บทวิเคราะห์ : อุตสาหกรรมแร่ธาตุของอินเดีย
อุตสาหกรรมแร่ธาตุนับเป็นสาขาหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอินเดีย กล่าวกันว่ามีความสำคัญเปรียบประดุจกระดูกสันหลังของการเติบโตทางเศรษฐกิจของทุกชาติ
อินเดียนับเป็นหนึ่งในจำนวนน้อยประเทศในโลกที่อุดมไปด้วยทรัพยากรแร่ธาตุต่างๆ ทั้งแร่โลหะและที่ไม่ใช่โลหะ โดยจำนวนมากยังไม่ได้ถูกสำรวจและขุดเจาะมาใช้ มีการประเมินว่าอินเดียมีแร่ธาตุโลหะชนิดต่างๆ สำรองอยู่ถึง 82,000 ล้านตัน อาทิ แร่เหล็ก บอกไซด์ โครเมียม แมงกานิส และไทเทเนียม เป็นต้น
นับตั้งแต่ช่วงได้รับเอกราชมา การผลิตแร่ธาตุของอินเดียได้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านปริมาณและมูลค่า โดยสามารถผลิตได้ถึง 87 ชนิด แยกได้เป็นจำพวกเชื้อเพลิง 4 ชนิด แร่โลหะ 10 ชนิด แร่ที่ไม่ใช่โลหะ 47 ชนิด แร่อะตอม 3 ชนิด และแร่ธาตุย่อยๆ อีก 23 ชนิด อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของสาขาอุตสาหกรรมแร่ธาตุของอินเดียยังนับว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศชั้นนำในด้านนี้ของโลกรวมทั้งศักยภาพในด้านนี้ของอินเดียเอง โดยสัดส่วนของสาขานี้คิดเป็นเพียงร้อยละ 2 ของ GDP เท่านั้น ในขณะที่ออสเตรเลียและแอฟริกาใต้คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 8 และร้อยละ 9 ของ GDP ตามลำดับ
ปัจจุบันแม้อุตสาหกรรมแร่ธาตุของอินเดียจะให้ผลตอบแทนที่ดีต่อผู้ประกอบการ แต่ยังมีปัจจัยที่ทำให้การเติบโตยังไม่รวดเร็วเท่าที่ควร อาทิ
- ขาดการสำรวจแหล่งแร่ธาตุอย่างมีประสิทธิภาพ (professional exploration) ซึ่งกระทรวงแร่ธาตุของอินเดียจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงระบบการสำรวจทางธรณีวิทยา เพื่อให้การสำรวจแหล่งแร่ธาตุสามารถทำได้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้บริษัทเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการในสาขานี้ให้มากยิ่งขึ้นด้วย
- เทคโนโลยีและอุปกรณ์ในการทำเหมืองแร่ยังล้าสมัย เนื่องจากขาดการเข้าร่วมลงทุนโดยบริษัททำเหมืองแร่ชั้นนำของโลก นักลงทุนต่างชาติยังเห็นว่าอุตสาหกรรมแร่ธาตุของอินเดียยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นและไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การที่อินเดียได้เริ่มให้ความสำคัญกับการทำเหมืองแร่ใต้ดินมากยิ่งขึ้น ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและอุปกรณ์ที่ทันสมัยซึ่งอินเดียยังขาดแคลน ปัจจุบันอุปกรณ์ต่างๆ ได้นำเข้าจากเยอรมนี ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส และได้เริ่มนำเข้าจากจีนบ้างแล้ว
- ขาดการจัดหาที่ดินเพื่อการทำเหมืองแร่ที่เพียงพอ มีการประเมินกันว่า ประมาณร้อยละ 80 ของสินแร่ในอินเดียจะอยู่ตามเขตป่า ดินแดนชนกลุ่มน้อย หรือในเขตที่มีความอ่อนไหวอื่นๆ รวมทั้งรัฐบาลยังได้กำหนดให้พื้นที่จำนวนมากที่มีแหล่งแร่สำรองอยู่มากเป็นเขตห้ามการทำเหมืองแร่ จากข้อจำกัดดังกล่าว ขณะนี้ได้มีการเร่งรัดให้รัฐบาลออกนโยบายอุตสาหกรรมแร่ธาตุที่เป็นมิตรต่อการจัดหาที่ดินเพิ่มขึ้นแล้ว
- นโยบายแร่ธาตุแห่งชาติ (National Mineral Policy) ซึ่งเป็นกรอบปฏิบัติหลักของอุตสาหกรรมแร่ธาตุของอินเดียยังล้าสมัย แต่ขณะนี้นโยบายดังกล่าวกำลังได้รับการทบทวน ซึ่งเมื่อผ่านรัฐสภาแล้ว จะเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในสาขานี้ได้หลากหลายยิ่งขึ้น และการอนุมัติสัมปทานทำเหมืองจะทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น รวมทั้งจะทำหน้าที่เป็นระบบบริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (single window system) เพื่อให้บริษัทเอกชนสามารถทำเหมืองแร่ในรัฐหรือภูมิภาคใดได้โดยเฉพาะด้วย
กระทรวงแร่ธาตุเป็นผู้กำหนดกฎระเบียบและควบคุมการทำเหมืองแร่ในอินเดีย ร่วมกับรัฐต่างๆ ของอินเดีย โดยมี Mines and Minerals (Development and Regulation) Act ปี ค.ศ. 1957 เป็นกฎหมายแม่บท ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่ได้มีการปรับปรุงมานานแล้ว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียได้ ริเริ่มนโยบายเปิดเสรีและผ่อนคลายแนวปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมให้บริษัทเอกชนเข้ามาลงทุนในสาขานี้เพิ่มขึ้น ดังนี้
- อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนได้ร้อยละ 100 ในการสำรวจและทำเหมืองแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งรวมถึง เพชรและอัญมณีที่มีค่าอื่นๆ ด้วย
- แม้รัฐบาลอินเดียไม่อนุญาติให้บริษัทเอกชนอินเดียหรือนักลงทุนต่างชาติทำเหมืองถ่านหินเพื่อการค้า ยกเว้นการทำเหมืองถ่านหินเพื่อนำผลผลิตไปใช้ในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า โรงงานซีเมนต์ โรงงานเหล็กและเหล็กกล้าของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะเท่านั้น แต่รัฐบาลได้เพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการประมูลสัมปทานเหมืองถ่านหินของเอกชนเพื่อการดังกล่าว รวมทั้งได้ตั้ง Coal Regulatory Authority เพื่อกำกับการทำเหมืองถ่านหินให้เป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องด้วย
อุตสาหกรรมแร่ธาตุของอินเดียเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาและเป็นสาขาที่นักลงทุนให้ความสนใจมากขึ้น โดยในปี ค.ศ. 2010-2011 สัดส่วนของอุตสาหกรรมแร่ธาตุคิดเป็นร้อยละ 2.5 ของ GDP มีมูลค่าประมาณ 39,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตร้อยละ 18.2 และคาดว่าสาขานี้ยังจะเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยมีถ่านหินเป็นสินแร่หลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมแร่ธาตุ เนื่องจากอุปสงค์ของถ่านหินเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้ายังมีสูงกว่าอุปทานมาก ซึ่งรัฐบาลอินเดียได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้อีกถึง 100 GW อันจำเป็นที่จะต้องใช้ถ่านหินอย่างมหาศาล ปัจจุบันอัตราการใช้เหล็กและอลูมิเนียมต่อหัวของคนอินเดียยังต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของโลกอยู่มาก และโดยที่อินเดียยังมีแหล่งสำรองแร่ธาตุอยู่อีกมาก จึงทำให้อุตสาหกรรมแร่ธาตุของอินเดียยังมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นได้อีกมาก
เป็นที่น่าสังเกตว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมแร่ธาตุของอินเดียจะเติบโตควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมการผลิตของอินเดียที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น อุตสาหกรรมแร่ธาตุจึงยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมาก จึงนับเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปแสวงหาลู่ทางในการลงทุนในสาขานี้ อาทิ การลงทุนสำรวจและขุดเจาะแร่ธาตุประเภทที่รัฐบาลอินเดียอนุญาตให้ต่างชาติลงทุนได้ร้อยละ 100 หรือการลงทุนผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือในการทำเหมืองแร่ที่อินเดียยังขาดแคลนอยู่อีกมาก ได้มีการประเมินกันว่า ในช่วงระหว่างปี ค.ศ 2007 - 2012 บริษัท Coal India Limited ซึ่งเป็นบริษัททำเหมืองถ่านหินของรัฐบาลอินเดียเพียงบริษัทเดียวก็มีแผนการที่จะใช้งบนับหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในการจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ในการทำเหมืองแร่ถ่านหินแล้ว
ธีระพงษ์ วนิชชานนท์
รายงานจากเมืองมุมไบ
23 พ.ค. 55