อินเดียกับเส้นทางสู่การบริการสาธารณสุขดิจิตัล
อินเดียกับเส้นทางสู่การบริการสาธารณสุขดิจิตัล
India's Journey in Digitizing Healthcare
จากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปีคริสตศักราช 2023 ที่ผ่านมา สาธารณรัฐอินเดียกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก (World Most Populous Country in 2023) โดยคาดการณ์จากรายงานของสหประชาชาติพบว่าอินเดียจะมีประชากรสูงถึง 1,428 ล้านคน ซึ่งแซงหน้าประเทศจีนที่มีจำนวนประชากรเป็นอันดับ 2 ที่ 1,425 ล้านคน จากตัวเลขดังกล่าว นำมาซึ่งความวิตกกังวลจากประชาคมโลกและทำให้เห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมานั่นคือการเข้าถึงระบบบริการทางสุขภาพของประชาชน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่น่าสนใจว่าอินเดียจะมีระบบบริการสาธารณสุขอย่างไรให้ครอบคลุมประชากรให้ได้มากที่สุด บทความนี้ จึงตั้งใจที่จะนำผู้อ่านสำรวจอินเดียในแง่มุมเส้นทางสู่การบริการสาธารณสุขในยุคดิจิตัลให้กับประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก
ระบบริการสาธารณสุขของอินเดีย
นับได้ว่าระบบบริการสาธารณสุขของอินเดียเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในหลายมิติ อาทิ การเป็นระบบริการทางสังคมที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้แนวโน้มและความรุดหน้าของการพัฒนาด้านงานวิจัยและโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้อินเดียเปลี่ยนจากประเทศกำลังพัฒนา มาสู่การเป็นชาติมหาอำนาจสำคัญด้านสาธารณสุข ทั้งในประเด็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ การผลิตยา และและการสนับสนุนวัคซีนที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชน รวมไปถึงการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสาธารณสุข ที่ทำให้นักเดินทางต่างชาติเดินทางเข้ามารับบริการ
อย่างไรก็ตาม แม้อินเดียจะยังคงประสบปัญหาด้านการให้บริการสุขภาพเช่นเดียวกันอีกหลายประเทศ เช่น การแบกรับค่าใช้จ่ายสูง การขาดทรัพยากรบุคคลทางแพทย์และสาธารณสุข แต่อินเดียกลับมีความพยายามที่จะให้บริการประชาชนของตนให้ได้มากที่สุด บนพื้นฐานของความแตกต่างด้านประชากร ขีดความสามารถในการใช้จ่ายด้านการรับบริการสุขภาพ และภูมิประเทศที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงระบบสาธารณสุข
จากข้อมูลทางสถิติพบว่า ในประเทศอินเดีย แพทย์ 1 คน ต้องรับผิดชอบประชากรกว่า 854 คน ด้วยเหตุนี้รัฐบาลอินเดียจึงตัดสินใจที่จะขยายการจัดการศึกษาทางการแพทย์ ซี่งไม่เพียงแต่การเพิ่มและขยายที่นั่งนักเรียนแพทย์เท่านั้น แต่ยังขยายวิทยาลัยและสถาบันทางการแพทย์ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศ นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียยังได้เตรียมการรองรับการให้บริการสาธารณสุขด้วยระบบดิจิตัลซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง
อินเดียกับภารกิจการให้บริการสาธารณสุขดิจิตัล
ในนโยบายสุขภาพแห่งชาติอินเดียปีคริสตศักราช 2017 รัฐบาลอินเดียได้กำหนดแนวทางถึงการยกระดับขีดความสามารถด้านการให้บริการสุขภาพให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการที่มีคุณภาพสำหรับผู้ประสบปัญหาความยากลำบากด้านการเงิน ในการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว อินเดียได้เลือกใช้เทคโนโลยีดิจิตัลเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับการให้บริการสาธารณสุข นำมาสู่ความริเริ่มและโครงการสำคัญ ภายใต้ชื่อ “พันธกิจแห่งชาติด้านสุขภาพดิจิตัล” (National Digital Health Mission)
พันธกิจแห่งชาติด้านสุขภาพดิจิตัลของอินเดียนั้น มุ่งสร้างระบบนิเวศทางด้านการให้บริการสาธารณสุขดิจิตัลซึ่งสามารถรองรับการให้บริการสุขภาพแบบถ้วนหน้า อย่างมีประสิทธิภาพ เข้าถึงได้ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ประหยัด ตรงเวลา และปลอดภัย พร้อมไปกับการให้หลักประกันถึงข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิตัล
รัฐบาลอินเดียมีนโยบายมุ่งสู่การสาธารณสุขดิจิตัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลโดยการประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนยักษ์ใหญ่อาทิกลุ่มทาทา (Tata Group) กลุ่มอุตสาหกรรมรีไลอันซ์ (Reliance Industries) และเครือข่ายกลุ่มโรงพยาบาลอพอลโล่ (Apollo Hospitals) ในการทำให้ระบบบริการสุขภาพดิจิตัลเกิดขึ้นจริง ซึ่งปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยให้เกิดการขยายตัวของการให้บริการดังกล่าวมีมากขึ้น เป็นผลมาจากการพัฒนาขีดความสามารถและเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในฐานะโครงสร้างพื้นฐาน ที่ก่อให้เกิดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตความเร็วสูง การส่งต่อข้อมูล รวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านของระบบเศรษฐกิจดั้งเดิม ไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิตัล ที่เน้นการทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่านิยมทางสังคมของอินเดียไปสู่สังคมที่มีค่านิยมดิจิตัล (Digital Mindset) มากยิ่งขึ้น
ในการยกระดับสู่การให้บริการสาธารณสุขดิจิตัลของอินเดียนั้นเริ่มตั้งแต่การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จนไปสู่การให้บริการรักษาโรคทางไกล (telehealth services) นับเป็นสิ่งตอบโจทย์การรักษาชีวิตของชาวอินเดียนับล้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนชทบท ที่ไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเมืองหลักได้ ดังนั้นการพัฒนาระบบรักษาโรคทางไกล ที่มาพร้อมกับเครื่องมือการวินิจฉัยโรคดิจิตัล การติดตามขีดความสามารถและการตรวจสอบระยะไกล จึงมีประโยชน์กับชาวอินเดียให้เข้าถึงระบบบริการสาธารณะทั้งในแง่ของขีดความสามารถในใช้จ่ายเพื่อการรักษาและคุณภาพการให้บริการ นอกจากนี้ภาคเอกชนอาทิ โรงพยาบาลในเครืออะพอลโล่ (The Apollo Group) ซึ่งเป็นเครือข่ายทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียได้เปิดตัวระบบการรักษาโรคทางไกลเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าวด้วย
ดังจะเห็นได้จากในช่วงวิกฤติโควิด-19 การรักษาโรคทางไกลและการดูแลสุขภาพออนไลน์ เป็นรูปแบบที่ช่วยรักษาชีวิตของคนไข้ได้เป็นจำนวนมาก โดยร้อยละ 80 ของแพทย์ในอินเดียเหนือ ร้อยละ 50 ของแพทย์ในอินเดียใต้และอินเดียตะวันตก และ ร้อยละ 35 ของแพทย์ในอินเดียตะวันออกได้นำวิธีการรักษาทางไกลดังกล่าวมาปรับใช้ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยในหลายพื้นที่ของประเทศสามารถที่จะเข้าถึงการให้คำปรึกษาออนไลน์ และ สามารถรับบริการยาถึงที่พักของตน ซึ่งการวินิจฉัยทางไกลดังกล่าวยังนำระบบ AI และ หุ่นยนต์มาช่วยในการยกระดับความถูกต้องของการรักษาทางไกลอีกด้วย
นอกจากนี้เป็นที่น่าสนใจว่ารัฐบาลอินเดียยังได้ส่งเสริมและสร้างแนวปฏิบัติในการบูรณาการการทำงานร่วมกันของเครือข่ายด้านการแพทย์ ทั้งโรงพยาบาล ห้องปฏิบัติการ เภสัชกร รวมไปถึง Startups ด้านเทคโนโลยีสุขภาพ โดยวางแผนที่จะตั้ง National Health Stack เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องอยู่ภายใต้ร่มการทำงานเดียวกัน ภายใต้ชุดข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กลางขนาดใหญ่ ซึ่งฐานข้อมูลสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติดังกล่าว จะจัดเก็บสถิติที่สำคัญของประเทศ และเปิดโอกาสให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถใช้ข้อมูลในการดำเนินงาน การตรวจสอบสิ่งผิดปกติในระบบประกันสุขภาพ การประเมินและวัดผลการศึกษาและการวิจัยทางการแพทย์ในอินเดีย นอกจากนั้นยังช่วยลดค่าใช้และเวลาในการวินิจฉัยและรักษาโรคอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลอินเดียยังได้จัดสรรงบประมาณกว่า 1,600,000 ล้านรูปีในระยะ 5 ปีเพื่อผลักดันการให้บริการสาธารสุขดิจิตัลของอินเดียภายใต้พันธกิจ Ayushman Bharat Digital Mission (ABDM)
นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียยังได้กำหนดการดูแลสุขภาพดิจิตัลสำหรับประชาชน (Digital Health for all) ผ่านนโยบายการดูแลสุขภาพถ้วนหน้าที่สำคัญ Rashtriya Swasthya Bima Yojana (RSBY) ซึ่งโครงการดังกล่าวขับเคลื่อนการใช้บัตรประจำตัวอัจฉริยะ และ การใช้แนวทางดิจิตัลในระบบบริการสาธารณสุขในอินเดีย เพื่อสนับสนุนการให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพในราคาที่น้อยกว่า การใช้เทคโนโลยีในการสร้างและออกแบบการตอบสนองความต้องการได้สุขภาพของผู้ยากจน รวมไปถึงการบูรณาการการทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชนในการให้บริการสาธารณสุข
โอกาสในธุรกิจการแพทย์ดิจิตัล
จากอัตราเร่งของสถานการณ์โควิด-19 รวมไปถึงกระแสการเกิดขึ้นของการทำให้เป็นดิจิตัลอย่างรวดเร็ว (Digitalization) การขยายตัวของการใช้อินเตอร์เน็ตและสมาร์ทโพน ประกอบกับแนวนโยบายของประเทศโดยเฉพาะพันธกิจแห่งชาติด้านสุขภาพดิจิตัล (National Digital Health Mission) และ โครงการส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ (Make in India) ทำให้เกิดโอกาสสำหรับภาคธุรกิจการให้บริการสาธารณสุขดิจิตัลจำนวนมากในประเทศอินเดีย
โดยในปัจจุบันมูลค่าการให้บริการสาธารณสุขดิจิตัลในอินเดียมีมูลค่ากว่าห้าหมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐและเป็นที่คาดการณ์ว่าตลาดดังกล่าวจะพุ่งทะยานสู่ 1 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐภายในทศวรรษข้างหน้า นอกจากนี้อินเดียยังเป็นแหล่งบ่มเพาะสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีสุขภาพที่สำคัญ โดยปัจจุบันมีจำนวนสตาร์ทอัพดังกล่าวกว่า 7,218 แห่ง ซึ่งช่วยขับเคลื่อนและบูรณาการระบบนิเวศการสาธารณสุขดิจิตัล ซึ่งสตาร์ทอัพเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะสร้างนวัตกรรมทางสุขภาพในแก้ไขและปรับปรุงระบบบริการสาธารณสุขในอินเดีย ซึ่งการเรียนรู้และปรับใช้นวัตกรรมดังกล่าวจากกรณีศึกษาของอินเดียจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยและอาเซียน สามารถนำไปปรับใช้กับการยกระดับนวัตกรรมการแพทย์และการบริการสาธารณสุขดิจิตัลในประเทศของตนได้
* * * * *
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
อ่านเพิ่มเติมที่
- https://www.forbes.com/sites/saibala/2022/10/26/the-digital-health-ecosystem-in-india-is-an-unparalleled-opportunity/?sh=343603542df0
- https://health.economictimes.indiatimes.com/news/health-it/the-changing-landscape-of-digital-healthcare-in-india/90622190
- https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S027795362200274X
- https://niti.gov.in/sites/default/files/2021-09/ndhm_strategy_overview.pdf
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี