โอกาสของอุตสาหกรรมเนื้อหมูในอินเดีย
โอกาสของอุตสาหกรรมเนื้อหมูในอินเดีย
อุตสาหกรรมเนื้อหมูในอินเดียค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์อื่น ๆ เช่น เนื้อไก่และเนื้อวัว เนื่องจากปัจจัยทางวัฒนธรรม ศาสนา และภูมิภาค โดยอินเดียนับเป็นที่มีประชากรทั้งชาวฮินดูและมุสลิมจำนวนมาก ซึ่งทั้งสองศาสนามีข้อจำกัดทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับการบริโภคเนื้อหมู โดยเฉพาะชาวมุสลิมซึ่งมีจำนวนมากกว่า 172 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 14 ของประชากรประเทศ ในขณะที่ชาวฮินดูจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวรรณะสูง มักหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ หรือเลือกบริโภคเนื้อชนิดอื่น เช่น ไก่ ปลา และแกะแทน ด้วยเหตุนี้ เนื้อหมูจึงไม่เป็นที่นิยมในการบริโภคอย่างแพร่หลายในอินเดียเหมือนในหลายๆ ประเทศ และคิดเป็นเพียงร้อยละ 5 ของแหล่งโปรตีนจากเนื้อสัตว์ของประเทศเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีบางพื้นที่ในอินเดียที่มีการอัตราการบริโภคเนื้อหมู อาทิ กรณีของรัฐในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เช่น นาคาแลนด์ มิซอรัม มณีปุระ และอัสสัม มีการบริโภคเนื้อหมูสูงสุดในประเทศพร้อมกับความต้องการเนื้อหมูสูง ภูมิภาคเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธ์ที่บริโภคเนื้อหมูเป็นอาหารหลัก ซึ่งในพื้นที่เหล่านี้ มักมีการเลี้ยงหมูในฟาร์มขนาดเล็ก หรือในครัวเรือน นอกจากนี้ ยังมีบางพื้นที่ของรัฐกัวและรัฐเกรละ ซึ่งมีประชากรคริสเตียนหรือชาวอินเดียที่นับถือคริสตศาสนา และรัฐเวสต์เบงกอล ซึ่งมีประชากรที่อพยพและสืบเชื้อสายจีน ล้วนแต่มีอัตราการบริโภคเนื้อหมูสูงขึ้นเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ในหลายปีที่ผ่านมา ความต้องการการบริโภคเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์เนื้อหมูภายในอินเดียมีแนวโน้มที่สูงขึ้น โดยมีการนำเข้าเนื้อหมูจากแคนาดา สเปน และบราซิล คิดเป็นมูลค่า 2.97 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 นอกจากนี้ยังมีมูลค่าทางการตลาดเนื้อหมูที่ 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตถึง 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2030 จึงทำให้อุตสาหกรรมเนื้อหมูในอินเดียเป็นตลาดที่น่าสนใจ
อุตสาหกรรมเนื้อหมูในอินเดีย
อุตสาหกรรมเนื้อหมูในอินเดียคิดเป็นเพียงร้อยละ 1.69 ของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ภายในประเทศอินเดียเท่านั้น การผลิตเนื้อหมูในอินเดียส่วนใหญ่ มักดำเนินการโดยเกษตรกรรายย่อย และยังไม่เป็นระบบมากนัก ซึ่งเป็นการผลิตในพื้นที่ชนบทที่มีการใช้เทคโนโลยีพื้นบ้าน ขาดเทคนิคการปรับปรุงพันธุ์ที่ก้าวหน้า และมุ่งผลิตเพื่อการบริโภคในท้องถิ่นเท่านั้น ซึ่งทำให้ในแง่ของการส่งออกยังคงมีไม่มากนัก นอกจากนี้ยังขาดโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การขนส่งและการเก็บรักษาในห้องเย็นที่ไม่เพียงพอ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยรัฐที่มีอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อหมู ประกอบไปด้วย อัสสัม ฌารขัณฑ์ เมฆาลัย เวสต์เบงกอล ฉัตตีสครห์ อุตรประเทศ นากาแลนด์ พิหาร กรณาฏกะ และมิโซรัม
อนึ่ง ในการผลิตอาหารประเภทเนื้อของอินเดียนั้น อยู่ภายใต้ระเบียบว่าด้วยผลิตภัณฑ์อาหารจากเนื้อ ปี ค.ศ. 1973 (Meat Food Product Order) ซึ่งถูกกำหนดขึ้นเพื่อรักษามาตรฐานความสะอาดและอนามัยสำหรับสถานที่ผลิตเนื้อสัตว์ ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการมาตรฐานอาหารและความปลอดภัยแห่งอินเดีย (Food Safety and Standards Authority of India) และกระทรวงอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Ministry of Food Processing Industries) และในการผลิตเนื้อหมูนั้น กระทรวงการเลี้ยงสัตว์ นม และการประมง (The Ministry of Husbandry, Dairying and Fisheries) ได้กำหนดแนวปฏิบัติและแนวโยบายแห่งรัฐด้านการผสมพันธ์หมู (A State Pig Breeding Policy) ออกมาเป็นแนวทางด้วย
แม้ว่าอุตสาหกรรมเนื้อหมูในอินเดียจะไม่ใหญ่นัก แต่กลับพบว่าอุตสาหกรรมดังล่าวมีศักยภาพในการเติบโต โดยเฉพาะในภูมิภาคที่การบริโภคเนื้อหมูเป็นที่ยอมรับทางวัฒนธรรม โดยในปัจจุบันภูมิภาคเหล่านี้ ต่างมีความสนใจเพิ่มขึ้นในการปรับปรุงการเลี้ยงหมูและการผลิตเนื้อหมูเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานด้านสุขภาพ ผ่านการฝึกอบรมและการเข้าถึงบริการสัตวแพทย์ อีกสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เป็นระบบมากขึ้นผ่านโครงการของรัฐ จึงทำให้อุตสาหกรรมเนื้อหมูในอินเดียเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นโอกาสในอนาคต
โอกาสของอุตสาหกรรมเนื้อหมูในอินเดีย
อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อหมูของอินเดียมีโอกาสในการเติบโตอย่างมาก โดยมีหลายปัจจัยที่หนุนเสริมให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมเนื้อหมูในอินเดีย ประกอบด้วย ประการแรกคือความต้องการบริโภคเนื้อหมูที่เพิ่มขึ้นทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขึ้นของผู้บริโภคที่ไม่ถูกจำกัดด้วยข้อกำหนดทางศาสนา
ประการที่สอง การเลี้ยงหมูในอินเดียส่วนใหญ่ยังคงใช้วิธีการดั้งเดิม ดังนั้นจึงมีโอกาสและช่องทางในการยกระดับการผลิตเนื้อหมูภายในประเทศ ผ่านการปรับปรุงกระบวนการเลี้ยงหมูให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การนำเทคโนโลยีการเลี้ยงที่ทันสมัยมาใช้ ทั้งในเรื่องพันธุ์หมูและการปรับปรุงโภชนาการ รวมถึงการเพิ่มมาตรฐานด้านสุขอนามัย ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มผลผลิตเนื้อหมูแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงจากโรคระบาดก่อให้เกิดความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคด้วย นอกจากนี้ยังมีโอกาสในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมู เช่น ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น ไส้กรอก แฮม หรือผลิตภัณฑ์เนื้อหมูแบบบรรจุพร้อมขาย ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ผลิตอีกด้วย
ประการที่สาม ภายใต้การพัฒนาภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย รัฐบาลได้สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูและการเกษตรอื่น ๆ โดยรัฐระดับท้องถิ่นและหน่วยงานพัฒนาพื้นที่ได้ให้การสนับสนุนทั้งทางการเงินและการให้ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อช่วยปรับปรุงผลผลิตและสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเกษตรกรรายย่อยเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มกำลังการผลิตของอุตสาหกรรม ด้วยปัจจัยเหล่านี้ อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อหมูในอินเดียและในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย จึงมีศักยภาพสูงในการเติบโตและสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น หากได้รับการพัฒนาและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากภาครัฐและเอกชน
ประการที่สี่ แนวโน้มการนำเข้าเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูที่เพิ่มสูงขึ้น ดังจะเห็นได้จากกรณีของรัฐมหาราษฏะ ที่เริ่มเปลี่ยนแปลงนโยบายในการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเนื้อหมูด้วยการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ ไปพร้อมกับการพัฒนาผู้ประกอบการภายในเพื่อเรียนรู้การปรับปรุงการผลิตเนื้อหมูให้ได้มาตรฐานสากล โดยคาดหวังว่าในปี 5 ข้างหน้า ผู้ประกอบของรัฐกว่าพันหลายจะสามารถเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีดังกล่าว เพื่อมายกระดับกระบวนการผลิตภายในประเทศได้ นอกจากนี้หลายประเทศ อาทิ รัสเซีย สเปน แคนาดา บราซิล ยังมีความพยายามในการเพิ่มปริมาณการส่งออกเนื้อหมูมายังอินเดียเพื่อรองรับการบริโภคภายในประเทศที่สูงขึ้น
วิเคราะห์โอกาสของไทยในอุตสาหกรรมเนื้อหมูของอินเดีย
การลงทุนในอุตสาหกรรมเนื้อหมูในอินเดียเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียซึ่งมีการบริโภคเนื้อหมูสูงและอุตสาหกรรมยังคงพัฒนาไม่เต็มที่ การลงทุนในอุตสาหกรรมนี้สามารถสร้างโอกาสในการเติบโตได้หลายด้าน หากมีการวางแผนและการดำเนินงานที่เหมาะสม โดยมีโอกาสและแนวทางสำหรับนักลงทุนของไทย ดังต่อไปนี้
- การร่วมลงทุนหรือจัดตั้งฟาร์มเลี้ยงหมูเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดท้องถิ่น ดังที่ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียมีความต้องการเนื้อหมูสูง นักลงทุนชาวไทยสามารถใช้ประโยชน์จากตลาดนี้โดยการร่วมลงทุนหรือจัดตั้งฟาร์มเลี้ยงหมูเพื่อตอบสนองความต้องการในภูมิภาคนี้
- การนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยเพื่อยกระดับคุณภาพและปริมาณการผลิต: การเลี้ยงหมูในอินเดียส่วนใหญ่ยังคงใช้วิธีการดั้งเดิม ดังนั้นนักลงทุนชาวไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงหมูแบบสมัยใหม่สามารถนำเข้าระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การใช้พันธุ์หมูที่มีคุณภาพสูง ระบบการจัดการฟาร์มแบบอัตโนมัติ และการจัดการด้านสุขอนามัยที่ได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต
- การพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อหมู: นักลงทุนชาวไทยสามารถขยายธุรกิจจากการเลี้ยงหมูไปสู่การแปรรูปเนื้อหมู เช่น การผลิตไส้กรอก แฮม หรือผลิตภัณฑ์เนื้อหมูบรรจุพร้อมขาย ซึ่งตลาดผลิตภัณฑ์แปรรูปยังไม่เป็นที่แพร่หลายในอินเดีย การพัฒนาโรงงานแปรรูปเนื้อหมูสามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และสร้างรายได้มากขึ้น
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่อุปทาน: นักลงทุนสามารถร่วมมือกับภาคเอกชนหรือภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น การสร้างระบบขนส่งและการเก็บรักษาเนื้อหมูที่ได้มาตรฐาน การลงทุนในส่วนนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจในคุณภาพของเนื้อหมูและส่งเสริมการขยายตลาดไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ของอินเดีย
- การส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูของไทยไปยังอินเดีย: จากความต้องการในบางภูมิภาคของอินเดียที่นิยมบริโภคเนื้อหมูประกอบกับอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารจากเนื้อหมูของอินเดียยังน้อย และส่วนมากยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงนับเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกชาวไทยในการส่งออกผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูไปยังผู้บริโภคในอินเดีย
อนึ่งในการดำเนินงานข้างต้น ผู้ลงทุนชาวไทย ควรศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมการบริโภคเนื้อหมูในอินเดียและความต้องการของผู้บริโภคอย่างละเอียด เพื่อทำความเข้าใจโอกาสและความท้าทายในแต่ละพื้นที่นอกจากนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่นักลงทุนชาวไทยจะต้องสร้างพันธมิตรท้องถิ่น ทั้งหน่วยงานของรัฐ และ ผู้ประกอบการท้องถิ่น เพื่อทราบข้อมูลในประเด็นการเข้าถึงที่ดิน ทรัพยากร และแรงงานท้องถิ่น อีกทั้งนักลงทุนไทยควรทำความเข้าใจกฎหมายและข้อบังคับท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงหมูและการแปรรูปเนื้อหมูในอินเดีย เช่น ข้อกำหนดด้านสุขอนามัย การปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม และการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร
โอกาสของไทยในอุตสาหกรรมเนื้อหมูในอินเดีย
แม้ว่าอุตสาหกรรมเนื้อหมูในอินเดียจะค่อนข้างเล็กเนื่องจากปัจจัยทางวัฒนธรรมและศาสนา อีกทั้งในพื้นที่ที่มีการบริโภค ยังคงเผชิญปัญหาด้านการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความท้าทายด้านการจัดการ มาตรฐานด้านสุขภาพ และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการผลิตเนื้อหมู แต่อุตสาหกรรมนี้ ยังมีพื้นที่สำหรับการเติบโตหากได้รับการลงทุนและการพัฒนาที่เหมาะสม โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีการบริโภคเนื้อหมูสูง จึงเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนชาวไทย ในการนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่น เพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมเนื้อหมูในอินเดีย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
1. https://dahd.nic.in/sites/default/filess/NAP%20on%20Pig%20.pdf
2. https://www.euromeatnews.com/Article-India-is-ready-import-pigs-to-develop-strong-pork-industry/2530
3. https://aggrp.in/wp-content/uploads/2024/05/AG-Group-Analysis-Report-On-Piggery-April-2024-.pdf