อินเดียกับนโยบายสิ่งแวดล้อมภายใต้รัฐบาลโมดิ
อินเดียกับนโยบายสิ่งแวดล้อมภายใต้รัฐบาลโมดิ
India's Environment and Green Policy during the Modi Government
การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรอย่างเห็นได้ชัดของสาธารณรัฐอินเดีย กอรปกับแนวโน้มการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการ นำมาสู่การเพิ่มขึ้นของการผลิตและบริโภคอย่างมหาศาลที่ส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดสู่การเป็น 1 ใน 5 ของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยเหตุดังกล่าว รัฐบาลอินเดียจึงจำเป็นที่จะต้องกำหนดแนวนโยบายของรัฐหลายประการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ขจัดมลพิษ และบรรเทาผลกระทบต่อระบบนิเวศ บทความนี้จะชวนผู้อ่านทำความเข้าใจอินเดียกับนโยบายสิ่งแวดล้อมภายใต้รัฐบาลปัจจุบันของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ
ฉากทัศน์ของปัญหาสิ่งแวดล้อมในอินเดีย
การปฏิวัติเขียว (Green Revolution) ในช่วงกลางคริสศตววษที่ 1960 มีวัตถุประสงค์สำคัญที่จะสร้างหลักประกันแห่งความมั่นคงทางอาหารและยกระดับขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองในการผลิตอาหารและการเกษตรของประเทศ โดยการปฏิวัติเขียวดำเนินการผ่านการสนับสนุนการส่งเสริมการเพาะปลูก การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ การให้ความรู้ด้านโภชนาการ การบริหารจัดการด้านการชลประทาน ซึ่งจากการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวในหลายศตวรรษ ทำให้อินเดียสามารถผลิตอาหารได้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ และเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกสินค้าทางการเกษตรได้มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้พื้นที่ป่าหลายแห่งของประเทศถูกจัดสรรให้กับนักลงทุนเพื่อเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ในขณะที่หลายพื้นที่ถูกนำไปใช้ในด้านเกษตรกรรม จากการเพิ่มจำนวนการผลิตดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาภัยธรรมชาติภายในประเทศ นอกจากนี้การอุปโภคและบริโภคที่ขาดระบบในการจัดการขยะ ทำให้อินเดียเต็มไปด้วยขยะและพื้นที่มลพิษ จนรัฐบาลต้องออกมาตรการสำคัญหลายประการ อาทิ การงดให้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า การกำหนดนโยบาย Clean India เพื่อกระตุ้นการรักษาความสะอาดและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมดังกล่าว
นโยบายสิ่งแวดล้อมภายใต้รัฐบาลโมดิ
ภายหลังที่นเรนทรา โมดิ (Narendra Modi) แห่งพรรคภารติยะชนะ (Bharatiya Janata Party) ชนะการเลือกตั้ง และก้าวขึ้นสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีผู้กุมอำนาจทางการบริหารของประเทศอินเดียในปีคริตตศักราช 2014 นายกฯโมดิ ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการจัดการสิ่งแวดล้อมและมลพิษในประเทศหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการริเริ่มโครงการสำคัญภายใต้ชื่อ “พันธกิจ” (missions) เช่น การสนับสนุนการใช้ไฮเดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญในการกำจัดคาร์บอนในภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรม การผลิตโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ แบตเตอรี่ไฟฟ้า และการขนส่งสีเขียว (Green Transport)
โดยนเรนทรา โมดิ ได้ประกาศในที่ประชุมสุดยอดผู้นำแห่งกลาสโกว์ (Glasgow Summit) ให้อินเดียไปสู่การเป็นประเทศที่ Net-Zero หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยคำนึงถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตอยู่ในระดับศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2070 ทั้งนี้อินเดียเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์มากที่สุดเป็นลำดับที่ 4 ของโลกต่อจากจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว อินเดียตั้งใจที่จะผลิตพลังงานทางเลือกร้อยละ 50 จากพลังงานหมุนเวียน และมีกำหนดที่จะลดการปล่อยกาซเรือนกระจกให้อยู่ที่หนึ่งพันล้านตัน ภายในปี ค.ศ. 2030 รวมไปถึงการมุ่งสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการผลักดันนโยบายไฮเดรเจนสีเขียว
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ ยังได้ประกาศความริเริ่มในการรับรองเครดิตสีเขียว (Green Credit) เพื่อให้ความสำคัญกับการผสานระหว่างการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการเติบโตของมนุษยชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโครงการดังกล่าวเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้ปัจเจกบุคคลหรือองค์กรดำเนินการเพาะปลูกในพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างหรือที่ดินซี่งไม่ได้ทำประโยชน์ ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการหากประสบความสำเร็จจะได้รับการรับรองเครดิตสีเขียวในรูปแบบดิจิตัล เพื่อยืนยันว่าตลอดห่วงโซ่แห่งการผลิตและการเพาะปลูกจะนำไปสู่การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมของประเทศ
ในการสร้างพลังหมุนเวียน อินเดียอยู่ระหว่างการขยายขีดความสามารถด้านพลังงานงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเฉพาะในด้านการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ (Solar Energy) อินเดียได้กำหนดให้มีความริเริ่ม “One Sun One World One Grid” เพื่อกระตุ้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ทุกครัวเรือนเข้าถึงแสงสว่างในราคาที่เข้าถึงได้ อีกทั้งกระทรวงพลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียน (Ministry of New and Renewable Energy) ยังกำหนดเป้าหมายในการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ให้ได้ 280 GW ภายในปี ค.ศ.2030 อีกด้วย
ด้านการผลิตพลังงานไฮเดรเจนสีเขียว อินเดียได้ประกาศเริ่มพันธกิจพลังงานไฮเดรเจนแห่งชาติ (National Hydrogen Energy Mission) เพื่อรับประกันการผลิต นอกจากนี้ยังเปิดตัวแหล่งพลังงานจากไฮเดรเจนที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีในประเทศ ณ เมืองปูเน ในปี ค.ศ. 2022 อีกทั้งยังได้สนับสนุนงบประมาณกว่า 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี ค.ศ.2025 เพื่อสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมของเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio-based economy) ในการพัฒนาพลังงานชีวภาพ และการเปลี่ยนจากของเสียสู่พลังงาน โดยอินเดียได้จัดตั้งศูนย์พลังงานชีวภาพ 5 แห่งในการศึกษาและเร่งรัดการขับเคลื่อนการใช้พลังงานสะอาดดังกล่าว
ในการสนับสนุนการสร้างพลังงานสะอาด พลังงานทางเลือก และพลังงานสีเขียวในประเทศ รัฐบาลอินเดียยังได้สนับสนุนงบประมาณกว่า 5 แสนล้านรูปี ในการสร้างวัฒนธรรมด้านการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมให้กับมหาวิทยาลัย วิทยาลัย และสถาบันวิจัย รวมถึงห้องปฏิบัติการต่างๆ เพื่อให้สถาบันเหล่านี้ดำเนินการวิจัยเพื่อสร้างพลังงานสะอาด ร่วมกับบริษัทเอกชน อนึ่งหัวใจสำคัญอีกประการของนโยบายของนเรนทรา โมดิ คือการขับเคลื่อนพลังงานงานสะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมร่วมกับภาคเอกชน โดยรัฐบาลได้ทำการคัดเลือกบริษัทเอกชนเพื่อที่จะรับการสนับสนุนพิเศษจากรัฐภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership)
นอกจากนี้ยังได้ขับเคลื่อนระดับประชาชนผ่านการสร้างค่านิยม ความภาคภูมิใจ และการสร้างการตระหนักรู้ถึงความเป็นอินเดียที่สะอาดและประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีการในการสร้างวัฒนธรรมใหม่ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เยาวชนที่ประสงค์ให้อินเดียเป็นประเทศที่ดีขึ้นกว่าอดีต นอกจากนี้ในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ อินเดียยังสนับสนุนการใช้แนวปฏิบัติที่ยั่งยืน ทั้งในด้านการประมง การวิจัยทางทะเล การท่องเที่ยวชายฝั่ง และการผลิตพลังงานหมุนเวียน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy)
ในด้านการรักษาความสะอาดและควบคุมมลพิษนั้น กระทรวงสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ได้ริเริ่มโครงการอากาศสะอาดแห่งชาติ (National Clean Air Programme) ในปี ค.ศ. 2019 เพื่อลดมลพิษทางอากาศและลดค่ามลพิษที่มีผลกระทบต่อสุขภาพให้ได้ร้อยละ 30 ใน 132 เมืองทั่วประเทศภายในปี ค.ศ. 2024 โดยตลอดระยะเวลา 3 ปีหลังการประกาศใช้นโยบายดังกล่าว มีเมืองในอินเดียกว่า 96 เมืองมีแนวโน้มค่ามลพิษทางอากาศลดลง ต่อมาในปี ค.ศ. 2021 อินเดียได้ประกาศกฎกระทรวงว่าด้วยการบริหารจัดการขยะพลาสติก (Plastic Waste Management Amendment Rules 2021) เพื่อห้ามการใช้พลาสติกที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้ เพื่อให้บริษัท ห้างร้าน และผู้ผลิตใช้แนวทางบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในขณะที่ด้านการสนับสนุนการผลิตและใช้รถไฟฟ้า (Electric Vehicle) รัฐบาลอินเดียโดยกระทรวงอุตสาหกรรมหนัก (Ministry of Heavy Industries) ได้ดำเนินแผนงานชื่อว่า FAME-India (Faster Adoption and Manufacturing of Hybrid and Electric Vehicle in India) โดยกระตุ้นผ่านงบประมาณจาก 8 พันล้านรูปี สู่ 29,080 ล้านรูปี ในปี ค.ศ.2023 ในการใช้งานรถบัสไฟฟ้า รถขนส่งไฟฟ้า นอกจากนี้ยังลดภาษีการใช้รถไฟฟ้าจากร้อยละ 12 เหลือร้อยละ 5 และลดภาษีของสถานีชาร์ตไฟฟ้าจากร้อยละ 18 สู่ร้อยละ 5 อีกด้วย นอกจากนี้ในส่วนการไฟฟ้าแห่งอินเดียยังได้ประกาศการใช้พลังงานไฟฟ้าแบบสมบูรณ์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี ค.ศ. 2030 อีกด้วย
ความสำเร็จของนโยบายสิ่งแวดล้อมของอินเดีย
จากแนวทางข้างต้น จะพบว่าตลอดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนเรนทรา โมดินั้น ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของการกำหนดแนวนโยบายทางเศรษฐกิจ แต่โมดิ ยังให้ความสำคัญกับประเด็นการสร้างสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ซึ่งแสดงให้เห็นผ่านนโยบายที่สำคัญทั้งในเชิงพลังงานทางเลือกและการลดมลพิษภายในประเทศ จึงเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ไทยและอาเซียนสามารถเรียนรู้ รวมไปถึงเตรียมความพร้อมสำหรับรู้จักทิศทางนโยบายสิ่งแวดล้อมของอินเดียก่อนการลงทุนที่จะเกิดขึ้นนั่นเอง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
- pib.gov.in/PressReleaseIframePage.aspx?PRID=1961797
- Explained | What is PM Modi's Green Credits initiative? (deccanherald.com)
- The Paradox of India’s Green Revolution | Center for the Advanced Study of India (CASI) (upenn.edu)
- West has lot to learn from Modi on economic, green policies: Former UN Environment head, ET EnergyWorld (indiatimes.com)
- static.pib.gov.in/WriteReadData/specificdocs/documents/2022/feb/doc202222519401.pdf