ่มมากขึ้น จนสามารถก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ โดยจะมีมูลค่าทางเศรษกิจและตลาดที่เติบโตแซงหน้าสองมหาอำนาจอย่างเยอรมนีและญี่ปุ่น และยังเป็นรองเพียงจีนและสหรัฐอเมริกาเท่านั้น จากแนวโน้มทางเศรษฐกิจของอินเดียดังกล่าว บทความนี้จะชวนผู้อ่านทำความเข้าใจอินเดีย และนำเสนอความมุ่งมั่นของอินเดียในการเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รวมไปถึงความท้าทายที่สำคัญของอินเดียต่อสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมกับบอกเล่าโอกาสของไทยและอาเซียนที่จะสามารถยกระดับความสัมพันธ์กับอินเดียในอนาคต
การคาดการณ์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดีย
สื่อหลายสำนัก ได้เปิดเผยความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันว่าอินเดียจะกลายมาเป็นชาติมหาอำนาจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลกภายในปีคริสตศักราช 2030 หรือเร็วสุดอาจจะเกิดขึ้นได้ในปีคริสตศักราช 2027 ทั้งนี้ จุดแข็งที่ส่งผลให้เกิดการยกระดับขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของอินเดีย คือการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง และยังคงเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ไม่เพียงเท่านั้น อินเดียยังมีอัตราการเพิ่มขึ้นของความเป็นผู้ประกอบการภายในประเทศที่ทะยานสู่การสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงได้มากกว่า 111 ยูนิคอร์น ส่งพลให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 350 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซี่งสะท้อนขีดความสามารถทางด้านธุรกิจของอินเดียได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้นักวิเคราะห์ยังสะท้อนให้เห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดีย เกิดขึ้นจากการที่อินเดียมีประชากรวัยแรงงานจำนวนมาก โดยพบว่ามีประชากรอายุต่ำกว่า 30 ปีถึงกว่าร้อยละ 53 ทำให้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรอายุน้อยที่สุดของโลก ทำให้อินเดียเป็นประเทศที่มีทรัพยากรมนุษย์เป็นสินทรัพย์ที่สำคัญของการพัฒนา อีกทั้งในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา อินเดียมีการปฏิรูปภายในประเทศหลายประเด็น อาทิ การสร้างความเข็มแข็งของสถาบันและธรรมาภิบาลในการเมืองที่ปรากฏชัดเจนขึ้น รวมไปถึงอินเดียยังมีภูมิรัฐศาสตร์ที่สนับสนุนการสร้างพันธมิตรจากยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกซึ่งนับวันจะทวีอิทธิพลในเวทีโลกเพิ่มมากขึ้น ภูมิรัฐศาสตร์ดังกล่าวยังทำให้อินเดียสามารถสร้างสมดุลและรักษาความสัมพันธ์กับนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาติตะวันตก ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ตะวันออกลาง รวมไปถึงรักษาดุลอำนาจกับจีนอีกด้วย จากข้อมูลข้างต้น จึงทำให้อินเดียถูกจับตามองจากประชาคมโลกถึงโอกาสในการก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอนาคต
นโยบายภาครัฐที่มีต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจอินเดียนั้น นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับความสนใจจากนานาประเทศเป็นอย่างมาก โดยส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของอินเดียอย่างก้าวกระโดดคือการปฏิรูปประเทศภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ และการเตรียมความพร้อมสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ดังจะเห็นได้จากการควบรวมระบบภาษีของประเทศ ภายใต้กลไก “ภาษีสินค้าและบริการ” (The Goods and Services Tax-GST) การดำเนินนโยบายเพื่อต่อค้านการทุจริตด้วยการยกเลิกธนบัตร (Demonetization) ซึ่งถือเป็นแนวทางให้พลเมืองอินเดีย หันมาใช้ “สิ่งแทนเงินสด” อาทิ บัตรเดบิต และ การทำธุรกรรมดิจิตัล อีกทั้งยังมีนโยบายผลิตภายในอินเดีย (Make In India) ซึ่งเริ่มพัฒนาตั้งแต่ปีคริสตศักราช 2014 ยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการลงทุน การขับเคลื่อนนวัตกรรม การเพิ่มทักษะ และการเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดระบบนิเวศที่เป็นมิตรต่อการลงทุนจากต่างชาติ
นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคม ปีคริสตศักราช 2020 รัฐบาลอินเดียได้ประกาศนำนโยบายการพึ่งพาตนเองของอินเดีย (Self-Reliant India) หรือ Aatma Nirbhar Bharat Abhiyaan เพื่อประกาศเจตนารมณ์สำคัญในการใช้แนวคิดการพึ่งพาตนเองเพื่อต่อสู่กับสถานการณ์โควิด-19 โดยมีหัวใจหลักคือการสร้างระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็งเพื่อที่จะต่อสู่กับการแข่งขันภายนอกได้ ผ่าน 5 เสาหลักที่สำคัญอาทิ การกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เป็นอัตลักษณ์ของอินเดีย การพัฒนาระบบโดยใช้ฐานเทคโนโลยีเป็นกลไกสำคัญ ประชากรที่มีจำนวนมากในฐานะแหล่งพลังงานสำคัญของอินเดีย และการใช้อุปสงค์และอุปทานให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ต่อมาในปีคริสตศักราช 2022 อินเดียได้เฉลิมฉลอง 75 ปีแห่งการได้รับเอกราช โดยประกาศความหวังที่จะไปสู่การเป็นประเทศพัฒนา (Developed economy) ภายในปีคริสตศักราช 2047 โดยมุ่งหวังว่าอินเดียจะมีโอกาสในการสร้างปทัสถานใหม่กับประชาคมโลก ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้รับการผลักดันภายใต้ชื่อ “Amrit Kaal” ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ ซึ่งในการขับเคลื่อนดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลกลางของอินเดียจะต้องผนึกกำลังร่วมกับรัฐบาลแห่งรัฐภายในอินเดีย ในการกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศอันเป็นมิตรและพลเมืองที่เป็นมิตรต่อการดำเนินธุรกิจทั้งในระดับเขต ระดับตำบล และระดับหมู่บ้าน ผ่านการยกระดับสุขภาพ การศึกษา ที่ดิน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซี่งจะต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน
ยิ่งไปกว่านั้นในฐานะที่เป็นประธานของกลุ่ม G-20 ในปีคริตสศักราช 2023 อินเดียยังได้ประกาศแนวคิด “One Earth, One Family, One Future” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากคัมภีร์อุปนิเสธซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตโบราณ เพื่อสะท้อนวิสัยทัศน์ของอินเดียในการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ การปฏิรูปดิจิตัล และปฏิบัติการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของโลกผ่านเวทีระหว่างประเทศอีกด้วย
จากการขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้นำของรัฐบาลอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ หรือแม้แต่กระทั่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังพร้อมใจในการประกาศถึงความมุ่งมั่นและความคาดหวังว่าอินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกภายในปีคริสตศักราช 2030
ความท้าทายสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจในอินเดีย
อย่างไรก็ตามแม้ว่าอินเดียจะมีโอกาสพัฒนาไปมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลกในปีคริสตศักราช 2030 แต่อินเดียยังคงต้องรักษาการเติบโตเศรษฐกิจให้คงที่หรือสูงขึ้น พร้อมกับยกระดับโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังต้องกระตุ้นให้เกิดอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน การขับเคลื่อนการนำนวัตกรรมมาใช้ รวมไปถึงการลดความยากจนให้กับประชาชน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้อินเดียสามารถเดินทางไปถึงเป้าหมายที่มีวางไว้นั่นคือการมีเศรษฐกิจมูลค่า 10 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (10 Trillion-dollar economy) ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายสำคัญที่อินเดียจะต้องเปลี่ยนผ่านจากสถานการณ์โควิดและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันว่าระบบเศรษฐกิจของอินเดียเป็นเศรษฐกิจที่สร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้กับทุกคน
อนึ่งแม้ว่าอินเดียจะพัฒนาตนเองสู่การเป็นประเทศแห่งเศรษฐกิจดิจิตัล โดยพลเมืองกว่า 1.4 พันล้านคน มีโครงสร้างพื้นฐานและสามารถทำธุรกรรมผ่านระบบธนาคารออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ แต่ความท้าทายอีกประการหนึ่งคือการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง และการเกิดขึ้นของเทคโนโลโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ทำให้มนุษย์ต้องรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
โอกาสของไทยและอาเซียนเพื่อยกระดับความสัมพันธ์กับอินเดีย
จากความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นในการส่งออกสินค้าและบริการ รวมไปถึงการเติบโตของระบบนิเวศทางเศรษฐกิจดิจิตัล ความพร้อมของประชากรวัยทำงานขนาดใหญ่ ขีดความสามารถในการสร้างพลังงานหมุนเวียน และแนวโน้มของการเติบโตขึ้นของระบบนิเวศผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีบทบทสำคัญในการพลิกอินเดียเดิมไปสู่อินเดียใหม่ (New India) จึงทำให้อินเดียกลายเป็นหมุดหมายใหม่ที่ไทยและอาเซียนมิควรพลาดในการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ไทยและอาเซียนได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับตลาดการค้าที่มีประชากรกว่า 1.4 พันล้านคนแล้ว อินเดียยังเป็นภูมิภาคเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนทั้งทางบกและทางทะเลติดกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้มีโอกาสที่จะยกระดับความร่วมมือต่อกันในอนาคต ทั้งทางด้านการขนส่ง นำเข้า และส่งออกสินค้าและบริการผ่านความเชื่อมโยงทั้งทางบกและทางทะเลที่ทั้งสองภูมิภาคมีร่วมกัน ซึ่งหากไทยและอาเซียนเข้าใจและเข้าถึงอินเดียย่อมทำให้มีโอกาสในการกระชับสัมพันธ์กับอินเดียในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกในอนาคตอันใกล้
อ่านเพิ่มเติม
- https://www.du.ac.in/uploads/new-web/14122023_JMC_details.pdf
- https://www.businesstoday.in/latest/economy/story/india-to-become-third-largest-economy-in-the-next-three-years-says-jefferies-in-a-note-418454-2024-02-22
- https://www.thehindu.com/business/Economy/india-to-become-third-largest-economy-with-gdp-of-5-trillion-in-three-years-finance-ministry/article67788662.ece
- https://www.reuters.com/world/india/india-be-worlds-third-largest-economy-by-2030-sp-global-ratings-2023-12-05/
- https://www.forbes.com/sites/benjaminlaker/2024/02/23/india-to-become-third-largest-economy-by-2027-implications-for-leaders/?sh=538c51724fd5
- https://economictimes.indiatimes.com/news/economy/indicators/india-on-track-to-become-10-trillion-economy-set-for-3rd-largest-slot-wef-president/articleshow/107908251.cms?from=mdr