รัฐบาลอินเดียกับการสนับสนุนเทคโนโลยีอวกาศสำหรับภาคเอกชน
รัฐบาลอินเดียกับการสนับสนุนเทคโนโลยีอวกาศสำหรับภาคเอกชน
Government incentives towards space innovation by the private sector in India
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
ในปัจจุบันอินเดียนับเป็นประเทศที่ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจสำคัญด้านเทคโนโลยีอวกาศอีกทั้งยังได้รับการยอมรับในฐานะประเทศที่สามารถผลิตดาวเทียมที่มีประสิทธิภาพในราคาประหยัดและสามารถนำดาวเทียมของหลายประเทศขึ้นโคจรบนอวกาศได้เป็นจำนวนมากรวมถึงยังสร้างปรากฏการณ์ด้านอวกาศที่สำคัญจนเป็นที่จับตามองจากประชาคมโลกหลายเหตุการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจจันทรยาน 3 ที่อินเดียได้ลงสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ฝั่งขั้วใต้เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ.2023 ที่ผ่านมา และความมุ่งมั่นที่จะสร้างสถานีอวกาศอินเดียให้สำเร็จในปี ค.ศ. 2035 ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งพิสูจน์ถึงความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอินเดีย บทความนี้มิได้มุ่งศึกษาเพียงแค่ประเด็นดังกล่าว แต่มุ่งนำเสนอบทบาทของรัฐในการสร้างการมีส่วนร่วมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนขับเคลื่อนและยกระดับเทคโนโลยีอวกาสให้กับประเทศ
รัฐบาลอินเดียหนุนภาคเอกชนในการลงทุนเทคโนโลยีอวกาศ
จากนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของรัฐบาลอินเดีย (Science, Technology and Innovation Policy) ภายหลังปี ค.ศ.2013 ได้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและความพยายามของภาครัฐในการเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเข้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ให้ความสำคัญในประเด็นการสร้างระบบนิเวศให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาผ่านการให้งบประมาณของรัฐเพื่อสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือกับภาคเอกชน ในรูปแบบที่เรียกว่า “หุ้นส่วนรัฐ-เอกชน” (Public-Private Partnership) โดยอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนสามารถลงทุนในศูนย์วิจัยและพัฒนาของอินเดียทั้งในและต่างประเทศ ให้สิทธิประโยชน์ อนุญาตให้มีผู้ส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมากขึ้นในระบบวิจัยและพัฒนาของอินเดีย รวมถึงการสนับสนุนให้การวิจัยและการพัฒนาในภาคเอกชนให้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐได้เช่นเดียวกับสถาบันของรัฐ เป็นต้น ซึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ รัฐบาลอินเดียก็ได้สนับสนุนภาคเอกชนในการลงทุนเช่นเดียวกัน
จากการดำเนินงานตามนโยบายข้างต้น ทำให้ในปัจจุบันอินเดียมีสัดส่วนร้อยละ 2 ในตลาดเศรษฐกิจด้านอวกาศของโลก (The Global Space Economy) ซึ่งอินเดียมิได้หยุดเพียงเท่านั้น แต่ได้กำหนดเป้าหมายให้ประเทศมีสัดส่วนทางเศรษฐกิจอวกาศเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8 2033 คิดเป็นมูลค่ากว่า 44 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในปี ค.ศ. และตั้งวิสัยทัศน์ที่จะเพิ่มสู่ร้อยละ 15 ในปี ค.ศ.2047 ซึ่งรัฐบาลอินเดียเชื่อว่าปัจจัยที่จะทำให้เป้าหมายดังกล่าวประสบความสำเร็จคือการเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ดังนั้นรัฐบาลอินเดียจึงได้กำหนดมาตรฐานและนโยบายที่สำคัญหลายประการ ดังนี้
ในปี ค.ศ.2019 รัฐบาลได้จัดตั้ง New Space India Limited ด้วยหลักคิดสำคัญคือเพื่อขยับขยายการตลาดสำหรับเทคโนโลยีอวกาศ ต่อมาในปี ค.ศ. 2020 ศูนย์บริหารอวกาศแห่งชาติอินเดีย (The Indian National Space Authorization Center) ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ซึ่งนับเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของประเทศในการเปิดทางให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนภารกิจด้านดังกล่าว ซึ่งดำเนินการผ่านหน่วยงานที่ชื่อว่า IN-SPACe Agency ซึ่งมีหน้าที่หลักในการสนับสนุน อนุญาต และกำกับดูแลภาคเอกชนในเทคโนโลยีอวกาศ
ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลอินเดียยังได้เดินหน้าผ่านการกำหนดนโยบายอวกาศของอินเดีย (Indian Space Policy) และพระราชบัญญัติโทรคมนาคมใหม่ (New Telecommunication Act) เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ.2023 โดยมีวัตถุประสงค์คืออำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนเข้าถึงภาคอวกาศ พร้อมกับการสร้างนิเวศวิทยาที่เอื้อต่อการดำเนินงานของภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลทางไกลสำหรับภาคเอกชนที่จากเดิมเคยสงวนไว้เฉพาะหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างกลไกการบริหารด้านอวกาศร่วมกับเอกชน ทั้งนี้เนื่องมาจากอินเดียมีบริษัทเอกชนจำนวนมากที่มีขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีทั้งในแง่ของยานพาหนะ ยานอวกาศ และแอปพลิเคชันนวัตกรรมด้านอวกาศ ซึ่งการพัฒนาระบบดังกล่าวต้องเกิดโดยภาคอุตสาหกรรม โดยมีภาควิชาการให้ความร่วมมือ เพื่อช่วยผลักดันด้านเทคโนโลยีอวกาศของอินเดียต่อไป
จากการส่งเสริมและปฏิรูปดังกล่าว ก่อให้เกิดโอกาสสำหรับภาคเอกชนอย่างมากในระบบห่วงโซ่คุณค่าของเทคโนโลยีอวกาศของอินเดีย นับตั้งแต่การสร้างดาวเทียม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ และการพัฒนาระบบวิเคราะห์ คาดการณ์ และเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญ รวมถึงการส่งเสริมด้านการวิจัย และตอบสนองเชิงธุรกิจ โดยปัจจุบันมีโครงการพัฒนาด้านอวกาศที่สำคัญ อาทิ การพัฒนาการส่งยานอวกาศขึ้นสู่ห้วงอวกาศ Polar Satellite Launch Vehicle ทั้งดาวเทียมขนาดใหญ่และขนาดเล็ก และมีบริษัทเอกชนด้านอวกาศกว่า 400 บริษัทในอินเดีย ซึ่งทำให้อินเดียก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศอันดับ 5 ของโลกจากจำนวนบริษัทเอกชนดังกล่าว
เมื่อมองไปในอนาคต รัฐบาลอินเดีย ผ่านการดำเนินงานขององค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย (Indian Space Research Organization-ISRO) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักด้านอวกาศของอินเดียในการบูรณาการวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี ในการพัฒนากลไกสนับสนุนด้านอวกาศของอินเดีย มีแผนสำคัญในการบูรณาการการทำงานกับภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น ในฐานะคู่ความร่วมมือในการส่งมอบนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบขนาดใหญ่ให้กับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาดาวเทียมสื่อสาร การระบุตำแหน่ง การนำทาง และการบอกเวลา โดยปัจจุบัน ISRO นับว่าเป็นองค์กรขนาดใหญ่ลำดับที่ 6 ของโลกในด้านอวกาศและมีอัตราความสำเร็จของการดำเนินงานสูง และมีรายได้จากการส่งยานอวกาศต่างชาติถึงปีละ 279 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
ความท้าทายในการผลักดันบทบาทของเอกชนในการเทคโนโลยีอวกาศ
แม้ว่ารัฐบาลอินเดียจะมีความพยายามในการสนับสนุนและผลักดันบทบาทของบริษัทเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ แต่การดำเนินงานดังกล่าวยังคงต้องจัดการกับความท้าทายเชิงระบบที่สำคัญอาทิ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ กระบวนการตราพระราชบัญญัติกิจกรรมทางอวกาศที่ยังไม่เสร็จสิ้น รวมไปถึงการขับเคลื่อนนโยบายอย่างจริงจัง ภายใต้ระบบนิเวศที่สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันวิจัย และภาครัฐเอกชน เพื่อผลักดันความมุ่งหวังของอินเดียในเวทีอวกาศโลก
นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียและภาคเอกชน อาจต้องพิจารณาเพิ่มเติมในการพัฒนาด้าวเทียมสื่อสาร ซึ่งถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญในเทคโนโลยีอวกาศในอนาคต เพื่อใช้ขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีดังกล่าวในการเชื่อมโยงพื้นที่ห่างไกลของอินเดียให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อเติมเต็มความมุ่งหวังของอินเดียในการยกระดับเศรษฐกิจของประชาชน ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวย่อมจะช่วยขับเคลื่อนอินเดียในภาพรวม เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล
รวมไปถึงความท้าทายสำคัญของอินเดียในอนาคตคือการเชื่อมโยงเทคโนโลยีอวกาศของอินเดียกับโอกาสด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ ซึ่งการประกาศถึงพันธกิจการป้องกันอวกาศ (Mission DefSpace) ที่นำเสนอ 75 ประเด็นสำคัญที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ได้ชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการต้อนรับภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางอวกาศในหลายมิติมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เทคโนโลยีอวกาศตอบสนองได้ทั้งทหารและพลเรือน
โอกาสของไทย และการเรียนรู้จากอินเดีย
จากความสำเร็จในการกระตุ้นการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการยกระดับเทคโนโลยีอวกาศดังกล่าว รัฐบาลไทยสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์การพัฒนาของอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐไทยควรร่วมมือกับภาคเอกชน โดยสร้างการมีส่วนร่วมให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศนวัตกรรม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อแข่งขันในระดับสากล นอกจากนี้ยังอาจเรียนรู้จากการเตรียมความพร้อมของอินเดียในการรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ อาทิ การยกระดับผู้ประกอบการ Startup ที่สนใจ ดังเช่นในเมืองไฮเดอราบาด Skyroot ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพได้สาธิตการปล่อยยานอวกาศ Vikram-S โดยมีหน่วยงานของภาครัฐและองค์การวิจัยอวกาศของอินเดียให้การสนับสนุน อีกทั้งรัฐบาลไทยอาจเพิ่มมิติในการขับเคลื่อนงานด้านเทคโนโลยีอวกาศ เช่น การสำรวจโลก และการควบคุมทางไกลเพื่อยกระดับการให้บริการสาธารณสุข รวมไปถึงการตั้งเมืองอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ ดังเช่นที่อินเดียมีการ Salem aerospace cluster, Tamil Nadu และ Belagavi Aerospace cluster เป็นต้น นอกจากนี้รัฐบาลไทยอาจเพิ่มการฝึกอบรมและการศึกษาวิจัยให้กับผู้เรียนเพื่อเพิ่มองค์ความรู้และทักษะด้านดังกล่าว ดังที่อินเดียได้สนับสนุนให้ศูนย์วิจัยกาลปนา ชาวลา เพื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ แห่งมหาวิทยาลัยจันดิการ์ ทำหน้าที่ในการฝึกอบรมนักศึกษาในด้านเทคโนโลยีอวกาศในระดับอุดมศึกษาอีกด้วย
จากข้อมูลข้างต้น จะพบว่ามีโอกาสทางธุรกิจและการลงทุน รวมไปถึงการเปิดพื้นที่แห่งความร่วมมือกับต่างประเทศในเทคโนโลยีอวกาศของอินเดีย ซึ่งจากทิศทางและแนวโน้มการพัฒนาของอินเดียที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยจึงควรที่จะทำความเข้าใจและเรียนรู้เพื่อรองรับโอกาสในการสร้างความร่วมมือกับอินเดียเพื่อยกระดับเทคโนโลยีอวกาศของไทยในอนาคต
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
- https://www.thehindu.com/news/cities/bangalore/govt-wants-private-sector-to-invest-in-space-companies-wait-to-see-commitment-from-govt/article67597972.ece
- Government of India. (2013). Science, Technology and Innovation Policy 2013.New Delhi, India: Ministry of Science and Technology.
- https://telecom.economictimes.indiatimes.com/news/portal-in-portal/satcom/blogs/indian-private-space-sector-navigating-growth-and-challenges-in-era-of-reform/107351509
- https://www.investindia.gov.in/sector/space