อุตสาหกรรมเครื่องหนังอินเดีย ใหญ่อันดับสองของโลก
อุตสาหกรรมหนัง เครื่องหนัง และรองเท้าของอินเดีย มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน โดยมีมูลค่าการตลาดในแต่ละปีมากกว่า 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีการใช้แรงงานในภาคการผลิตประมาณ 2,500,000 คน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการรายย่อยกระจัดกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ โดยเฉพาะในรัฐทมิฬนาฑูซึ่งถือเป็นฐานการผลิตสำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะเป็นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศแล้ว ประมาณร้อยละ 50 ของสินค้าที่ทำการผลิตได้ถูกส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยในปี 2553 อินเดียส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าว (รวมทั้งรองเท้า) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีตลาดสำคัญ คือ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา อังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส และฮ่องกง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม อินเดียมีความต้องการนำเข้าสินค้าในกลุ่มดังกล่าวจากต่างประเทศด้วยเช่นกัน จากสถิติการค้าในปี 2553 อินเดียนำเข้าสินค้าหนัง เครื่องหนัง และรองเท้า คิดเป็นมูลค่าประมาณ 871 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
1. กลุ่มหนังสัตว์ (Hide and Skin) มีการนำเข้าคิดเป็นมูลค่าประมาณ 480 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 21.49 โดยนำเข้าจาก
ลำดับที่ |
ประเทศ |
มูลค่า (ล้าน USD) |
อัตราการขยายตัว (%) |
1 |
อิตาลี |
74.67 |
10.62 |
2 |
ซาอุดิอาระเบีย |
38.40 |
-10.39 |
3 |
อาร์เจนตินา |
29.87 |
47.79 |
4 |
อียิปต์ |
28.33 |
88.30 |
5 |
นิวซีแลนด์ |
21.67 |
40.31 |
15 |
ไทย |
11.31 |
100.49 |
2. กลุ่มเครื่องหนัง (Suitcase, Bag, Wallet, Apparel, Accessory, Etc.) มีการนำเข้าคิดเป็นมูลค่าประมาณ 134 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 51.35 โดยนำเข้าจาก
ลำดับที่ |
ประเทศ |
มูลค่า (ล้าน USD) |
อัตราการขยายตัว (%) |
1 |
จีน |
94.06 |
58.19 |
2 |
อิตาลี |
9.46 |
100.04 |
3 |
ฝรั่งเศส |
6.95 |
-0.98 |
4 |
ฮ่องกง |
4.80 |
51.93 |
5 |
สหรัฐอเมริกา |
4.73 |
131.54 |
15 |
ไทย |
0.56 |
152.12 |
3. กลุ่มรองเท้า (Footwear) มีการนำเข้าคิดเป็นมูลค่าประมาณ 257 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 76.83 โดยนำเข้าจาก
ลำดับที่ |
ประเทศ |
มูลค่า (ล้าน USD) |
อัตราการขยายตัว (%) |
1 |
จีน |
146.59 |
91.60 |
2 |
อิตาลี |
20.29 |
49.74 |
3 |
ฮ่องกง |
14.00 |
85.55 |
4 |
เวียดนาม |
13.77 |
127.84 |
5 |
ไทย |
7.64 |
31.62 |
โดยทั่วไปแล้วคนอินเดียนิยมใช้สินค้าที่ทำจากหนังเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย รองเท้า กระเป๋า เข็มขัด และเครื่องประดับอื่นๆ เนื่องจากเป็นวัสดุที่ให้ความรู้สึกหรูหรามีรสนิยม โดยผู้บริโภคในกลุ่มที่มีรายได้น้อยมักจะนิยมสินค้าที่ผลิตในประเทศอินเดียเองเนื่องจากมีราคาค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าอินเดียจะเป็นผู้ผลิตสินค้าเครื่องหนังรายใหญ่ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นการผลิตในรูปแบบของธุรกิจครัวเรือนและผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งไม่มีระบบบริหารจัดการที่ดีทำให้คุณภาพของสินค้าส่วนใหญ่ค่อนข้างต่ำ รวมทั้งขาดองค์ความรู้ด้านการออกแบบทำให้รูปแบบสินค้าไม่หลากหลาย ดังนั้น ผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไป และมีกำลังซื้อมากขึ้นมักจะให้ความสนใจสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้านำเข้าที่มีคุณภาพเชื่อถือได้และมีแบรนด์เป็นที่ยอมรับ ดังจะเห็นได้ว่ามีการนำเข้าสินค้าจากประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลดังกล่าว โอกาสของสินค้าเครื่องหนังและรองเท้าของไทยในตลาดอินเดียน่าจะอยู่ที่จุดแข็งในเรื่องของภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าไทยในความรู้สึกของคนอินเดียทั่วไปว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นๆ ได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะขยายตลาดในประเทศอินเดียจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพสินค้า การออกแบบ และการสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่ยอมรับ โดยวางกลุ่มเป้าหมายไปที่ผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไปซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ อาทิ นิวเดลี มุมไบ บังกาลอร์ เจนไน ไฮเดอร์ราบัด เป็นต้น
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ
มีนาคม 2555