เรื่องของ “ไก่กับไข่”
ทุกคนคงเคยได้ยินคำถามว่า “ไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกัน” ซึ่งต่างคนก็ต่างมีทฤษฎีของตนว่าอะไรเกิดก่อนกัน แต่สำหรับบางคนคำถามนี้คงจะไม่ใช่คำถามที่สำคัญสักเท่าไหร่นักต่อเมื่อเราสามารถมีทั้งไก่และไข่บริโภคได้เมื่อยามที่ต้องการ และเมื่อพูดถึงธุรกิจเกี่ยวกับเนื้อไก่และไข่ คนไทยส่วนมากย่อมจะนึกถึงบริษัทเจริญโภคภัณฑ์หรือบริษัทซีพีกันใช่ไหมคะ และก็เป็นที่ทราบกันว่าบริษัทซีพีเป็นหนึ่งในบริษัทของไทยที่กล้าไปลงทุนในต่างประเทศและประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น จีน เมียนมาร์หรือบังกลาเทศ
ส่วนดินแดนมหาภารตะ บริษัทซีพีได้เริ่มเข้าไปก่อตั้งบริษัทในอินเดียแห่งแรกที่เมืองเจนไน เมื่อปี 2540 โดยเป็นโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำและฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ปีต่อมาถึงได้ขยายกิจการไปที่เมืองบังกาลอร์โดยเป็นธุรกิจเกี่ยวกับไก่ และได้เริ่มดำเนินกิจการในอินเดียภาคตะวันตกเมื่อปี 2550 ที่เมืองปูเน่ รัฐมหาราษฏระ โดยตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ โรงงานเพาะฟักลูกไก่ และการทำ contract farming เลี้ยงไก่เนื้อ แถบเมืองปูเน่ และเมืองนาสิก ซึ่งต่อมาได้ขยายกิจการไปที่รัฐปัญจาบและเมืองกัลกัตตา ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์บกอยู่ 5 แห่งในอินเดีย ได้แก่ เมืองบังกาลอร์ รัฐคานาราตะกา, เมืองไฮเดอร์ราบัด รัฐอานธรประเทศ,เมืองปูเน่ รัฐมหาราษฎระ, เมืองปัญจาบ รัฐอุตระประเทศ และ เมืองคัลคัตตา รัฐเบงกอลตะวันตก
ถึงแม้ว่าประชากรอินเดียกว่าครึ่งจะนิยมบริโภคอาหารมังสวิรัติแต่ชาวเมืองมุมไบเองโดยเฉลี่ยบริโภคเนื้อไก่ปีหนึ่งเกือบจะเท่าคนไทยเลยนะคะ เนื่องจากว่าเป็นเนื้อสัตว์ที่ใคร ๆ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด พุทธ คริสต์ มุสลิม หรือฮินดู ก็ทานได้ค่ะ ด้วยเหตุผลนี้บริษัทซีพีจึงได้เลือกไปตั้งโรงเพาะฟักไข่และฟาร์มไก่เนื้อใกล้ ๆ เมืองมุมไบ ซึ่งล่าสุดได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงเพาะฟักไข่ที่เขตสุปา เมืองอาห์เมดนาการ์ รัฐมหาราษฏระ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองมุมไบประมาณ 280 กม. ค่ะ
หลังการเยี่ยมชมโรงงานซึ่งคุณเทอดพงศ์ พานิชรักษาพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อินเดีย จำกัด ได้กรุณาเป็นไกด์กิตติมศักดิ์ให้ และได้กรุณาบรรยายเกี่ยวกับธุรกิจ “สัตว์บก” ของบริษัทฯ ให้ทราบโดยละเอียด ก็ได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นของธุรกิจเกี่ยวกับไก่ของบริษัทซีพีซึ่งเริ่มต้นจากการมีพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ไก่ที่ผลิตไข่ จากนั้นไข่จะถูกนำไปผ่านกระบวนการต่าง ๆ ในโรงเพาะฟักไข่เป็นเวลา 21 วันก่อนที่จะเกิดเป็นลูกเจี๊ยบ จากนั้นลูกเจี๊ยบก็จะถูกส่งไปยังเกษตรกรที่ทำ contract farming กับบริษัทฯ ซึ่งระหว่างนั้นบริษัทฯ ก็จะเป็นผู้จัดส่งอาหารไก่,ยา ,วัคซีน และจัดการให้มีสัตวแพทย์ช่วยดูแลไก่ รวมทั้งที่ปรึกษาที่ให้คำแนะนำในการเลี้ยงไก่แก่เกษตรกร จนกระทั่งเมื่อไก่โตเต็มที่ บริษัทฯจะเป็นผู้จับไก่ส่งขายตลาด พูดง่าย ๆ contract farming ก็เหมือนทำสัญญาค่าจ้างเลี้ยงน่ะค่ะ และระบบดังกล่าวก็ยังเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปในตัวด้วย เนื่องจากมีที่ปรึกษาช่วยให้คำแนะนำในการเลี้ยงไก่แก่เกษตรกรชาวอินเดียเพื่อให้เลี้ยงไก่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปัจจุบัน บริษัทมีแผนงานที่จะขยายกิจการในภาคตะวันตกของอินเดีย โดยได้ซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงงานอาหารสัตว์ ที่เมืองอาร์เมดนากา และโรงเพาะฟักไข่และฟาร์มไก่เนื้อแห่งใหม่ในเมืองนาสิก รัฐมหาราษฏระแล้ว และอาจจะขยับขยายไปตั้งฟาร์มแห่งใหม่ทางตอนใต้และทางตะวันตกของรัฐคุชราตก็เป็นได้ค่ะ ถึงแม้ว่ารัฐคุชราตจะมีอัตราการบริโภคไก่ต่ำกว่ารัฐมหาราษฏระแต่ก็ยังคงเป็นตลาดที่น่าสนใจซึ่งจะมีการขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตอย่างแน่นอน อีกทั้ง รัฐคุชราตยังเป็นรัฐเดียวในอินเดียที่ไม่มีปัญหาไฟดับหรือไฟขาดแคลน จึงยิ่งเป็นที่น่าสนใจสำหรับโรงเพาะฟักไข่ซึ่งต้องการไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากจะดูแลไก่เป็นอย่างดีแล้ว บริษัทซีพีก็ยังดูแลพนักงานเป็นอย่างดีด้วยนะคะ ขณะนี้ที่เมืองปูเน่และเมืองรอบ ๆ มีทั้งพนักงานชาวไทยและพนักงานชาวอินเดีย (คนไทย 14 คน และคนอินเดีย 194 คน) ซึ่งบริษัทฯ ได้สร้างหอพักสำหรับแรงงานชาวอินเดีย และมีแม่ครัวทำอาหารอินเดียให้ทานด้วยนะคะ ส่วนพนักงานชาวไทยเราก็ไม่น้อยหน้า เพราะว่าแต่ละคนล้วนมีฝีมือทำอาหารระดับพ่อครัวหัวป่าและยังสามารถหาพืชผักของไทยมาใช้ประกอบอาหารได้ง่ายดายจากแปลงผักสวนครัว home made ค่ะ
สุดท้ายนี้ อยากจะกระซิบทิ้งท้ายว่า ได้ยินข่าวแว่ว ๆ มาว่าไก่ย่างห้าดาวกำลังจะเดินทางมาสู่อินเดียแล้วค่ะ โดยน่าจะเข้ามาที่เมืองบังกาลอร์ก่อนเป็นที่แรก ก่อนที่จะ “บิน” มาถึงเมืองมุมไบและกรุงนิวเดลี ดังนั้น ณ ตอนนี้ ในฐานะของผู้บริโภคสัญชาติไทย “พลัดถิ่น” อยู่ที่อินเดียคนหนึ่งก็คงหวังเพียงแค่ให้มีข้าวเหนียว
ร้อน ๆ และน้ำจิ้มแจ่วบินคู่มากับไก่ย่างห้าดาวด้วยนะคะ
กนกภรณ์ คุณวัฒน์
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
*ตีพิมพ์ในคอลัมน์ "มองอินเดียใหม่" ตอนที่ 55 ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ