ไขปัญหาการลงทุน : จะเริ่มลงทุนในอินเดียอย่างไร
บริษัทต่างชาติจะเริ่มต้นธุรกิจในอินเดียได้อย่างไร คำถามนี้ Invest India มีคำตอบ
รูปแบบการลงทุนหรือดำเนินธุรกิจในอินเดียของบริษัทต่างชาติสามารถทำได้สองทาง คือ
1) ในรูปแบบของบริษัทที่จดทะเบียนเป็นบริษัทอินเดีย
2) ในรูปแบบของบริษัทต่างชาติ
สำหรับการจดทะเบียนเป็นบริษัทอินเดีย บริษัทต่างชาติสามารถเริ่มกิจการได้โดยการรวมบริษัทภายใต้กฎหมาย Companies Act ปี 1956 ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบบริษัทสาขา หรือร่วมทุน (Joint Venture) กับคู่ธุรกิจอินเดีย
สัดส่วนของหุ้นในบริษัทสาขาของบริษัทแม่สามารถสูงได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับเพดานกำหนดหุ้นส่วนในแต่ละธุรกิจตามที่ระบุไว้ในนโยบายการลงทุนตรงจากต่างชาติ (FDI Policy) สามารถหาข้อมูลรายละเอียดของนโยบายดังกล่าว รวมถึงเพดานกำหนดสัดส่วนหุ้นต่างชาติและระเบียบ ได้จากกรมนโยบายและส่งเสริมการลงทุน (DIPP) กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม รัฐบาลอินเดีย (http://www.dipp.nic.in) หรือในคอลัมน์การจัดตั้งธุรกิจในอินเดีย บนซ้ายมือของท่านใน Thaiindia.net
การดำเนินธุรกิจเป็นบริษัทต่างชาติสามารถดำเนินการได้สามรูปแบบ คือ
1) สำนักงานประสานงาน (Liaison office)
2) สำนักงานโครงการ (Project office)
3) สำนักงานสาขา (Branch office)
สำนักงานสามรูปแบบดังกล่าวจะได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการได้หลังจากลงทะเบียนกับสำนักลงทะเบียนบริษัท (Registrar of Companies – ROC) ภายใน 30 วัน หลังจากตั้งพื้นที่สำหรับทำธุรกิจในอินเดียแล้ว
สำนักงานประสานงาน (Liaison office) ทำหน้าที่เป็นช่องทางสื่อสารระหว่างหน่วยหลักของธุรกิจและหน่วยต่างๆ ในอินเดีย หน่วยงานอินเดียที่ให้การอนุญาตเปิดสำนักงานประสานงานคือ ธนาคารกลางอินเดีย (Reserve Bank of India – RBI) ซึ่งแรกเริ่มจะให้อนุญาต 1 ปี และสามารถต่ออายุใบอนุญาตได้
กิจกรรมที่สำนักงานประสานงานได้รับอนุญาตให้ทำในอินเดียคือ
1) เป็นตัวแทนในอินเดียของบริษัทแม่หรือกลุ่มบริษัท
2) ส่งเสริมการส่งออก/นำเข้า จาก/ไปยัง อินเดีย
3) ส่งเสริมความร่วมมือเฉพาะด้านและการเงินระหว่างบริษัทแม่/กลุ่มบริษัท และบริษัทอื่นๆ ในอินเดีย
4) ทำหน้าที่เป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างบริษัทแม่และบริษัทอื่นๆ ในอินเดีย
อย่างไรก็ดี ถ้าเป็นสาขาบริษัทประกันต่างชาติ จะตั้งสำนักงานประสานงานในอินเดียได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจาก Insurance Regulatory and Development Authority (IRDA) เสียก่อน เช่นเดียวกับกรณีของธนาคารต่างชาติที่จะต้องขออนุมัติจาก Department of Banking Operations and Development (DBOD) ของธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ก่อนตั้งสำนักงานประสานงานในอินเดีย
สำนักงานโครงการ (Project Office) บริษัทต่างชาติที่ต้องการจะดำเนินโครงการเฉพาะด้านในอินเดียสามารถก่อตั้งสำนักงานโครงการได้ ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) อนุญาตให้บริษัทต่างชาติก่อตั้งสำนักงานโครงการในอินเดียได้ทันทีโดยไม่ต้องขออนุญาต โดยจะต้องมีสัญญากับบริษัทอินเดียให้ทำโครงการในอินเดียและโครงการจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
1) ได้รับเงินทุนโดยตรงจากการได้รับเงินภายในจากต่างประเทศ หรือ
2) ได้รับเงินทุนจากองค์กรด้านการเงินนานาชาติทวิภาคีและพหุภาคี หรือ
3) เงินทุนที่ได้รับมาดำเนินโครงการได้รับอนุญาตแล้วจากหน่วยงานที่เหมาะสม หรือ
4) บริษัทหรือหน่วยงานอินเดียที่ให้สัมปทานสัญญาทำโครงการได้รับกองทุนเงินกู้จากสถาบันการเงินสาธารณะหรือธนาคารในอินเดีย
แต่หากการเปิดสำนักงานโครงการไม่เข้าข่ายตามที่กำหนดข้างต้น บริษัทต่างชาติจะต้องขออนุมัติเปิดสำนักงานโครงการก่อนจากธนาคารกลางอินเดีย (RBI)
สำนักงานสาขา (Branch office) บริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจการผลิตและการค้ากับต่างประเทศ จะได้รับอนุญาตให้เปิดสำนักงานสาขาในอินเดียได้ ซึ่งต้องขอรับอนุมัติจากธนาคารกลางอินเดีย (RBI) สำนักงานสาขาจะได้รับอนุญาตให้เป็นตัวแทนบริษัทแม่หรือกลุ่มบริษัทและให้ดำเนินธุรกิจในอินเดียดังนี้
1) ส่งออก/นำเข้า สินค้า
2) จัดบริการด้านวิชาชีพและการให้คำปรึกษา
3) ดำเนินงานค้นคว้าวิจัยในสาขาที่บริษัทแม่ดำเนินการอยู่
4) ส่งเสริมความร่วมมือเฉพาะด้านและการเงินระหว่างบริษัทอินเดียอื่นๆ และบริษัทแม่หรือกลุ่มบริษัทที่อยู่ในต่างประเทศ
5) เป็นผู้แทนบริษัทแม่ในอินเดียและทำหน้าที่เป็นตัวแทนซื้อ/ขายในอินเดีย
6) จัดบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและพัฒนาซอฟท์แวร์ในอินเดีย
7) จัดความช่วยเหลือเฉพาะด้านแก่สินค้าที่ซื้อ/ได้รับจากบริษัทแม่หรือกลุ่มบริษัท
สำนักงานสาขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการค้า/ผลิตเพื่อการค้าปลีก (retail trading & manufacturing) และธุรกิจการผลิตในอินเดีย ไม่ว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม
วิธีการจดทะเบียนและรวมธุรกิจเป็นบริษัทสัญชาติอินเดีย
ผู้ประกอบการจะต้องยื่นแบบฟอร์มแก่สำนักลงทะเบียนบริษัท (Registrar of Companies – ROC) เมื่อบริษัทได้รับการลงทะเบียนหรืออนุมัติให้รวมธุรกิจเป็นบริษัทอินเดียแล้ว บริษัทจะอยู่ใต้กำกับของกฎและระเบียบทางการอินเดียที่มีต่อบริษัทในประเทศ การลงทุนตรงจากต่างชาติ (FDI) หรือจากชาวอินเดียที่ไม่ได้เป็นผู้พำนักถาวร (Non-resident Indian) จะได้รับข้อยกเว้นทางภาษีหากลงทุน 100 เปอร์เซ็นต์ในหน่วยธุรกิจอินเดียที่เป็น 1) หน่วยธุรกิจที่ทำเฉพาะการส่งออก (100 percent export-oriented units) 2) อุทยานเทคโนโลยีอิเล็คโทรนิคส์ฮาร์ดแวร์ (Electronics Hardware Technology Parks – EHTPs) 3) อุทยานเทคโนโลยีซอฟท์แวร์ (Software Technology Parks – STPs) และ 4) เขตเศรษฐกิจพิเศษ
ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถศึกษาได้จากกรมกิจการบริษัทภายใต้กระทรวงการคลังอินเดีย http://dca.nic.in
ตอนต่อไปเราจะมาดูกันว่า การลงทุนในอินเดียจะต้องขออนุญาตอะไรบ้าง และคนไทยเชื้อสายอินเดียจะได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้างจากการลงทุนในอินเดียครับ
คณิน บุญญะโสภัต
รายงานจากกรุงนิวเดลี
5 มิ.ย. 55