การค้าและโอกาสการลงทุนในภูมิภาคอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ
การค้าและโอกาสการลงทุนในภูมิภาคอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ
Trade and investment opportunities in the Northeast region of India (NER)
จากความคืบหน้าของการการสร้างทางหลวงไตรภาคีอินเดีย-เมียนมา-ไทย (India Myanmar Thailand Trilateral Highway) ซึ่งนับเป็นความพยายามในการเชื่อมโยงทางกายภาพด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางถนน จากประเทศไทยผ่านพรมแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เข้าสู่เมียนมา ไปยังเมืองมอเรห์ (Moreh) รัฐมณีปุระ (Manipur) สาธารณรัฐอินเดียด้วยระยะทาง 3,360 กิโลเมตร นอกจากความหวังที่จะเชื่อมอินเดียกับอาเซียน หรือภูมิภาคเอเชียใต้กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านความเชื่อมโยงด้านการค้าและธุรกิจ รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับนโยบายปฏิบัติตะวันออก (Act East Policy) ของอินเดียแล้ว ทางหลวงไตรภาคีดังกล่าว ยังเป็นการเปิดบ้านแนะนำภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียอีกด้วย บทความนี้จึงชวนทำความรู้จักภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย (Northeast India) รวมถึงโอกาสที่สำคัญของประเทศไทยและอาเซียนต่อภูมิภาคดังกล่าว
ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ประกอบด้วย 8 รัฐ ได้แก่ อัสสัม (Assam) นากาแลนด์ (Nagaland) มณีปุระ (Manipur) อรุณาจัลประเทศ (Arunachal Pradesh) มิโซรัม (Mizoram) เมฆาลายา (Meghalaya) ตรีปุระ (Tripura) และสิกขิม (Sikkim) มีเนื้อที่รวม 262,184 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 7.98 ของพื้นที่ประเทศอินเดียทั้งหมด มีประชากรรวมกันกว่า 51,670,000 คน โดยมีพรมแดนติดกับหลายประเทศ อาทิ เมียนมา จีน บังคลาเทศ เนปาล และภูฏาน ทำให้ภูมิภาคนี้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเป็นพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งมีอัตลักษณ์เฉพาะตนอีกด้วย
การพัฒนาภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
ในอดีตภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำจากการพัฒนาที่ไม่ทัดเทียมภูมิภาคอื่นของประเทศรัฐบาลอินเดียจึงได้จัดตั้งกระทรวงการพัฒนาภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Ministry of Development of North Eastern Region) ขึ้นในปี คศ.2001 เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการวางแผน ปฏิบัติการ และการกำกับดูแล แผนการพัฒนาและโครงการในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งเป็นกระทรวงเดียวของประเทศที่ใช้เงื่อนไขเชิงพื้นที่ในการบริหารจัดการ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในแง่ยุทธศาสตร์ของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยรัฐบาลอินเดียเพิ่มมากขึ้น
กระทรวงการพัฒนาภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งเป้าที่จะปฏิรูปภูมิภาคด้วยการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน พร้อมกับยกระดับการเจริญเติบโตและการเข้าถึงความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตของประชาชนให้มากขึ้น โดยมีพันธกิจสำคัญคือการบูรณาการนโยบายและแผนงานการพัฒนาในภูมิภาคจากทุกกระทรวง การจัดสรรงบประมาณที่จำเป็นต่อการพัฒนา การส่งเสริมการค้าและการลงทุนในภูมิภาค การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความเชื่อมโยง และการสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันและเครือข่ายในการเพิ่มขึดความสามารถให้กับภูมิภาค
โดยอินเดียมองว่า หากสามารถเพิ่มการพัฒนาและโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียได้จะนำมาสู่โอกาสและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผ่านการเพิ่มการผลิตและการบริโภคในภูมิภาค รวมไปถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในพื้นที่ อีกทั้งถ้าหากยกระดับความเชื่อมโยงของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียจะช่วยให้ภูมิภาคนี้สามารถเชื่อมต่อกับภูมิภาคอื่นของอินเดีย ในขณะเดียวกันก็เพิ่มขีดความสามารถในการเชื่อมโยงกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
โอกาสการค้าและการลงทุนที่สำคัญ
รัฐบาลอินเดียได้ส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจในการลงทุนในภูมิภาคผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยในปี ค.ศ.2017 ได้ริเริ่มแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพิเศษในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (North East Special infrastructure) โดยเร่งรัดการเพิ่มระบบชลประทาน ความเชื่อมโยง การส่งเสริมการท่องเที่ยว ไปพร้อมๆ กับการเพิ่มขึดความสามารถด้านการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และระบบริการสาธารณสุข อีกทั้งยังเพิ่มกำลังผลิตด้านพลังงาน โดยปัจจุบันมิโซรัม ตรีปุระ และสิกขิม เป็น 3 รัฐในภูมิภาคที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เกินกำลังการใช้และพร้อมจะสนับสนุนพลังงานในการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาค
นอกจากนี้ยังรัฐบาลอินเดียยังได้ส่งเสริมโครงการความเชื่อมโยงระดับชาติ อาทิ ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East West Corridor) ซึ่งเชื่อมรัฐกุจราตในภูมิภาคตะวันตกของอินเดีย สู่รัฐอัสสัมในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งยังสนับสนุนระเบียงเศรษฐกิจบังคลาเทศ จีน อินเดีย เมียนมา (BCIM – Bangladesh China India Myanmar Economic Corridor) เพื่อเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน 4 ประเทศ 3 อนุภูมิภาค นอกจากนี้ยังผลักดันโครงการ “ขนส่งหลายรูปแบบคาลาดาน”(Kaladan Multi-Modal Transit Transport Project : KMTT) ซึ่งเป็นการผสมผสานเส้นทางทะเลผ่านท่าเรือเข้าสู่เมียนมา และเส้นทางบกผ่านการสร้างถนนเชื่อมเมืองปะแลตวะ ข้ามชายแดนรัฐชิน ไปสู่เมือง Aizawl รัฐมิโซรัม ของอินเดีย ระยะทางประมาณ 169 กิโลเมตร อีกด้วย ด้านการเชื่อมโยงทางอากาศ รัฐบาลอินเดียได้จัดสรรงบประมาณนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 ในการฟื้นฟูท่าอากาศยาน 50 แห่งในภูมิภาคพร้อมกับยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการบินอีกด้วย
ในประเด็นการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงการลงทุนจากนักลงทุนภายในนั้น จากเดิมพบว่าการลงทุนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียยังมีน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่น รัฐบาลของอินเดียจึงได้พยายามปฏิรูปนโยบายการลงทุนในภูมิภาค และพบว่าภูมิภาคนี้มีขีดความสามารถในการเป็นศูนย์กลางการลงทุน เนื่องจากโอกาสและข้อได้เปรียบที่มีมาก อาทิ ด้านทุนทางสังคม ด้านแรงงานที่มีทักษะ ด้านทรัพยากรธรรมชาติที่ร่ำรวย ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ด้านสภาพภูมิอากาศที่เป็นมิตรต่อการเกษตร ด้านพลังงานที่พร้อม รวมถึงรัฐบาลอินเดียยังได้ปฏิรูปแนวนโยบายที่ส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ เพื่อเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาในภูมิภาค
โดยแนวนโยบายที่สำคัญประกอบไปด้วย การละเว้นภาษี การสนับสนุนการลดราคาที่ดินสำหรับนักลงทุนที่จะดำเนินธุรกิจในภูมิภาค การอำนวยความสะดวกในภาคการเกษตร การก่อสร้างและภาคการผลิต การสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ อีกทั้งภาคอุตสาหกรรมที่น่าสนใจต่อการลงทุนประกอบไปด้วย บริการด้านการเกษตร การอนุบาลสัตว์ การชนส่งด้วยระบบอัตโนมัติและไฟฟ้า การแปรรูปอาหาร น้ำมันและก๊าซ ผ้า รวมไปถึงการท่องเที่ยวและการบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยและการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโอกาสใหม่สำหรับการลงทุนในพื้นที่ ทั้งการตั้งโรงแรม และรีสอร์ท การจัดกิจกรรมเดินป่า ปีนภูเขา เพื่อใช้ความร่ำรวยในทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งนี้อาจมาพร้อมกับการตั้งศูนย์นันทนาการ
ข้อควรรู้บางประการเกี่ยวกับภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
แม้จะมีโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการพัฒนาที่สำคัญ แต่ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียยังมีข้อควรรู้บางประการที่ชาวไทยและนักลงทุนจากอาเซียนต้องพึงสังเกต อาทิ ด้านภัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภูมิภาคนี้มักประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะ ฝนตกหนัก และน้ำท่วมหลายพื้นที่ในฤดูมรสุม อีกทั้งยังอยู่ในพื้นที่ที่อาจประสบภัยแผ่นดินไหวอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีความละเอียดอ่อนทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการพัฒนาภายหลังการได้รับเอกราช ซึ่งภูมิภาคนี้มีแนวโน้มที่ได้รับการพัฒนาน้อยกว่าภูมิภาคอื่นของประเทศ ทำให้เกิดการรู้สึกเป็นอื่น
อีกทั้งด้วยเหตุที่ตั้งของภูมิภาคอยู่ห่างไกลและถูกแบ่งจากดินแดนหลักของประเทศ มีเพียงพื้นที่ความยาวเพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้นที่เชื่อมภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับส่วนอื่นของประเทศ ทำให้ยังคงมีขบวนการเรียกร้องเอกราชและเหตุการณ์ความไม่สงบในหลายรัฐ อาทิ อัสสัม เมฆาลายา ตรีปุระ มณีปุระ และนากาแลนด์ ซึ่งแม้ในปัจจุบันหลายเหตุการณ์รัฐบาลกลางได้เข้ามาควบคุมสถานการณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่การรับทราบข้อมูลและติดตามข่าวสารในพื้นที่ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญ
นอกจากนี้ยังมีประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศจีน บริเวณรัฐอรุณาจัลประเทศ และการอพยพย้ายถิ่นของชาวบังคลาเทศเข้ามาในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียภายหลังการแยกตัวเป็นเอกราชในปี 1971 และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมจนนำมาสู่การย้ายถิ่นฐานเข้ามามากมากขึ้น
Northeast India ภูมิภาคแห่งโอกาสของไทย
จากเดิมที่ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียถูกมองข้าม แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าภูมิภาคดังกล่าวหากถูกเติมเต็มด้วยโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาจะทำให้ภูมิภาคนี้สามารถเป็นหมุดหมายสำคัญของอินเดียในการเชื่อมโยงอินเดียกับประเทศอื่นๆ เนื่องจากมีพรมแดนที่ติดกับต่างประเทศกว่า 5,483 กิโลเมตร ซึ่งจากความสำคัญทางยุทธศาสตร์ดังกล่าว ทำให้ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเป็นประตูสู่ทั้งจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับโยบายปฏิบัติตะวันออกเพื่อการเชื่อมโยงที่ดีขึ้นกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
1. https://www.maritimegateway.com/india-myanmar-thailand-trilateral-highway-significance/
2. https://www.insightsonindia.com/2022/01/24/sansad-tv-perspective-north-east-infra-in-focus/
3. https://mdoner.gov.in/about-ministry/about-mdoner
4. https://mgronline.com/indochina/detail/9660000041770
5. https://www.asianconfluence.org/publication-details-full/fdi-inflow-in-northeast-india-policy-reforms-trends-and-prospects