DEFEXPO 2012 พ่อค้าอาวุธทั่วโลกรุมจีบอินเดีย
จบไปแล้วกับงาน Defexpo India 2012 หรือชื่อเต็มว่า The Seventh International Exhibition on Land, Naval and Internal Security Systems ที่อินเดียคุยว่าเป็นงานแสดงสินค้าด้านความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย บริษัทค้าอาวุธกว่า 567 แห่งจาก 32 ประเทศ มารวมตัวกันที่ลานแสดงสินค้า Pragati Maidam กรุงนิวเดลี ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม-1 เมษายน 2555 เรียกว่างานนี้ต้องทึ่งกับความพยายามของพ่อค้าอาวุธประเทศทั้งหลายที่เดินเรียงหน้าทุ่มทุนสร้างบูธอลังการ หวังว่าจะได้ใจอินเดีย รวมทั้งคณะกลาโหมจากอีกกว่า 60 ประเทศ ที่บินมาร่วมชมแบบจำลองอาวุธยุทโธปกรณ์หลายรุ่นหลายแบบ ทุกระดับราคา ให้จับจองกันไม่ว่ากระเป๋าจะหนักหรือเบา
ทุกบริษัทต่างปรารถนาที่จะได้เค้กชิ้นโตจากอินเดียกลับบ้าน เพราะเมื่อเห็นมูลค่าของงบกลาโหมอินเดียแล้วก็ต้องอึ้งไปตามๆ กัน ทั้งนี้ สถาบันวิจัยชื่อดังของอินเดีย Institute for Defence Studies and Analysis (IDSA) ให้ข้อมูลว่า ระหว่างปี ค.ศ. 1991-2011 การซื้ออาวุธของอินเดียเติบโตโดยเฉลี่ย 19 % ต่อปี และหากอินเดียยังคงเพิ่มเงินซื้ออาวุธในอัตราเฉลี่ย 15% ต่อปี คาดได้ว่า โดยรวมแล้วอินเดียจะใช้เงินในภารกิจนี้สูงถึง 235 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปีนี้ถึงปี ค.ศ. 2020-2021
คลังอาวุธของอินเดียที่ค่อนข้างล้าสมัย กอปรกับภัยคุกคาม การแข่งขันทางแสนยานุภาพในภูมิภาค อีกทั้งความต้องการยกฐานะเป็นมหาอำนาจเต็มรูปแบบ เป็นเหตุให้อินเดียเปลี่ยนมาเป็นนักช้อปอาวุธตัวยง อินเดียต้องการจะโล้ะสต็อกสมัยสงครามเย็นทิ้งทั้งหมด ปัจจุบัน อินเดียไม่ต้องฝักใฝ่ซื้ออาวุธจากค่ายโซเวียตอย่างเดียวแล้ว แต่ได้เปิดตัวจับจ่ายในตลาดค้าอาวุธเสรี
ในนาทีนี้ที่เศรษฐกิจโลกตะวันตกกำลังซบเซา รัฐบาลประเทศอันเจริญแล้วทั้งหลายก็ต่างหมายมั่นปั้นมือจับอินเดียเซ็นสัญญาซื้อขายอาวุธ แล้วกลับไปประกาศผลงานว่าสัญญาดังกล่าวจะสามารถสร้างงานและรายได้ให้กับประชากรในประเทศของตน
ประเทศเจ้าบุญทุ่มที่มีพาวิลเลี่ยนประจำชาติใหญ่ที่สุดคือ....ไม่ใช่สหรัฐอเมริกา แต่เป็นอิสราเอล ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและอินเดียอันใกล้ชิด ที่ได้ก้าวข้ามการเป็นผู้ขาย-ผู้ซื้อ สู่ระดับความเป็นหุ้นส่วนร่วมค้นคว้าวิจัยและผลิตอาวุธสงคราม ทำให้อเมริกาต้องรีบเปลี่ยนแผน เร่งจีบอินเดียขอเป็นหุ้นส่วนทำ R&D เช่นกัน ทั้งนี้ บริษัทด้านความมั่นคงสหรัฐทุกบริษัท ไม่ว่าจะเป็น Boeing, Lockheed Martin, Northrop Grumman, Raytheon ฯลฯ ต่างส่งผู้บริหารระดับสูงมาประจำบูธที่กรุงนิวเดลี ยุโรปก็ไม่น้อยหน้า ส่งตัวแทนชั้นนำเช่น BAE (อังกฤษ) SAAB (สวีเดน) Thales (ฝรั่งเศส) และ Airbus เข้าร่วมประกวด อย่างไรก็ตาม พ่อค้าตะวันตกอาจยังต้องตามหลังรัสเซีย ซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับอินเดียผลิตขีปนาวุธ BrahMos อันเป็นที่เชิดหน้าชูตาของอุตสาหกรรมทหารท้องถิ่น และเป็นดาราในขบวนแห่พาเรดวันสาธารณรัฐอินเดียทุกปี
ไทยเองก็มีคณะระดับสูงจากกองทัพไทยเข้าร่วมงานเช่นกัน ซึ่งฝ่ายอินเดียก็ให้การต้อนรับอย่างดี จากการสำรวจตลาด เครื่องมือด้านการป้องกันภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ ซึ่งน่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์ภายในของบ้านเรานั้น มีเครื่องตรวจจับและแทรกแซงสัญญานโทรศัพท์มือถือ (Cellular Detection and Jammer) ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้ควบคุมความปลอดภัยในเรือนจำและสถานกักกัน นอกจากนี้ มีเครื่องแทรกแซงและทำลายคลื่นในระบบของระเบิดแสวงหาคลื่น (IED Jammer) และรถลาดตระเวนแบบไร้คนขับ (Unmanned Ground Vehicle) ทั้งหมดนี้ผลิตโดยบริษัทในประเทศอิสราเอล (เว็บไซต์นี้ขอสงวนสิทธิไม่โฆษณา เพียงแต่รายงานข้อมูลเท่านั้น หากท่านต้องการทราบชื่อของบริษัทโปรดกรุณาอีเมล์ติดต่อผู้จัดการ thaiindia.net ได้นะคะ)
แจ่มใส เมนะเศวต
รายงานจากกรุงนิวเดลี
4 เมษายน 2555