อุณหภูมิในกรุงนิวเดลีขึ้นไปแตะที่ระดับ 52.3 องศาเซลเซียส ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์
อุณหภูมิในกรุงนิวเดลีขึ้นไปแตะที่ระดับ 52.3 องศาเซลเซียส ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์
“อุณหภูมิกรุงนิวเดลีร้อนระอุเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 52.3 องศาเซลเซียส ภาครัฐประกาศเตือนภัยขั้นรุนแรงในเขตเมืองหลวง โดยขอให้ประชาชนอยู่ในบ้าน รักษาร่างกายให้ชุ่มชื้น หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดภายนอกโดยไม่จำเป็น”
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดียรายงานว่าอุณหภูมิในกรุงนิวเดลี ขึ้นไปแตะที่ระดับ 52.3 องศาเซลเซียส ทำให้ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยกรมอุตุฯได้ออกมาเตือนภัยถึงคลื่นความร้อนขั้นรุนแรงนี้ในกรุงนิวเดลีรวมถึงรัฐอื่นๆทางตอนกลางและตอนเหนือของอินเดีย ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าหนึ่งในปัจจัย ที่ทำให้อุณหภูมิในกรุงนิวเดลีที่ร้อนระอุขณะนี้เป็นผลมาจากการแผ่คลื่นความร้อนจากเขตรัฐราชสถานซึ่งเป็นพื้นที่ข้างเคียง เนื่องจากพื้นที่ในรัฐดังกล่าวมีลักษณะพื้นที่โล่งที่กินบริเวณเป็นวงกว้าง ซึ่งพื้นที่โล่งกว้างและขาดร่มเงาจะมีอุณหภูมิที่ร้อนกว่าปกติและเกิดการแผ่กระจายรังสีความร้อนออกไปโดยรอบ นอกจากนี้ ปีนี้กรุงนิวเดลีเผชิญภาวะลมร้อนก่อนกำหนด เช่น ในพื้นที่มุงเกชปูร์ (Mungeshpur) นาเรลา (Narela) และ นาจาฟการ์ (Najafgarh) ทำให้ความร้อนทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
สำหรับฤดูร้อนในอินเดียนั้น ช่วงต้นฤดูร้อน (เดือนมีนาคม-เมษายน) ภูมิภาคต่างๆ เช่น มหาราษฏระ คุชราต และคาบสมุทรทางใต้จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น เนื่องจากดวงอาทิตย์อยู่ตรงเหนือศีรษะ ทำให้เกิดรังสีความร้อนที่รุนแรงในขณะที่เคลื่อนตัวไปทางเหนือ ส่วนในช่วงปลายฤดูร้อน (พฤษภาคม-มิถุนายน) ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนไปทางตอนเหนือของอินเดียทำให้ภูมิภาคเหล่านี้ร้อนขึ้นอย่างมาก สถานการณ์ความร้อนดังกล่าวทำให้ภาครัฐต้องออกประกาศเตือนภัยขั้นรุนแรงในเขตเมืองหลวง โดยขอให้ประชาชนอยู่ในบ้าน รักษาอุณหภูมิในร่างกายให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดภายนอกโดยไม่จำเป็น
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ
หน่วยงานอุตุนิยมวิทยาโลกหรือ World Meteorological Organization (WMO) ได้ออกมาเตือนให้ทราบว่ามีความเป็นไปได้มากถึง 86% ที่จะมีอย่างน้อย 1 ปี ระหว่างปี 2024-2028 ที่อุณหภูมิเฉลี่ยใกล้พื้นผิวโลกจะสร้างสถิติอุณหภูมิสูงสุดใหม่กว่าที่เป็นอยู่ ทำให้หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงอินเดียเองจับตาเฝ้าระวังวิกฤติด้านสภาพอากาศอันเลวร้ายนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมโดยรวมของคนในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ของโอกาสทางการค้าการลงทุน การมาของวิกฤติความร้อนนี้ก่อให้เกิดอุปสงค์ของสินค้าหลากหลายประเภทในอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเครื่องปรับอากาศและเครื่องดื่มนานาชนิด
ประเทศไทยมีการผลิตและส่งออกสินค้าเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบไปยังทั่วโลกมากถึงกว่า 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งติด 1 ใน 15 สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในปี 2566 และมีการส่งออกมายังอินเดีย ในปีเดียวกันราว 330 ล้านเหรียญสหรัฐ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของผู้ผลิตไทยในอุตสาหกรรมดังกล่าว เศรษฐกิจอินเดียในปัจจุบันมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ชนบทหลายแห่งมีการปรับเปลี่ยนเข้าสู่รูปแบบสังคมเมือง มากขึ้น ทำให้อาคารประเภทสำนักงาน ที่อยู่อาศัยและอื่นๆได้รับการพัฒนา และสินค้าเครื่องปรับอากาศเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในปัจจุบัน ตลาดอินเดียจึงเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยในสินค้าดังกล่าว และหากรายใดมีความพร้อมสูงอาจพิจารณาโอกาสในการเข้ามาลงทุน/ร่วมทุนดำเนินการผลิตในอินเดีย ซึ่งยังเป็นโอกาสทางการตลาดระยะยาวสำหรับสินค้าหมวดนี้ รวมถึงจะได้สิทธิประโยชน์หลายด้านจากการสนับสนุนภาคการผลิตจากรัฐบาลอินเดียเอง
ในส่วนของสินค้าหมวดเครื่องดื่มไทยมีการส่งออกมายังอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีมูลค่าส่งออกราว 29.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2566 ซึ่งเติบโตกว่าปีก่อนหน้าถึง 79.6% ทำให้เห็นถึงความนิยมเครื่องดื่มไทยในอินเดียเพิ่มมากขึ้น หนึ่งในปัจจัยสนับสนุนการเติบโตในอุตสาหกรรมดังกล่าว ได้แก่ การที่ประชากรอินเดียส่วนใหญ่ ในปัจจุบันอยู่ในวัยกลางคน/วัยทำงาน มีรายได้และมีพฤติกรรมการบริโภคเปิดรับสินค้าเครื่องดื่มจากต่างประเทศมากขึ้น ประกอบกับปัญหาสภาพอากาศที่ร้อนและอาจจะร้อนมากขึ้นในอนาคต ทำให้คาดการณ์ว่าตลาดสินค้าเครื่องดื่มในอินเดียจะยังคงเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
***************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงนิวเดลี
18 มิถุนายน 2567
ที่มา:
- Business Standard, 27 May 2024, Delhi hits record-breaking 52.3 degrees C, its highest-ever temperature
- The Free Press Journal, 9 Jun 2024, Previous Month Marked India's Hottest May in 36 Years
- WMO, 5 Jun 2024, Global temperature is likely to exceed 1.5°C above pre-industrial level temporarily in next 5 years
- ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร