รัฐมหาราษฏระปัดฝุ่นโครงการขนส่งทางน้ำชายฝั่งตะวันตกของมุมไบ
รัฐมหาราษฏระโดยบรรษัทเพื่อการพัฒนาถนนแห่งรัฐมหาราษฏระ (MSRDC: Maharashtra State Road Development Corporation) ได้เปิดประมูลโครงการพัฒนาการขนส่งทางน้ำชายฝั่งตะวันตกของมุมไบอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันจันทร์ที่ 12 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา หลังจากที่บรรษัทฯ ได้เริ่มดำเนินโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2548 แต่โครงการฯ ถูกระงับมาตั้งแต่ปี 2553 เนื่องจากบรรษัทฯ มีปัญหาพิพาทกับบริษัทที่เข้ามารับดำเนินโครงการฯ จึงยกเลิกสัญญาไป
สัมปทานในการดำเนินโครงการในครั้งนี้จะเปลี่ยนวิธีบริหารโครงการจากระบบ BOT (Build-Operate-Transfer Model) มาเป็นระบบ Cash-On Contract Basis ทั้งนี้ ระบบ BOT ภาคเอกชนจะเป็นผู้ดำเนินการหาแหล่งเงินทุน ออกแบบ และทำการก่อสร้าง หลังจากนั้นจะเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากโครงการที่สร้างเสร็จ เพื่อจัดเก็บรายได้ภายใต้ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัมปทาน ระหว่างดำเนินการอยู่นี้จะถือว่าเอกชนเป็นเจ้าของโครงการ เมื่อดำเนินการไปจนครบระยะเวลาที่กำหนดจะต้องถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของคืนให้รัฐ
ส่วนระบบ Cash-On Contract Basis ซึ่งบรรษัทฯ เลือกใช้ในการบริหารโครงการในครั้งนี้ รัฐบาลโดยบรรษัทฯ จะเป็นผู้ลงทุนในโครงการฯ และจ้างบริษัทเอกชนในการรับเหมาก่อสร้างท่าเทียบเรือและท่าเรือขนส่งผู้โดยสาร โดยบรรษัทฯ จะเป็นเจ้าของโครงการเองทั้งหมด ซึ่งจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาที่เคยขัดแย้งกับบริษัทเอกชนที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตได้ รวมทั้งจะทำให้ค่าโดยสารเรือถูกลงกว่าการบริหารโดยบริษัทเอกชนตามระบบ BOT ที่บรรษัทฯ ให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชนในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์นาน 30 ปีก่อนจะถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของคืนให้รัฐ
สำหรับโครงการพัฒนาการขนส่งทางน้ำชายฝั่งตะวันตกของมุมไบนี้ คาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างท่าเทียบเรือและท่าเรือขนส่งผู้โดยสารจำนวน 6 แห่ง รวม 7,500 ล้านรูปี (ประมาณ 4,875 ล้านบาท) และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีครึ่ง โดยจะจ้างบริษัทเอกชนในการรับเหมาก่อสร้าง 3บริษัท หลังจากนั้นเมื่อการก่อสร้างท่าเทียบเรือและท่าเรือขนส่งผู้โดยสารเสร็จเรียบร้อยแล้ว บรรษัทฯ จะมอบสัมปทานให้บริษัทเอกชนอีก 4 บริษัท เข้ามาดำเนินการให้บริการด้วยเรือโฮเวอร์คราฟท์ (Hovercraft) จำนวน 11 ลำ และเรือ Catamaran ซึ่งเป็นเรือที่มีลำเรือคู่ (Double-Hulled Craft) จำนวน 28 ลำ เพื่อขนส่งผู้โดยสารระหว่าง Nariman Point ในเขตมุมไบตอนใต้กับ Borivli ทางตอนเหนือ ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง จากเดิมที่เดินทางโดยรถแท็กซี่จะมีค่าใช้จ่ายเที่ยวละประมาณ 450 รูปี (ประมาณเกือบ 300 บาท) และใช้เวลาอย่างต่ำ 1 ชั่วโมง 30 นาทีแต่หากโครงการนี้เสร็จสมบูรณ์ผู้โดยสารจะสามารถเดินทางโดยทางเรือในราคาที่ถูกกว่าถึงครึ่งหนึ่ง คือ เที่ยวละ 225 รูปี (ประมาณ 150 บาท) และใช้เวลาเพียง 50 นาทีเท่านั้น
ตัวอย่างเรือ Catamaran ซึ่งเป็นเรือที่มีลำเรือคู่ (Double-Hulled Craft)
ตัวอย่างเรือโฮเวอร์คราฟท์ (Hovercraft) ที่ลอยตัวอยู่เหนือน้ำด้วยพลังลม
ที่สำคัญโครงการดังกล่าวจะทำให้ผู้ที่ต้องเดินทางไปขึ้นเครื่องบิน ณ ท่าอากาศยานนานาชาติและท่าอากาศยานภายในประเทศสะดวกสบายขึ้นรวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาได้มาก แม้ว่าในปัจจุบันเมืองมุมไบได้เปิดให้บริการ Sea Link ซึ่งเป็นสะพานทางด่วนที่ก่อสร้างในทะเลเลียบชายฝั่งมุ่งหน้าไปท่าอากาศยานแล้วซึ่งช่วยให้การเดินทางไปท่าอากาศยานสะดวกขึ้นมาก แต่โครงการพัฒนาการขนส่งทางน้ำชายฝั่งตะวันตกนี้จะยิ่งเพิ่มความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากยิ่งขึ้นอีก รวมทั้งยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนเดินทางด้วย
ท่าเทียบเรือและท่าเรือขนส่งผู้โดยสารจะมีทั้งหมด 6 จุด คือ Nariman Point, Bandra, Juhu, Versova, Marve และ Borivli ในช่วงเร่งรีบจะมีเรือออกจากท่าทุก 15 นาที และในช่วงปกติจะมีเรือออกจากท่าเรือทุก 30 นาที โดยในเบื้องต้นจะมีเส้นทางเดินเรือ 10 เส้นทาง คือ
- Nariman Point-Borivli
- Nariman Point-Juhu
- Juhu-Versova
- Nariman Point-Bandra
- Nariman Point- Versova
- Bandra-Juhu
- Versova-Borivli
- Bandra-Borivli
- Bandra-Versova
- Juhu-Borivli
สำหรับโครงการพัฒนาการขนส่งทางน้ำของมุมไบนี้ได้มีการนำเสนอแนวความคิดโดยบริษัทที่ปรึกษามาตั้งแต่เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว โดยบรรษัทเพื่อการพัฒนาถนนแห่งรัฐมหาราษฏระ (MSRDC: Maharashtra State Road Development Corporation) ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาพัฒนาเป็นโครงการพัฒนาการขนส่งทางน้ำชายฝั่งตะวันตกของมุมไบเมื่อปี 2548 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากมีข้อพิพาททางกฎหมายกับบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานในลักษณะ BOT (Build-Operate-Transfer Model) จนเมื่อปี 2551 บรรษัทฯ จึงได้ยกเลิกสัญญาสัมปทานที่มอบให้แก่บริษัท Satyagiri Shipping และได้ทำสัญญาสัมปทานใหม่กับบริษัท Pratibha Constructions ในปี 2553 แต่ก็ประสบปัญหาและต้องยกเลิกสัญญาสัมปทานอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะเปิดประมูลโครงการฯ อีกครั้งโดยเปลี่ยนระบบบริหารจัดการโครงการเป็น Cash-On Basis เมื่อวันจันทร์ที่ 12 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา
หากโครงการพัฒนาการขนส่งทางน้ำชายฝั่งตะวันตกของมุมไบเสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นปี 2557 ก็มีความเป็นไปได้ว่าศูนย์กลางธุรกิจของเมืองมุมไบอาจจะค่อยๆย้ายจากมุมไบใต้ (South Mumbai) ในย่าน Nariman Point ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจในปัจจุบันไปยังศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ในเขต Bandra เร็วขึ้น เนื่องจากโครงการพัฒนาการขนส่งทางน้ำชายฝั่งตะวันตกของมุมไบ จะช่วยให้ประชาชนสามารถเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
ปัจจุบันบริษัทเอกชนรายใหญ่หลายบริษัทได้เริ่มทะยอยย้ายสำนักงานจากย่าน Nariman Point ในมุมไบใต้ไปอยู่ที่ศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ BKC (Bandra Kurla Complex) ในเขต Bandra มากขึ้น รวมทั้งสถานกงสุลใหญ่อเมริกันประจำเมืองมุมไบก็ได้ย้ายสำนักงานไปอยู่ที่ BKC เรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา แม้ว่าโครงสร้างพื้นฐานของศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่นี้จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจากสำนักงานในย่าน Nariman Point มีอัตราค่าเช่าสูงเกินจริง ในขณะที่อาคารสำนักงานต่างๆก็เก่าและมีสภาพทรุดโทรมเป็นส่วนใหญ่ ทำให้อัตราค่าเช่าสำนักงานในย่านนี้ในปี 2554 ลดลงร้อยละ 8.3 จากตารางฟุตละ 300 รูปีต่อเดือน (ธันวาคม 2553) เหลือตารางฟุตละ 275 รูปีต่อเดือน (ธันวาคม 2554) ในขณะที่อัตราค่าเช่าสำนักงานใน BKC ในปี 2554 มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 จากตารางฟุตละ 260 รูปีต่อเดือน (ธันวาคม 2553) เพิ่มขึ้นเป็นตารางฟุตละ 275 รูปีต่อเดือน (ธันวาคม 2554) เท่ากับในย่าน Nariman Point ซึ่งเคยเป็นย่านที่มีอัตราค่าเช่าสำนักงานสูงที่สุดในประเทศอินเดีย
ย่านที่ค่าเช่าสำนักงานแพงที่สุดในประเทศอินเดียปี 2554 |
|||||
อันดับ |
เมือง |
ย่าน |
อัตราค่าเช่า (รูปี/ตร.ฟุต/เดือน) |
%เปลี่ยนแปลง |
|
ธันวาคม ‘54 |
ธันวาคม ‘53 |
||||
1 |
Mumbai |
Bandra-Kurla |
275 |
260 |
5.7 |
2 |
Mumbai |
Nariman Point |
275 |
300 |
-8.3 |
3 |
Mumbai |
Worli |
260 |
275 |
-5.5 |
4 |
NCR |
CBD-Prime |
257 |
250 |
2.9 |
5 |
Mumbai |
Lower Parel |
170 |
185 |
-8.1 |
6 |
NCR |
CBD-Others |
162 |
161 |
0.5 |
7 |
NCR |
South Delhi-Micromarkets |
150 |
151 |
-0.6 |
8 |
NCR |
South Delhi-Prime |
148 |
144 |
2.7 |
9 |
Kolkata |
Park Street/Camac Street |
122 |
103 |
18.4 |
10 |
Mumbai |
Mumbai |
115 |
120 |
-4.2 |
ที่มา: Cushman & Wakefield Research, 2012
หมายเหตุ: 1. NCR = National Capital Region (นิวเดลีและปริมณฑล)
2. CBD = Central Business District
การเกิดใหม่ของโครงการพัฒนาการขนส่งทางน้ำชายฝั่งตะวันตกของมุมไบจึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามองว่าโครงการฯ จะบรรลุตามเป้าหมายหรือไม่และจะส่งผลต่อการพัฒนาเมืองมุมไบต่อไปอย่างไรในอนาคต
-----------------------------------------------------------------------
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ
22 มีนาคม 2555