รัฐทมิฬนาฑูย้ำแผนเน้นนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมไอที
รัฐบาลรัฐทมิฬนาฑูเน้นนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรม IT เพื่อมุ่งทำให้ให้รัฐทมิฬนาฑูเป็นรับผู้นำอันดับแรกของประเทศอินเดียในสาขาอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยทางรัฐฯ จะได้ดำเนินนโนบายที่จะสามารถเอื้ออำนวยประโยชน์ใหม่ๆ ให้แก่ภาคเอกชน ในอุตสาหกรรม IT ปัจจุบัน อุตสาหกรรมสาขา IT ของรัฐฯ จัดได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่ง (Sunshine sector) นาง J. Jayalalitthaa กล่าวในงานสัมมนา
ทั้งนี้ รัฐทมิฬนาฑูมีบริษัท Software กว่า 1,800 แห่ง ซึ่ง 210 บริษัทเป็นการลงทุน 100% ของบริษัทต่างชาติ นาง J. Jayalalitthaa ได้เปิดเผยต่อไปว่า ปี 2553 – 2554 การส่งออก Software ของรัฐทมิฬนาฑูเพิ่มขึ้น14.8 % คิดเป็นมูลค่า 421, 000 ล้านรูปี เมื่อเทียบกับปี 2552 ซึ่งมีมูลค่าเพียง 367,650.5 ล้านรูปี นอกจากนั้น รัฐทมิฬนาฑูจะพยายามส่งเสริมให้เป็นผู้นำในด้าน e-readiness และ e-governance ของอินเดีย
จุดแข็งที่เป็นข้อได้เปรียบของรัฐทมิฬนาฑูในการส่งเสริมอุตสาหกรรม IT ได้แก่มีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพมากเพียงพอที่สามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในสาขานี้ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาด้านวิศวกรรมที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั่วไป อาทิเช่น Anna University ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตด้านวิศวกรรมที่ใหญ่ที่สุดของโลก กล่าวคือ Anna University สามารถผลิตบัณฑิตในสาขาวิศวกรรมได้มากถึงร้อยละ 25 ของประเทศอินเดียทั้งหมด และจัดเป็นร้อยละ 10 ของวิศวกรรมบัณฑิตของมหาวิทยาลัยทั่วโลก โดยแต่ละปีจะผู้จบวิศวกรรมถึง 192,000 รายด้วยกัน ทั้งนี้ ยังไม่รวมนักศึกษาที่จบจาก Polytechnic อีกจำนวนมากอีกด้วย ซึ่งนาง J. Jayalalitthaa เห็นว่ารัฐทมิฬนาฑูถือว่าเป็น knowledge – based industries and services อย่างแท้จริง
ในการสัมมนาครั้งนี้ นาย S.Ramadoraiที่ปรึกษา นรม.อินเดียได้กล่าวเสริมว่ารัฐทมิฬนาฑูจำเป็นที่จะเร่งพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของรัฐให้ทันสมัย ได้แก่ ถนน ไฟฟ้า การคมนาคมขนส่ง และภาคบริการต่างๆ และควรส่งเสริมให้รัฐเป็นศูนย์ด้านการค้นคว้าวิจัย และการสร้างนวตกรรมใหม่ๆ และการปรับปรุงเชื่อมโยงเครือข่ายเทคโนโลยีทันสมัยเข้าด้วยกัน
ปัจจุบันรัฐทมิฬนาฑูได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามาลงทุนมากขึ้น ทั้งในสาขา IT การผลิตรถยนต์ เครื่องไฟฟ้าอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ และผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมานักลงทุนจากเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นลู่ทางที่ดีที่นักลงทุนไทยสามารถแสวงหาลู่ทางเข้ามาเปิดตลาดใหม่ๆ ดังเช่น บ.ซีพี. จำกัด เดลต้าอิเลกทรอนิกส์ เครือสยามซีเมนต์ รวมทั้ง Rockworth และบ้านพฤกษาซึ่งทยอยเข้ามาลงทุนในรัฐภาคใต้ของอินเดียมากขึ้น
นาย S.K. Goel, Chairman, South India Infrastructure Investment เปิดเผยว่ารัฐภาคใต้ของอินเดียมีอัตราเติบโตด้านธุรกิจ การค้าที่มีสัดส่วนสูงมากกว่าถัวเฉลี่ยของรัฐอื่นๆ ในอินเดีย แต่มีปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องปรับปรุงให้สามารถรองรับการเติบโตทาง ศก. การค้า ให้ทัน รัฐต่างๆ เหล่านี้จึงจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่อลงทุนในด้านการปรับปรุงสาธารณูปโภคพื้นฐาน
จากการที่อินเดียมีความจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐให้ทันสมัย อาทิ ถนน ไฟฟ้า การคมนาคมขนส่ง และภาคบริการต่างๆ ดังนั้น จากการที่ภาคเอกชนของไทยก็มีความชำนาญและมีประสาบการณ์ในการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่อินเดียต้องการ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ที่สามารถแสวงหาลู่ทางมาประมูลงานด้านโครงสร้างพื้นฐานในอินเดีย ดังเช่นที่บริษัทอิตาเลียนไทยประสบผลสำเร็จได้มีโอกาสเข้ามารับงานการวางรางรถไฟฟ้าในเมืองบังคาลอร์ในขณะนี้ นอกจากนั้น จากผลงานที่ดีทำให้บริษัทอิตาเลียนไทยมีโอกาสที่จะได้รับ ความไว้วางใจในงานก่อสร้างสาธารณูปโภคด้านอื่นๆ ของอินเดียต่อไป
ชาญชัย จรัญวัฒนากิจ
กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน