การประมงและอุตสาหกรรมอาหารทะเลของอินเดีย
ภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยและการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ประเทศอินเดียมีความได้เปรียบในแง่ที่ตั้งภูมิศาสตร์ ทำให้การผลิตด้านการประมงและอุตสาหกรรมอาหารทะเลมีศักยภาพ โดยที่อินเดียมีน่านน้ำชายฝั่งทะเลที่มีความยาว 8,118 กิโลเมตร รอบประเทศ ทั้ง 3 ด้าน คือ ทางตะวันตก (ทะเลอาระเบียน) ทางตะวันออก (อ่าวเบงกอล) รวมหมู่เกาะนิโคบาร์ (ใกล้เมียนมาร์ และฝั่งทะเลของไทย) และทางตอนใต้ (มหาสมุทรอินเดีย)
ภายหลังอินเดียได้เอกราชจากอังกฤษ การประมงของอินเดียเริ่มเป็นสาขาที่มีความสำคัญเช่นเดียวกับภาคเกษตรอื่นๆ โดยเป็นสาขาด้านประมงมีอัตราเติบโตถึง 11 เท่า ภายในเวลา 6 ทศวรรษ กล่าวคือ ในปี ค.ศ. 1950 – 1951 ผลิตภัณฑ์ด้านประมงมีจำนวนเพียง 0.75 ล้านตัน แต่ในปัจจุบัน ( ปี 2011 – 2012) มีจำนวนมากถึง 8.3 ล้านตัน
อัตราการเติบโตของภาคประมงอินเดียโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 4% ยาวนานติดต่อกันมาหลายปี มีผลทำให้อินเดียมีอุตสาหกรรมการประมงใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศจีนเท่านั้น อาหารทะเลเป็นส่วนหนึ่งการตอบสนองความต้องการในการบริโภคของประชาชนภายในประเทศ ทั้งนี้ มีประชากร 14.5 ล้านคนของอินเดียมี ส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการประมงโดยรวม ในปี 2010 - 2011 อุตสาหกรรมการประมงสร้างรายได้ให้อินเดียเป็นมูลค่า 129 พันล้านรูปี ดังนั้น อุตสาหกรรมในสาขานี้จัดเป็นส่วนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ
การประมงของอินเดีย หมายรวมถึงการจับสัตว์น้ำทางทะเล และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลและน้ำจืด (aquaculture) ด้วย แม้ว่าตั้งแต่สมัยที่อินเดียได้รับเอกราชเป็นต้นมา จำนวนการจับสัตว์น้ำทางทะลจะมีอัตราเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาเป็นจำนวน 4 ล้านตันในปัจจุบัน แต่สัดส่วนนี้ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้ถูกบดบังด้วยอัตราการเติบโตเป็นอย่างมากของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กล่าวคือ จาก 0.37 ล้านตันในปีค.ศ. 1980 ขึ้นมาเป็น 4.3 ล้านตันในปัจจุบัน
การส่งเสริมภาคการประมงของอินเดีย
การเติบโตของอุตสาหกรรมประมงของอินเดียทั้งสัตวน้ำทะเล และน้ำจืดจำเป็นต้องพึ่งพาชุมชนชาวประมงที่เข้มแข็ง และการบริหารจัดการอุตสาหกรรมประมงของอินเดียในระยะยาวให้มั่นคงยั่งยืน หน่วยงานด้านประมงของอินเดียจึงได้ออกมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ของภาคการประมงของประเทศให้ทันสมัย การปรับใช้เทคนิคการทำประมง การต่อเรือประมงที่มีอุปกรณ์จับสัตว์น้ำที่ทันสมัย เช่น เรือที่มีพลังขับเคลื่อนแรงมากขึ้น การติดติดตั้งระบบการติดตามฝูงปลา การสร้างระบบห้องเย็นในการเก็บรักษาปลา การบริหารจัดการปรับลดเวลาการทำงานของลูกเรือในมีสภาพทำงานที่ตรากตรำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการจับสัตว์น้ำให้ลดลง นอกจากนั้น ภาครัฐต้องมีมาตรการอื่นๆ รองรับ เช่น การจำกัดขนาดของเรือ การออกระเบียบจำกัดขนาด และประเภทของอวนต่างๆ การห้ามจับสัตว์น้ำในช่วงฤดูการวางไข่ การห้ามใช้อวนที่ทำลายสัตว์น้ำ การสร้างแนวปะการังเทียมมากขึ้น การจำกัดเขตพื้นที่การจับสัตว์น้ำบางประเภทในเชิงพาณิชย์ การวางระเบียบปฏิบัติต่างๆ ด้านการทำประมงต่างๆ เหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการทำประมงแบบยั่งยืน ในขณะที่ประมงน้ำจืดในแหล่งน้ำธรรมชาติ และเขื่อนก็สามารถพัฒนายกระดับการผลิตได้อีกมากขึ้นเช่นกัน
ในช่วงที่ผ่านมาอินเดียได้สะสมประสบการณ์การการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเล และน้ำจืดมาช้านาน ทำให้ปัจจุบันมีความสามารถในการบริหารจัดการระบบในการเพาะสัตว์น้ำที่มีความหลากหลายของสายพันธุ์ โดยเฉพาะปลาน้ำจืด 90% มาจากการเลี้ยง ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการบริโภคภายใน ปท.ได้อย่างเพียงพอ ในขณะที่การเลี้ยงกุ้งทะเล (เน้นส่งเสริมกุ้งกุลาดำ black tiger prawn) ตามชายฝั่งมีสัดส่วนเพียง 5 % ซึ่งเป็oการสร้างรายได้ให้รัฐ ด้วยการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ นอกจากนั้นในเขตอากาศหนาวเย็น ทางการอินเดียยังประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการเลี้ยงปลาเนื้อต่างๆ ที่เป็นที่นิยมของตลาด เช่น ปลา trout โดยสรุปแล้วปัจจุบันถือได้ว่าอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นสาขาดาวรุ่ง (sunrise sector) ของอินเดีย ที่สามารถเพิ่มผลผลิตได้เพียงพอต่ออุปสงค์ของตลาด
ข้อมูลโดยภาพรวมของอุตสาหกรรมการประมงของอินเดีย ปรากฏตามตารางข้างล่างนี้
- อินเดียรั้งเป็นลำดับ 2 ของโลก ของผลผลิตอาหารทะเล โดยคิดเป็นสัดส่วน 5.54% - ในระหว่างปี ค.ศ. 2010 - 2011 การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของอินเดียมีจำนวน 857,013 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2.857 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ - ผลผลิตประมงทั้งหมด 8.44 ล้านตัน จำแนกเป็น ประมงทางทะเล 3.22 ล้านตัน และประมงน้ำจืด 5.22 ล้านตัน - สาขาการประมงมีสัดส่วนเท่ากับ 5.41% ของ GDP ของภาคเกษตร ป่าไม้ และประมง - ประชากร 14.49 ล้านคนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมภาคประมง - เรือประมงมีจำนวน 2.44 แสนลำ ซึ่ง 44% เป็นเรือประมงพื้นบ้าน และ 31.46% เป็นเรือประมงติดเครื่องยนต์ |
ทรัพยากรทางทะเลและสถิติด้านประมง - ชายฝั่งทะเล (กม.) 8,118 - เขต ศก.จำเพาะ (ล้าน ตร.กม.) 2.02 - เขตไหล่ทวีป (‘000 ตร.กม.) 530 - จุดขนถ่ายปลาบนบก (จำนวน) 1,376 ทรัพยากรทางทะเลและสถิติด้านประมง (ต่อ) - ท่าเรือประมง (จำนวน) 14 - หมู่บ้านชาวประมง (จำนวน) 3,332 - ครอบครัวชาวประมง (จำนวน) 764,868 - ประชากรในภาคการประมง (จำนวน) 3,574,704
|
ข้อมูลทรัพยากรทางน้ำจืด - ระยะทางของแม่น้ำ และคลองรวมกันทั่วประเทศ (กม.) 195,210 - เขื่อน อ่างเก็บน้ำ (ต่อแสนเฮกตาร์) 31.5 - บ่อ และแทงก์เลี้ยงปลา (ต่อแสนเฮกตาร์) 24.14 - ที่ลุ่มน้ำท่วมถึง (ต่อแสนเฮกตาร์) 8 – 12 - แหล่งน้ำกร่อย (ต่อแสนเฮกตาร์) 12.40 - พื้นที่น้ำเค็ม (ต่อแสนเฮกตาร์) 12.40
|
ข้อมูลและข้อสังเกตเพิ่มเติม
ก) อุตสาหกรรมการประมงของอินเดียยังสามารถพัฒนาได้อีกมาก เนื่องจากมีน่านน้ำทางทะเลกว้างใหญ่ไพศาล และการประมงส่วนใหญ่ยังใช้เรือประมงพื้นบ้านชายฝั่งเป็นหลัก สัตว์ทะเลที่ส่งออกไปต่างประเทศ ได้แก่ ทูน่า ปู กุ้ง หอย อย่างไรก็ดี ปัญหาการเก็บถนอมรักษาอาหารทะเล ชาวประมงพื้นบ้านจะใช้น้ำแข็งเป็นหลัก เนื่องจากอินเดียมีปัญหาการขาดแคลนห้องเย็น ที่แม้ต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน แต่ติดขัดเรื่องการขาดแคลนกระแสไฟฟ้า
ข) ราคาสัตว์น้ำตามแผงตลาดอาหารทะเลทั่วไป จะมีราคาถูกกว่า ปทท.มาก ปลาต่างๆ มีขนาดใหญ่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของทรัพยากรทางทะเลของอินเดีย อย่างไรก็ดี อาหารทะเลไม่ได้เป็นที่นิยมของชาวอินเดียมากนัก เนื่องจาก 60% ของประชากรอินเดียทานอาหารมังสวิรัติ และแม้อาหารทะเลจะราคาถูกในสายตาต่างชาติ แต่ประชาชนทั่วไปของอินเดียที่มีรายได้น้อยก็ไม่สามารถรับประทานอาหารทะเล
ค) บ.ซีพี ของไทย ได้เข้ามาลงทุนเลี้ยงกุ้งในรัฐชายฝั่ง ต.ต.ของอินเดียเป็นส่วนใหญ่ คือรัฐทมิฬนาฑู อานธรประเทศ และเริ่มขยายไปในรัฐชายฝั่งตะวันตกในรัฐเกรละ มหาราษฏระ คุชราต ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี การเลี้ยงกุ้งของ ซีพี ทำแบบครบวงจร โดยมีเทคนิคเฉพาะในการเพาะลูกกุ้ง ซึ่งเดิมทีเป็นกุ้งกุลาดำ (Black Tiger) แต่ปัจจุบันได้ส่งเสริมกุ้งขาว (Vannamai) แทน เพราะเป็นที่นิยมของตลาดต่างประเทศ และลูกกุ้งจะขายต่อให้เกษตรกรอินเดียไปเลี้ยงต่อ จนเป็นกุ้งที่โตแล้ว เกษตรกรอินเดียจะขายให้พ่อค้าเพื่อส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ซี่งตลาดหลักได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และ ประเทศในยุโรป นอกจากนั้น ซีพี กำลังเพาะเลี้ยงปลาทับทิมเพื่อทำตลาดในอินเดีย โดยอยู่ในระหว่างการดำเนินการขอใบอนุญาตเพื่อการเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ อนึ่ง บ.ซีพี ยังมีกิจการในการผลิตอาหารกุ้งและปลาน้ำจืดชนิดอื่นอีกด้วย และยังสนใจทำธุรกิจห้องเย็นเพื่อเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ประมงของตนด้วย
ธัชไท ถมังรักษ์สัตว์
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน
11 ตุลาคม 2555